ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ต่อปียังคงเพิ่มขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม 2566 รถยนต์ไฟฟ้า BEV ในประเทศไทย มียอดจดทะเบียนจำนวน 76,366 คัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 9,678 คัน ขณะที่ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า BEV รวมทุกประเภท ตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม 2566 มีการจดทะเบียนใหม่ทั้งสิ้น 100,219 คัน เติบโตมากถึง 380% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 20,816 คัน ความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การรู้วิธีใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงเป็นเรื่องสำคัญในแง่ของอายุการใช้งาน ประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และโดยรวมแล้วทำให้รถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ของคุณใช้งานได้อย่างคุ้มค่าและมีความปลอดภัย

...

ระยะทางที่เคลมไม่ตรงกับการใช้งานจริง
ส่วนใหญ่ ถ้าเคลมมา 400 กิโลเมตร ต่อหน่วย WLTP (Worldwide Harmonised Light Vehicle Test Procedure) ซึ่งเป็นมาตรฐานการวัดระยะทางที่ใช้งานอยู่ในทวีปยุโรป พอมาวิ่งใช้งานจริงก็ได้แค่ 320 กิโลเมตร พอไฟจะหมดแล้วอยู่ห่างจากสถานีชาร์จก็ชักจะเริ่มมีเสียวกันแล้วเพราะระดับไฟในแบตฯ ลงเร็วกว่าที่คิด ยิ่งรีบ ขับเร็ว ก็จะยิ่งกินไฟหนักเข้าไปอีก เอาเป็นว่าเคลมมาเท่าไรก็ขับได้ต่ำกว่าที่เคลม 80-100 กิโลเมตร เผื่อเอาไว้กันเหนียวไม่ไปไฟหมดกลางทางต้องพึ่งพายานแม่กันวุ่นวาย

ความเร็ว
การเดินทางด้วยความเร็วตามกฎหมาย พูดง่ายๆ ก็คือขับไปเรื่อยๆ ตามความเร็วที่กฎหมายจราจรกำหนดหรือระบุให้ใช้ในเขตนั้น จะช่วยทำให้รถใช้พลังงานน้อยกว่าการขับด้วยความเร็วสูง เนื่องจากแรงต้านอากาศขณะความเร็วต่ำนั้นไม่มาก ไม่ทำให้รถกินกระแสไฟมากเกินไป ขับใช้งานได้ไกลขึ้น การใช้โหมด 'Eco' ยังช่วยให้รถเร่งความเร็วได้อย่างนุ่มนวลค่อยเป็นค่อยไป ค่อนข้างเป็นการใช้งานที่ขัดแย้งกับกำลังของมอเตอร์ที่ให้มา รถยนต์ไฟฟ้าที่ทำ อัตราเร่ง 0-100 ต่ำกว่า 5-7 วินาที จะรับประทานไฟอย่างกับแบตรั่วเมื่อขับเร็ว  

การใช้เบรก
หลีกเลี่ยงการเบรกอย่างรุนแรง การเบรกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เพียงแต่จะช่วยยืดอายุการใช้งานระบบเบรกเท่านั้น แต่ยังช่วยประหยัดพลังงานอีกด้วย รถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า ใช้วิธีเบรกแบบที่สองที่เรียกว่า "การเบรกแบบรีเจนเนอเรทีฟ" หรือ regenerative braking ระบบจะแปลงพลังงานจลน์ที่เกิดจากการเบรกให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าและป้อนกลับเข้าไปในแบตเตอรี่ เพื่อเพิ่มประจุไฟฟ้าขณะขับใช้งาน ได้มาไม่มาก แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ชาร์จอะไรขณะใช้เบรก ระบบเบรกสะสมพลังงาน เรียกคืนพลังงานไฟฟ้าได้ไม่มากเท่ากับพลังงานที่อาจสูญเสียไปจากการขับเร็ว

...

ควบคุมการทำงานของระบบปรับอากาศ
ลดการใช้ระบบต่างๆ ที่กินกระแสไฟ แต่ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน ต้องใช้งานเครื่องปรับอากาศเพื่อทำให้ห้องโดยสารเย็นสบาย อุปกรณ์ในเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อน หากเป็นไปได้ก็ใช้งานแบบให้กินกระแสไฟน้อยลง การปรับตั้งอุณหภูมิภายในห้องโดยสารที่เหมาะสมประมาณ 25-2 องศาฯ ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่โดยไม่จำเป็น

รถยนต์ EV บางรุ่นมีฟังก์ชันปรับสภาพอากาศในรถขณะชาร์จ โดยไม่ทำให้แบตเตอรี่หมดในระหว่างการเดินทาง การใช้คุณสมบัติเพิ่มเติมของรถ เช่น เบาะนั่งแบบปรับอุณหภูมิได้ จะใช้พลังงานแบตเตอรี่น้อยกว่าการเปิดแอร์จนเย็นฉ่ำ

...

แบตเตอรี่และการชาร์จไฟ
การมีแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพ เป็นส่วนสำคัญในการเป็นเจ้าของรถยนต์ EV ยิ่งแบตเตอรี่มีสุขภาพที่ดีเท่าไร ก็สามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้นเท่านั้น เพื่อไม่ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วเกินไป หลีกเลี่ยงการชาร์จเร็ว DC จนเต็ม 100% ชาร์จที่บ้านด้วยการค่อยๆ ปล่อยกระแสไฟเข้าแบตเตอรี่แบบการชาร์จด้วยไฟกระแสสลับ AC อาจใช้เวลานานกว่า แต่ไม่ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเพราะความร้อนขณะที่อัดไฟอย่างรวดเร็วด้วยไฟกระแสตรง DC ชาร์จด้วยไฟกระแสตรงบ่อยครั้ง ความสามารถในการประจุไฟของแบตฯ จะค่อยๆลดลง เนื่องจากขณะที่ชาร์จไฟกระแสตรงจะเกิดอุณหภูมิสูง จนทำให้ระบบระบายความร้อนแบตเตอรี่ต้องทำงานอย่างหนักโดยเฉพาะการขับในงานในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่มีอุณหภูมิทะลุ 42 องศาเซลเซียส

...

ชาร์จอย่างรวดเร็วจนกว่าแบตเตอรี่จะเต็ม 80% เท่านั้น หากนานกว่านั้นจะใช้เวลานานกว่ามาก
อย่าปล่อยให้แบตเตอรี่ลดระดับลงจนเหลือต่ำกว่า 20% การชาร์จที่บ้าน มีราคาถูกกว่าการใช้ที่ชาร์จสาธารณะในระยะยาว การชาร์จข้ามคืนแบบ AC ช่วยให้อุ่นใจได้ก่อนเริ่มการเดินทางไกล

โหมดการขับขี่
รถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่นมีโหมด "Normal" "Sport" และ "Eco" โหมดการขับขี่และการตั้งค่าต่างๆ ส่งผลต่อการควบคุมรถและอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานอย่างมาก รถยนต์ EV ส่วนใหญ่จะแสดงข้อมูลการขับขี่บนมาตรวัดที่แดชบอร์ด ข้อมูลการใช้พลังงานเมื่อขับขี่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน สามารถนำมาใช้เมื่อใช้การตั้งค่าโหมดขับเคลื่อน โหมด Eco ตอบสนองเรื่อยๆ มาเรียงๆ อาจไม่ทันใจ แต่ช่วยให้ ประหยัดเงินค่าไฟและเพิ่มระยะการใช้งานแบตเตอรี่ออกไปได้ถ้าขับไม่เร็ว แถมยังปลอดภัยมีเวลาเบรกอีกต่างหาก

แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะไม่มีเครื่องยนต์ แต่การดูแลและบำรุงรักษารถยนต์ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ตรวจสอบแรงดันลมยางเป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่ายางมีแรงดันลมที่เหมาะสม แรงดันลมยางเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของผู้ผลิต ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในขณะขับขี่และช่วยยืดระยะทางการใช้รถยนต์ EV

วางแผนเส้นทาง
ก่อนออกเดินทางให้วางแผนเส้นทาง จองจุดแวะพักชาร์จและเผื่อเวลาเอาไว้ด้วย การจองเพื่อให้คุณสามารถเข้าถึงที่ชาร์จได้ง่ายหากจำเป็น ด้วยเครือข่ายที่มีอยู่นั้นยังพอที่จะรับมือกับการชาร์จทางไกลได้ (ในบางแห่งที่ห่างไกลยังคงไม่มีสถานีชาร์จ หรือมี แต่ใช้งานไม่ได้) แผนที่จุดชาร์จแบบเรียลไทม์ของแอป จะแสดงตำแหน่งและความพร้อมใช้งานของที่ชาร์จ แอป ดาวน์โหลดได้ฟรี แอปชาร์จไฟนี้ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึง ใช้งาน และชำระค่าบริการชาร์จ EV ผ่านโทรศัพท์มือถือ.


อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/