นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) เปิดเผยผลสำรวจคุณภาพรถยนต์ล่าสุดในประเทศไทย โดยสำรวจผู้ซื้อรถยนต์จำนวน 3,390 คน ซึ่งผลการศึกษามีความสำคัญในการสะท้อนถึงปัญหาหลักที่ผู้ขับขี่พบเจอในช่วง 1 ถึง 6 เดือนแรกหลังจากการซื้อรถยนต์ใหม่ โดยคุณภาพของรถยนต์ใหม่ถูกวัดจากจำนวนปัญหาที่พบต่อรถยนต์ 100 คัน หรือ PP100 โดยคะแนน PP100 ยิ่งต่ำยิ่งแสดงถึงคุณภาพที่สูงของรถยนต์
จากผลการสำรวจพบว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายในการยกระดับคุณภาพรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles: BEV) ที่มีความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ (อายุต่ำกว่า 40 ปี) ซึ่งมีสัดส่วนถึง 66% และมีรายได้สูงถึง 95,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปกว่า 41%
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า 81% ของผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า เคยใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมาก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ประสบปัญหาด้านคุณภาพเฉลี่ย 174 ปัญหาต่อรถ 100 คัน ในขณะที่รถยนต์ทั่วไปพบปัญหาน้อยกว่าที่ 161 ปัญหาต่อรถ 100 คัน สะท้อน 1.ประสบการณ์ในการขับขี่ อย่างปัญหาของระบบกันสะเทือนที่ส่งผลต่อความสะดวกสบายในการขับขี่และการควบคุมรถยนต์ ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าประสบปัญหาดังกล่าวถึง 22.3 PP100 ขณะที่รถยนต์ทั่วไปพบปัญหานี้ที่ 12.6 PP100
2.ระบบปรับอากาศ (HVAC) การทำงานของระบบปรับอากาศในรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่เป็นที่น่าพอใจ เช่น เย็นช้ากว่าที่คาดหวัง โดยมีปัญหาที่ 17.7 PP100 ขณะที่รถยนต์ทั่วไปพบเพียง 10.0 PP100 และ 3.มอเตอร์/การชาร์จไฟ/ ระบบเกียร์ ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งมีการพบปัญหามากกว่าในรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีคะแนน 12.0 PP100 เทียบกับรถยนต์ทั่วไปที่ 7.8 PP100
...
อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญในรถยนต์ไฟฟ้าคือ ความเร็วในการชาร์จไฟ ซึ่งผู้บริโภคกว่า 56% ต้องรอชาร์จแบตเตอรี่นานกว่า 8 ชั่วโมง ขณะที่ระยะทางในการขับขี่เฉลี่ยต่อการชาร์จหนึ่งครั้งอยู่ที่ 412 กิโลเมตร ซึ่งยังไม่ตรงตามความคาดหวังของผู้ใช้หลายราย
ขณะที่เทคโนโลยีที่ทันสมัยในรถยนต์ไฟฟ้า กลับกลายเป็นสาเหตุของความไม่พึงพอใจสำหรับผู้ขับขี่หลายราย โดยเฉพาะ ระบบนำทางที่ไม่แม่นยำ แอปพลิเคชันเชื่อมต่อมือถือที่ใช้งานยาก และระบบชาร์จไฟไร้สายที่ไม่เสถียร ซึ่งทำให้ประสบการณ์การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าไม่เป็นไปตามที่ผู้บริโภคคาดหวัง
ด้านมณีณัฐฐา จิระเสวีจินดา ผู้อำนวยการอาวุโส ข้อมูลเชิงลึกด้านผู้บริโภคและการตลาด นีลเส็นไอคิว ประเทศไทย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การเพิ่มฟีเจอร์หรือเทคโนโลยีใหม่อาจน่าสนใจ แต่หากผู้ใช้ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาจส่งผลกระทบต่อประสบการณ์การขับขี่ได้ แม้แต่การออกแบบฟังก์ชันเล็กๆ เช่น มือจับประตูที่แตกต่างจากรถทั่วไป ก็สามารถเพิ่มความซับซ้อนได้ ดังนั้น ผู้ผลิตควรคำนึงถึงการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีจากมุมมองการใช้งานของผู้ขับขี่เป็นหลัก การสำรวจในครั้งนี้จึงย้ำเตือนถึงความสำคัญในการปรับปรุงเทคโนโลยีและการออกแบบรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม