สรุปจบทีเดียว "ประกันรถยนต์ไฟฟ้า" ฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้วันที่ 1 มิ.ย. 67 มีอะไรใหม่บ้าง ความคุ้มครองแบตเตอรี่ 100% ยังอยู่เหมือนเดิมหรือไม่

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. มีคำสั่งให้บริษัทประกันวินาศภัยเริ่มใช้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน คปภ. กำหนด เต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 67 เป็นต้นไป "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ขอสรุปข้อมูลม้วนเดียวจบให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายๆ  ดังนี้ 

ประกันรถไฟฟ้าฉบับใหม่คุ้มครองอะไรบ้าง

- คุ้มครองทุกภัยเหมือนรถทั่วไป แต่ไม่คุ้มครองความเสียหายจากปัจจัยภายนอก (Cyber Breach) ที่มีผลต่อระบบปฏิบัติการที่ใช้ควบคุมการทำงานของรถยนต์ (Software)

- ไม่คุ้มครองความเสียหายจากเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลที่ไม่ได้มาจากผู้ผลิตรถ แต่สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้

- กำหนดค่าเสื่อมแบตเตอรี่ลดลงปีละ 10% แต่หากเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ขอเพิ่มความคุ้มครองได้ (ต่ำสุด 50% กรณีแบตเตอรี่อายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป)

...

- บังคับให้ระบุชื่อผู้ขับขี่สูงสุดได้ถึง 5 คน หากเกิดอุบัติเหตุแล้วชื่อผู้ขับขี่ไม่ตรงกับชื่อในกรมธรรม์ จะต้องเสียค่าเสียหายส่วนแรก หรือ ค่า Excess สูงสุดไม่เกิน 6,000 บาท

- การเพิ่มหรือลดค่าเบี้ยประกันนั้น บริษัทประกันจะใช้ประวัติผู้ขับขี่ที่แย่ที่สุดเป็นตัวคำนวณเฉลี่ยอยู่ที่ 20-50%

ประกันรถไฟฟ้าราคาเริ่มต้นเท่าไร

สำหรับประกันรถยนต์ไฟฟ้าจะเริ่มต้นตั้งแต่ 28,000 บาทขึ้นไป โดยราคาดังกล่าวจะสูงกว่าประกันภัยรถชั้น 1 เฉลี่ยอยู่ที่ 10-20% ซึ่งขึ้นอยู่กับความคุ้มครอง และบริษัทประกันภัยที่เลือก แนะนำให้อ่านความคุ้มครองให้ดีก่อนตัดสนใจซื้อประกัน

ประกันภัย EV ฉบับใหม่ดีต่อผู้ใช้และบริษัทประกันภัย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่ จะช่วยเพิ่มความชัดเจนให้การทำประกันมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการคิดเบี้ยประกัน และขอบเขตความคุ้มครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคุ้มครองแบตเตอรี่ อันเป็นชิ้นส่วนหลักที่มีราคาสูงถึง 70-80% ของมูลค่ารถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าและลดข้อพิพาทลงได้

ขณะเดียวกัน เนื่องจากปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเติบโตและยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ค่าซ่อมและค่าอะไหล่ทดแทนเมื่อเกิดความเสียหายต่อตัวรถยังสูงกว่ารถยนต์ทั่วไปโดยเฉลี่ย 20-30% ดังนั้น แม้แนวโน้มราคาเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2567 คงทยอยปรับตัวลดลงได้ แต่อาจยังสูงกว่าเบี้ยประกันรถยนต์ทั่วไปในช่วงราคาเดียวกัน

นอกจากนี้ ฐานข้อมูลสถิติการรับประกันภัยรถที่พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมผู้ขับขี่ต่อความเสี่ยงในการรับประกันภัยรถอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น หากสามารถสร้างระบบฐานข้อมูลกลางที่เก็บประวัติการขับขี่ของบุคคลได้ จะช่วยให้การกำหนดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้ามีสถิติที่ใช้อ้างอิงได้ดีขึ้น และส่งผลให้โครงสร้างราคาเบี้ยประกันมีความเหมาะสมมากขึ้น โดยไม่เป็นภาระต่อผู้ขับขี่ที่มีประวัติดีในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการจัดทำฐานข้อมูลกลางที่เก็บประวัติการขับขี่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งยังต้องรอการผลักดันเชิงระบบในลักษณะเดียวกับการจัดทำเครดิตบูโรที่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินรายหลักที่เป็นสมาชิกทั้งระบบ ดังนั้น ในช่วงแรกจึงอาจจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างบริษัทประกันด้วยกัน ให้ตระหนักถึงความเสี่ยงจากพฤติกรรมผู้ขับขี่ และไม่สนับสนุนการแข่งขันหรือการเปลี่ยนบริษัทประกันเพื่อหลบเลี่ยงเบี้ยส่วนเพิ่มจากประวัติการเคลมประกัน

เรียบเรียงข้อมูล : กมลทิพย์ หิรัญประเสริฐสุข kamonthip.h@thairathonline.co.th