การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย จากรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า” ในระดับโลกนั้น จำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ

รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการผลิตมาแล้วหลายสิบปี แต่เหตุที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญในขณะนี้นั่นเป็นเพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันแพงเกินเหตุมาก ผสมกับกระแสรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้หลายฝ่าย หันมาใส่ใจการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

กระแสนิยมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของการใส่ใจ และรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย นั่นจึงเป็นที่มาของการส่งเสริมเพื่อการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ จากรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน หรือเรียกว่า รถยนต์สันดาป ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV และสู่รถยนต์ผสมผสานเชื้อเพลิง คือรถยนต์ไฮบริด หรือรถ HEV

สำหรับการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยเป็นผู้ประกอบการดั้งเดิม ที่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนสายการผลิต เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าแต่อย่างใด

ขณะที่ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็จะดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนฯจากประเทศนั้นๆมาด้วย เรียกได้ว่าเข้ามาลงทุนแบบเบ็ดเสร็จ ไม่พึ่งชิ้นส่วนในไทย

อย่างไรก็ตามการ เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์จากรถยนต์สันดาป สู่รถยนต์ไฟฟ้านั้น เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญมาก และพร้อมจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างจริงจัง จึงได้มีนโยบายส่งเสริมการลงทุน ใช้มาตรการภาษี จูงใจ ดึงค่ายรถยนต์ ให้มาใช้ไทย เป็นฐานการผลิต เพื่อส่งออกไปทั่วโลก

...

โดยมาตรการภาษี ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ประชุมครั้งแรกไปแล้ว และมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีและส่งเสริมการใช้รถยนต์อีวีไปแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลัง ต้องนำเสนอ ครม. เพื่ออนุมัติตามขั้นตอนต่อไป

ส่วนการปรับลดภาษีสรรพสามิต โดยรถยนต์ Hybrid (HEV) และ Mild Hybrid (MHEV) ซึ่งจะเป็นรถยนต์นั่ง ไม่เกิน 10 คน แบบ HEV และ MHEV ซึ่งผลิตในประเทศ โดยรถยนต์ HEV กำหนดภาษีสรรพสามิตในอัตราคงที่ ตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีใหม่ เป็นเวลา 7 ปี (2569-2575) ตามอัตราภาษีและเงื่อนไขการลงทุน ดังนี้ ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สูงสุดไม่เกิน 120 g/km, การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต 6%

 การปล่อย CO2 ตั้งแต่ 101-120 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต 9%, ต้องมีการลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยผู้ผลิตรถยนต์ และบริษัทในเครือไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567- 2570, ต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และใช้ชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆตั้งแต่ปี 2571

สำหรับ MHEV ซึ่งเป็นรถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าในการขับเคลื่อนต่ำกว่า 60 โวลต์ และอาศัยเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน ซึ่งได้กำหนดภาษีสรรพสามิตในอัตราคงที่ และเงื่อนไขการลงทุน ดังนี้ ปล่อย CO2 สูงสุดไม่เกิน 120 g/km, การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต 10%, การปล่อย CO2 ตั้งแต่ 101-120 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต 12%

รวมถึงต้องลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทในเครือ ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567-2569 และไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567-2571, ใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ Traction Motor หรือชิ้นส่วนที่มีลักษณะการทำงานเพื่อเสริมแรงขับเคลื่อน ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป และติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ อย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ เช่นเดียวกับเงื่อนไขของ HEV

สำหรับการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้รายงานว่าในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ของปีนี้ ได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการผลิตรถยนต์ BEV แบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมเงินลงทุนกว่า 81,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าจะมีการย้ายฐานมาลงทุนเพิ่มขึ้น

ส่วนมาตรการ EV3 และ EV3.5 โดยกรมสรรพสามิต มีผู้เข้าร่วมมาตรการ 26 บริษัท รวมกันกว่า 133,000 คัน ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV มีจำนวน 59,746 คัน เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จดทะเบียน 21,657 คัน เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน.

ดวงพร อุดมทิพย์

คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม