ประเทศไทยมีที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นที่มีสภาพอากาศแปรปรวน การบินเดินทางอาจพบกับพายุฝนที่เกิดจากเมฆคิวมูโลนิมบัส ซึ่งเป็นเมฆก่อตัวในทางตั้ง ฐานของเมฆอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 2,500-3,000 ฟุต แต่ยอดเมฆอาจอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 30,000 ฟุตขึ้นไป พายุฝนที่เกิดจากเมฆชนิดนี้จะมีฟ้าแลบและฟ้าร้องร่วมด้วยเสมอ เมฆฝนที่ประกอบจากเม็ดละอองไอน้ำเล็กๆ ซึ่งรวมตัวตกลงมาเป็นเม็ดฝน ถูกกระแสลมพัดเอาก้อนเมฆฝนเหล่านี้ลอยไปในอากาศ ขณะที่มวลของละอองไอน้ำถูกพัดให้ลอยไปเกิดการเสียดสีเข้ากับอากาศ ก่อให้เกิดประจุไฟฟ้าขึ้นในก้อนเมฆ และทวีปริมาณเพิ่มขึ้นจนก้อนเมฆก้อนหนึ่งมิอาจรับไว้ได้ เมื่อมีเมฆก้อนอื่นลอยมาใกล้และมีสื่อไฟฟ้า คือ ความชื้นของอากาศมีความเหมาะสม ประจุไฟฟ้าจากเมฆก้อนที่มีมากกว่าจะถ่ายเทไปยังก้อนเมฆที่มีน้อยกว่า ในขณะที่กลุ่มอนุภาคไฟฟ้าวิ่งผ่านไปในอากาศนั้น มันจะเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วเท่ากับความเร็วของแสง นั่นก็คือ 186,000 ไมล์ต่อวินาที ซึ่งเป็นความเร็วที่ทำให้เกิดการเสียดสีกับอากาศอย่างรวดเร็ว จนอากาศบริเวณนั้นลุกสว่างเป็นทาง ซึ่งเรียกว่า ฟ้าแลบ และในขณะเดียวกันกับที่กลุ่มอนุภาคไฟฟ้าแหวกผ่านไปในอากาศด้วยอัตราเร็วสูง มันจะผลักดันให้อากาศแยกออกจากกัน และเมื่อมันพ้นไปแล้ว อากาศก็กลับเข้ามาแทนที่อีกครั้ง
...
การเคลื่อนที่ของอากาศโดยฉับพลันทันที ทำให้เกิดเสียงดังที่เรียกกันว่าฟ้าร้อง และถ้ากลุ่มของอนุภาคไฟฟ้าวิ่งจากก้อนเมฆลงดินเมื่อมันผ่านอะไรเข้า สิ่งนั้นก็จะถูกทำลาย หรือก่อให้เกิดความเสียหาย เพราะกระแสไฟฟ้าแรงสูงนับหมื่นนับแสนโวลต์เมื่อผ่าลงมากระทบกับวัตถุ จะเกิดความร้อนมหาศาลอย่างฉับพลันทันที การเกิดฟ้าผ่านั้นส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับสิ่งของ หรือวัตถุที่เป็นสื่อไฟฟ้า และอยู่สูงขึ้นไปในท้องฟ้ามากกว่าในบริเวณข้างเคียงเสมอ เพราะกระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่านั้นต้องเดินทางลัดระหว่างก้อนเมฆกับพื้นดิน ถ้ามีสื่อล่อ หรือวัตถุอะไรก็ตามที่อยู่สูงจากพื้นดิน สายฟ้าก็จะผ่านมาทางสื่อนั้นเมื่อเกิดพายุฟ้าคะนอง
การปลดปล่อยพลังงานไฟฟ้าปริมาณมหาศาล พร้อมกับแสงจ้าตามด้วยเสียงกัมปนาทของฟ้าผ่า อาจมีความยาวได้ถึง 8 กิโลเมตร ทำให้อุณหภูมิอากาศสูงขึ้นถึง 27,200 เซลเซียส (50,000 ฟาเรนไฮต์) และมีความต่างศักย์ถึง 100,000,000 โวลต์ ฟ้าผ่าโดยทั่วไปเกิดขึ้นใช้เวลา 1/4 วินาที และประกอบไปด้วยการปล่อยไฟฟ้าจำนวน 3-4 สาย (stroke) แต่ละสายมีอายุประมาณไม่กี่ 1/1,000 วินาที การประมาณว่าเกิดฟ้าผ่าลงสู่โลกของเรา โดยเฉลี่ย 100 ครั้ง/วินาที ฟ้าผ่าไม่ได้เกิดขึ้นจากพายุฝนคะนองเสมอไป มันอาจเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ ไฟป่าที่มีความรุนแรง การระเบิดของระเบิดนิวเคลียร์บนพื้นดิน พายุหิมะ และในพายุขนาดใหญ่ เช่น ทอร์นาโด เฮอริเคน ไต้ฝุ่น หรือไซโคลน
บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งเป็นลักษณะที่ตั้งของประเทศไทย มีโอกาสที่จะเกิดพายุฝนฟ้าคะนองได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากมีสภาพอากาศในเขตร้อน จึงมีอากาศที่ร้อนอบอ้าว และเอื้อต่อการก่อตัวของพายุฝนฟ้าคะนองได้เสมอ เนื่องจากประเทศไทยมีสภาพอากาศแบบเขตร้อนชื้น มีทะเลขนาบทั้งสองด้าน ทั้งอันดามันและอ่าวไทย ประกอบกับการตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ลมมรสุมพัดผ่าน จึงมีอากาศร้อนอบอ้าวตลอดทั้งปี และเต็มไปด้วยความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งง่ายต่อการก่อตัวของพายุฝนฟ้าคะนองที่มักเกิดขึ้นในช่วงบ่ายและค่ำ ส่วนบริเวณขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ ที่อยู่ในละติจูดที่สูงขึ้นไป มักจะเกิดขึ้นในฤดูร้อนของเขตนั้นๆ ตามหลักภูมิศาสตร์ของประเทศไทย พายุฝนฟ้าคะนองสามารถก่อตัวได้เกือบตลอดเวลา และอาจเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ เนื่องจากมีภูมิอากาศในเขตร้อน (Tropic) นั่นเอง
...
อากาศยานเกือบทุกแบบมีการป้องกันฟ้าผ่าด้วยการติดตั้ง Static Discharger หรือเสาล่อฟ้า ที่ติดตั้งอยู่บนปีกของเครื่องบินนั้นมีความสำคัญอย่างมากสำหรับเครื่องบินพาณิชย์ ซึ่งมีพื้นผิวสัมผัสมาก เพราะในขณะที่เครื่องบินเคลื่อนที่ไปในอากาศ จะเกิดการเสียดสีระหว่างอากาศกับโมเลกุลของหยดน้ำ อนุภาคละอองน้ำแข็งซึ่งสัมผัสกับผิวนอกของลำตัวเครื่องบินอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการบินฝ่าเข้าไปในเมฆ หรือกลุ่มฝนเป็นเวลานานๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดไฟฟ้าสถิตขึ้น โดยเฉพาะบางครั้งที่เราจะสามารถสังเกตได้เวลาบินผ่านกลุ่มเมฆฝนแล้วเกิด Electrical Arcing บริเวณ Winshield คล้ายกับไฟแลบที่หน้ากระจก นั่นก็คือกลุ่มไฟฟ้าสถิตจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากการเสียดสีระหว่างเครื่องบินกับเมฆฝน ไฟฟ้าสถิตเหล่านี้ส่งผลรบกวนต่ออุปกรณ์การติดต่อสื่อสาร โดยเห็นได้อย่างชัดมากในตอนใช้วิทยุ VHF ในสภาพอากาศที่มีพายุฟ้าคะนอง และยิ่งเด่นชัดมากกับ HF ในบริเวณที่เป็นเหลี่ยมมุมมักจะกลายเป็นจุดรวมของ Electrical Arcing ซึ่งทำให้เกิดความร้อน และอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้หากเกิดขึ้นยังบริเวณปีก ในกรณีที่มีน้ำมันรั่ว หรือบริเวณ Spillage Valve อาจติดไฟได้อย่างทันที
...
เสา Static Discharger จึงถูกติดตั้งบริเวณปีก หรือแพนหางดิ่งและแพนหางระดับ เพื่อทำให้กระแสไฟฟ้าสถิต หรือฟ้าผ่า ไหลมารวมตรงจุดปลายของเสา ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความต้านทานทางไฟฟ้าต่ำ และปลดปล่อยกระแสไฟฟ้า Discharge ออกไปจากปลายเสา อุปกรณ์ Static discharger ใช้ป้องกันฟ้าผ่าเครื่องบิน ซึ่งมีผลกระทบไปถึงระบบวิทยุสื่อสาร หรือระบบ Radio interference การใช้เสาเพื่อคายประจุไฟฟ้าสถิต หรือกระแสไฟฟ้าที่เกิดจากฟ้าผ่า เมื่ออากาศยานบินไปในอากาศนั้น จะมีการเสียดสีกับวัตถุต่างๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศ ไม่ว่าจะเป็น เมฆ หยาดน้ำฟ้า ฝุ่นละอองต่างๆ ก็จะมีการถ่ายเทประจุเกิดขึ้น หรือบินเข้าไปในบริเวณที่เกิดพายุฟ้าคะนอง และเกิดสายฟ้าผ่ามาที่เครื่องบิน
...
ขั้นตอนของการบินในสภาวะปกติ นักบินจะใช้เรดาร์ตรวจสภาพอากาศที่ติดตั้งบนเครื่องบิน (Weather radar) เพื่อตรวจดูกลุ่มเมฆฝนฟ้าคะนอง แล้วทำการบินอ้อมหลบกลุ่มพายุให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ส่วนพายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดจากเมฆคิวมูโลนิมบัส ซึ่งเป็นเมฆก่อตัวในทางตั้ง ฐานของเมฆอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 2,500-3,000 ฟุต แต่ยอดเมฆอาจอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 30,000 ฟุตขึ้นไป พายุฟ้าคะนองขนาดใหญ่บางครั้งมีความกว้างนับ 100 กิโลเมตร ซึ่งยากต่อการบินหลบหลีก ประการสำคัญ พายุฝนที่เกิดจากเมฆชนิดนี้จะมีฟ้าแลบและฟ้าร้อง รวมถึงฟ้าผ่าร่วมด้วยเสมอ
วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2506 เครื่องบิน Boeing 707 ของสายการบิน แพนแอม ถูกฟ้าผ่าแล้วกระแสไฟฟ้าได้เหนี่ยวนำให้เกิดประกายไฟในถังน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้เกิดการระเบิดและเครื่องบินตกหลังจากนั้น หลังจากเหตุการณ์นั้น สมาพันธ์การบินนานานชาติ FAA (Federal Aviation Administration) ได้ออกข้อกำหนดให้ผู้ผลิตเครื่องบินต้องทำการปรับปรุงระบบป้องกันฟ้าผ่า หรือติดตั้งอุปกรณ์ที่สามารถกระจายประจุไฟฟ้าให้แผ่ออกไปให้ทั่วผิวเครื่องบิน ในบริเวณที่ล่อแหลมต่อการถูกฟ้าผ่า เช่น หัวเครื่องบิน (Nose Radome) และปีก เป็นต้น เพื่อให้กระแสไฟฟ้าลงพื้น หรือกระจายออกไปในอากาศ อุปกรณ์ดังกล่าว ได้แก่ Electro-static discharge และ Diverter Strip อีกทั้งต้องติดตั้งอุปกรณ์เพื่อป้องกันการรบกวนระบบ Electronics ต่างๆ ในเครื่องบิน รวมทั้งยังกำหนดให้ถังน้ำมันต้องมีความหนาอย่างเพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทผู้สร้างเครื่องบินต้องทำการทดสอบการกระจายประจุไฟฟ้าของเครื่องบินขณะที่ถูกฟ้าผ่า ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า เครื่องบินในปัจจุบันมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการถูกฟ้าผ่าได้น้อยมาก
วันอังคารที่ 1 มกราคม 2013 เครื่องบินโดยสาร Airbus A320-200 สายการบิน Low Cost ในเครือ JAL Japan Airlines ถูกฟ้าผ่าเหนือจังหวัดฟูกุโอกะ แต่เคราะห์ดีที่ลูกเรือและผู้โดยสารทั้งหมดปลอดภัย เที่ยวบิน 127 ของสายการบิน Jetstar ลำนี้ บินขึ้นจากท่าอากาศยานนาริตะในกรุงโตเกียว โดยมีสถานีปลายทางที่เมืองฟูกุโอกะ หลังจากที่นักบินทำการลดระดับเพื่อร่อนลงจอด ตัวเครื่องถูกฟ้าผ่าอย่างรุนแรง แต่นักบินสามารถนำเครื่องร่อนลงยังสนามบินของเมืองฟูกุโอกะได้อย่างปลอดภัย โดยผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดรวม 181 คนไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2003 เครื่องบินโดยสาร Boeing 737 เที่ยวบินที่ 8520 ของสายการบินแอร์เรส (Aires airline) ประสบอุบัติเหตุระหว่างบินฝ่าพายุฝน โดยมีรายงานว่าถูกฟ้าผ่าอย่างแรง ขณะที่นักบินกำลังนำเครื่องบินลดระดับเพื่อร่อนลงจอด และเครื่องบินพุ่งเลยรันเวย์บนเกาะซาน อันเดรย์ ของโคลอมเบีย เมื่อวันจันทร์ ทำให้ส่วนท้องของเครื่องบินกระแทกพื้น ตัวเครื่องบินแตกออก และชิ้นส่วนล้อกับเครื่องยนต์อย่างน้อยหนึ่งเครื่องหลุดออก เครื่อง Boeing 737 อยู่ในสภาพที่พังยับเยิน โดยจอดอยู่ที่ปลายสุดของรันเวย์ช่องหนึ่ง เครื่องบินมีผู้โดยสารและลูกเรือรวม 131 คน มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บสาหัส 5 คน
วันที่ 5 ธันวาคม 2012 สายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline) เครื่องบิน Airbus A319-100 ของสายการบิน Easyjet หมายเลขเครื่องจดทะเบียน G-EZFB เที่ยวบินที่ U2-6168 ออกเดินทางจากสนามบินนานาชาติชิโพล กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Schiphole International Airport, Amsterdam, Netherlands) ไปยังสนามบินเมืองบริสตอล สหราชอาณาจักร (Bristol Airport England) ประสบเหตุฟ้าผ่า เมื่อทะยานขึ้นจากสนามบินชิโพลได้ประมาณ 2 นาที ขณะที่เครื่องบินกำลังไต่ระดับความสูง ได้เกิดฟ้าผ่าลงมาบริเวณปีกทางด้านขวา แต่ไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อการบิน นักบินจึงได้ทำการบินต่อไปยังสนามบินเมืองบริสตอล และได้ร่อนลงจอดอย่างปลอดภัยในอีก 50 นาที หลังจากที่ประสบเหตุการณ์ฟ้าผ่า เครื่องบินลำดังกล่าวได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดจากวิศวกรและช่างของสายการบิน ก่อนที่จะกลับเข้าให้บริการในอีก 37 ชั่วโมงหลังจากการตรวจเช็ก
วันที่ 8 พ.ค. 2011 เครื่องบินโดยสาร Airbus A320 ของสายการบิน Philippine Airlines ถูกฟ้าผ่า ท่ามกลางพายุฝนฟ้าคะนอง ขณะจอดอยู่ที่สนามบินกรุงมะนิลา ทำให้คนงานทำความสะอาดเครื่องบิน คนดูแลสัมภาระ และ รปภ. รวม 9 คน ซึ่งเข้าไปหลบพายุอยู่ใต้เครื่องบิน ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ส่วนผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดบนเครื่องบิน ซึ่งเตรียมเดินทางมากรุงเทพฯ ปลอดภัย แต่ได้มีการเปลี่ยนเครื่องบินลำใหม่เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง.