สงครามตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา นับวันจะเพิ่มความมันหยดติ๋ง เพราะทุกค่ายรถที่มีรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ในมือต่างถือคติ “ประดาบก็เลือดเดือด”

หลายค่ายรถยนต์หันมาทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอย่างคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะค่ายรถจีนที่แห่กันมาทำตลาดรถยนต์ในไทยด้วยท่วงทำนองที่ฮึกเหิม เพราะได้ประโยชน์ 3 เด้งทั้งจากอานิสงส์จากเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-จีน มาตรการการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลไทย และแรงสนับสนุนของรัฐบาลจีนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

โดยปีที่ผ่านมา BYD ถือเป็นแบรนด์เจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

ทั้งนี้ จากการที่หลายค่ายรถจีนประสบความสำเร็จในการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ได้ทำให้ค่ายรถจีนรายอื่นๆ เริ่มโฟกัสตลาดรถเมืองไทยมากขึ้น อย่างปีนี้จะมีค่ายรถจีนเข้ามาตลาดอีกอย่างน้อย 5 แบรนด์ คือ XPENG, ZEEKR, HONGQI, OMODA และ JAECOO

ขณะที่ค่ายรถสัญชาติอื่นก็เพิ่มความสนใจในการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเช่นกัน เช่นค่ายฮุนได และค่ายเกียจากเกาหลีใต้

ด้านค่ายรถญี่ปุ่นมีการนำเสนอยนตรกรรมอีวีเช่นกัน อย่างเช่น อีซูซุมอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ได้แถลงจะผลิตรถปิกอัพไฟฟ้าเพื่อส่งออกในประเทศไทย โดยจะเริ่มส่งออกไปยังประเทศในโซนยุโรปในปี 2568 และจะทยอยเปิดตัวในประเทศอื่นๆ ตามกฎระเบียบและความคืบหน้าด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนของแต่ละประเทศ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าในประเทศไทยรถยนต์ไฟฟ้าประเภทใช้แบตเตอรี่ได้เติบโตมากช่วงสองปีที่ผ่านมา

โดยปี 2565 รถยนต์นั่งไม่เกินเจ็ดคนจดทะเบียน 9,583 คัน เติบโตร้อยละ 393.5 จากปี 2564 ที่จดทะเบียน 1,942 คัน เพราะปี 2565 เป็นปีแรกที่มีการให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์นั่งไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ที่มีราคาไม่เกินสองล้านบาทเป็นเงิน 150,000 บาทและลดภาษีสรรพสามิตลงจากร้อยละแปดเป็นร้อยละสอง ราคารถยนต์ไฟฟ้าจึงลดราคาลงต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท พอๆกับราคารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ประกอบกับราคาน้ำมันสูงขึ้น รถยนต์ไฟฟ้าจึงขายได้รวมหนึ่งหมื่นคัน และยิ่งเติบโตมากขึ้นในปี 2566

จากการมีรถยนต์ไฟฟ้าระดับขายดีติดอันดับต้นๆ ของโลกเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ในราคาที่คนไทยจับต้องได้ รวมทั้งมีรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกกว่ารถยนต์สันดาปภายในมาขายด้วย จึงมีรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนถึง 75,690 คัน เติบโตร้อยละ 689.84 ทำให้ประเทศไทยมีรถยนต์นั่งไฟฟ้าเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ถึง 88,870 คัน น่าจะสูงสุดในอาเซียน

แล้วยังมีจักรยานยนต์ไฟฟ้า 38,211 คัน รถโดยสารไฟฟ้า 2,419 คัน รถบรรทุกไฟฟ้า 303 คัน แสดงถึงการตื่นตัวของคนไทยทุกคนทั้งภาครัฐบาลและประชาชนร่วมมือกันลดโลกร้อนเพื่อบรรลุผลคาร์บอนเป็นกลางให้ได้ในประเทศไทย

ในปี 2567 ได้ประมาณการตัวเลขจดทะเบียนของรถยนต์นั่งไฟฟ้าที่ 100,000 คัน เติบโตประมาณร้อยละ 30 โดยมีปัจจัยจาก 1.) รถยนต์นั่งไฟฟ้าที่จะเริ่มผลิตในประเทศไทยแล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อรถยนต์นั่งไฟฟ้ายังได้เงินอุดหนุน 150,000 บาท และลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละแปดเป็นร้อยละสอง ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังขายได้ในราคาพอๆ กับปีที่แล้ว ส่วนจำนวนขายจะมากกว่าปีที่แล้วหรือไม่ อยู่ที่ความพร้อมที่สามารถผลิตได้ตั้งแต่ต้นปีหรือไม่ 2.) คาดว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกจากต่างประเทศ หรือผลิตในประเทศมาขาย และ 3.) ราคาน้ำมันยังมีราคาสูง

โดย 2 เดือนแรก ของปีนี้มีรถยนต์นั่งไฟฟ้าจดทะเบียน 16,843 คัน เติบโตร้อยละ 102.17 เพราะเดือนมกราคมมีตัวเลขจดทะเบียนถึง 13,314 คันจากมาตรการเงินอุดหนุน 150,000 บาท ในโครงการอีวี 3.0 ต้องซื้อภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และจดทะเบียนเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคม 2567 อย่างไรก็ตามจากตัวเลขจดทะเบียนเดือนกุมภาพันธ์ และการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 นี้ ซึ่งมีทั้งรุ่นใหม่และราคาที่เข้าถึงได้ รวมทั้งสถาบันการเงินมีพร้อมในงานจะช่วยกระตุ้นให้รถยนต์ไฟฟ้ามีตัวเลขจดทะเบียนถึงเป้าหมายได้

โดยครึ่งปีหลังจะมีเม็ดเงินจากการใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาลตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และ 2568 เข้ามาเสริมเพิ่มจากการใช้จ่ายและการลงทุนของเอกชน รวมทั้งการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีถึงกว่า 32 ล้านคน

นอกจากรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศยังได้รับเงินอุดหนุนจากการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตามโครงการอีวี 3.0 แล้ว ยังมีโครงการอีวี 3.5 ที่ให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาเกิน 2 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 7 ล้านบาทโดยขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50kWh ขึ้นไปได้เงินอุดหนุน 100,000 บาท และลดภาษีสรรพสามิตลงเหลือร้อยละ 2 ซึ่งทำให้ลดราคาขายได้มาก คนที่นิยมรถยนต์ไฟฟ้าที่มีขนาดแบตเตอรี่ใหญ่ขึ้น วิ่งได้ไกลขึ้นจากการชาร์จครั้งเดียวและมีเทคโนโลยีมากขึ้น จึงมีโอกาสซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในราคาถูกลงมาก

“จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาเพิ่มยอดขายให้กับรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้และปีต่อไป”