ช่วงนี้ถือเป็นยามยากของค่ายรถญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งโรงประกอบรถยนต์ในบ้านเรา และผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับบรรดาโรงประกอบรถยนต์เหล่านี้

เพราะนอกจากเจอพิษเศรษฐกิจที่ถดถอย ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูง ซึ่งทำให้กำลังซื้อหดแฟบ และสถาบันการเงินก็ไม่ค่อยจะยอมปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ส่งผลให้ตลาดรถในประเทศแทบสลบเหมือด

ขณะเดียวกันยังเจอแรงกระแทกซ้ำจากการที่รัฐบาลที่ผ่านมาได้ออกมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ทั้ง “ลดแลกแจกแถม

โดยเฉพาะการให้ส่วนลดถึง 150,000 บาท สำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (ต่อมาลดเหลือ 100,000 บาท) แลกกับการที่ค่ายรถซึ่งขายรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องประกอบในประเทศไทยเพื่อเป็นการชดเชย

ทำให้กองทัพรถยนต์ไฟฟ้าไหลทะลักเข้ามายังประเทศไทย โดยเฉพาะการหลั่งไหลของรถยนต์ไฟฟ้าสารพัดยี่ห้อจากประเทศจีน ซึ่งได้แต้มต่อถึง 2 ด้าน

นั่นคือ 1.ได้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีไทย–จีน (FTA) ที่ภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเหลือ 0% และ 2.จากมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง “อีวี 3.0” และ “อีวี 3.5” ซึ่งได้ส่วนลดนับแสนบาท

ราคารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนจึงถูกลงอย่างมาก ช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคที่กำลังลังเลว่าจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าดีไหม ก็ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

จึงอย่าแปลกใจที่ช่วง 2 ปีนี้จะเห็นยอดขายยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งนำเข้าจากประเทศจีนไหลทะลักพรวดๆ จนสร้างกระแสฟีเวอร์

แน่นอนว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากประเทศจีนซึ่งเพิ่มขึ้นนั้น ไม่ใช่ตัวเลขที่อยู่ดีๆก็ส้มหล่นลงมาเฉยๆ แต่นั่นหมายความว่าทุกๆการขายรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากประเทศจีน ย่อมทำให้ยอดขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งประกอบในประเทศต้องหดหายลง

...

แต่ดูเหมือนทั้งรัฐบาลและเหล่าเทคโนแครตที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้จะทำตัวบ่ฮู้บ่หัน ยังคงเพลิดเพลินเจริญใจกับตัวเลขยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่พุ่งลิ่วๆ และยาหอมจากบรรดาค่ายรถจีนว่าจะเข้ามาลงทุนบะละฮึ่ม

เมื่อเห็นอนาคตการทำตลาดในประเทศไทยไม่โสภาสถาพรเหมือนอย่างที่ควรจะเป็น และกระแสรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต่อมาเปลี่ยนมาเรียกว่า “รถยนต์พลังงานใหม่” (NEV) ในบ้านเรานั้น ทำท่าจะแรงขึ้นเรื่อยๆ

ส่งผลให้ค่ายรถญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในบ้านเราต้องมีการทบทวนและปรับแผนกันใหม่ เพราะไม่ใช่กระสอบทรายเคลื่อนที่ ที่จะปล่อยให้โดนทุบจนกระเป๋าฉีกไปเรื่อยๆจึงอย่าแปลกใจที่ในช่วง 2–3 สัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีข่าวค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นต้องประกาศปิดโรงประกอบรถยนต์ในไทย หันมาเน้นการทำตลาดรถนำเข้าแทน นั่นคือ ค่ายซูบารุและค่ายซูซูกิ

ขณะที่ค่ายรถญี่ปุ่นที่เหลืออยู่ก็ต้องปรับกระบวนท่าครั้งใหญ่เพื่อความอยู่รอด

โดยหลายค่ายรถยนต์ยังคงสามารถรักษาโรงประกอบรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนไว้ได้ เพราะมีตลาดส่งออกมาช่วยหล่อเลี้ยง

เชื่อเถิดว่าจนป่านนี้ทั้งรัฐบาลที่แล้วและเหล่าเทคโนแครตก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองได้ทำอะไรลงไป!!!

อัลคาโปน
motorwars@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “มอเตอร์วอร์ส” เพิ่มเติม