"ยานยนต์ไทยรัฐออนไลน์" ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับ "ดร.แชมป์ ฤทธี กิจพิพิธ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จํากัด (มหาชน) หรือ SCN ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและเกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติ ทั้งธุรกิจจําหน่ายรถยนต์ อะไหล่ และซ่อมบํารุงรถโดยสารปรับอากาศ NGV, ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจขนส่งและอื่นๆ
นอกจากนี้ ดร.แชมป์ ยังเป็นนักสะสมป้ายทะเบียน สะสมรถซูเปอร์คาร์ ไม่ว่าจะเป็น Ferrari Portofino M, Lamborghini Huracan, BMW S7 และ BMW-X5 อีกด้วย เรียกได้ว่านอกจากจะคร่ำหวอดในวงการก๊าซธรรมชาติแล้ว ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการรถยนต์อีกด้วย
ทั้งนี้ หัวข้อที่เราเลือกคุยกับ ดร.แชมป์ เรียกได้ว่ากำลังอยู่ในกระแสของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ในประไทยเลยทีเดียว ซึ่งก็คงหนีไม่พ้น รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV ที่กำลังบูมอยู่ในขณะนี้
ดร.แชมป์ บอกเราว่า ถ้ามองในมิติพลังงาน ผมขอถามกลับว่า รถ EV เป็นพลังงานสะอาดจริงหรือ ซึ่งในบางประเทศอาจจะเป็นพลังงานสะอาด แต่ในบางประเทศ รวมถึงไทย ก็ยังอาจจะไม่ใช่ หากมองย้อนกลับไปกระแสรถยนต์ไฟฟ้าถูกปลุกโดยคนสองคน คือ สี จิ้นผิง และอีลอน มัสก์
...
โดยเฉพาะในจีน แม้พลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์มาเป็นอันดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่อุตสาหกรรมรถยนต์ยังไม่สามารถขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะจีนมีเทคโลยีไม่เท่ากับเยอรมันและญี่ปุ่น จีนเลยมองว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ต้องหันมาทำรถยนต์ไฟฟ้าแทน
ประเด็นนี้แหละที่ทำให้จีนเองต้องประสบปัญหาเรื่องของฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้าของจีนมาจากถ่านหิน (ส่วนของไทยเองผลิตไฟฟ้าด้วยแก๊สธรรมชาติ 70% ถ่านหิน 30%) ซึ่งจีนเองก็ต้องยอมเพราะเป้าหมายสำคัญของเขา คือ ต้องการผลักดันให้แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของจีนทัดเทียมกับแบรนด์รถยนต์จากญี่ปุ่น เยอรมันนั่นเอง
สำหรับประเทศไทย ถ้ามองในแง่ประชาชนผู้ใช้งาน ผมมองว่า ตลาดรถอีวีในไทยปัจจุบันเหมือนจะบูม แต่จากนี้ไปจะนิ่ง และดร็อปลงนิดหน่อย ก่อนจะพลิกเป็นเทรนด์ขาขึ้นอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่นตอนนี้ ประเทศจีนผลิตรถอีวีออกมาได้ดีขึ้น หรือแบรนด์รถสันดาปเดิมลงมาผลิตรถอีวีมากขึ้น
ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า ตอนนี้มีแบรนด์รถยนต์ระดับไฮเอนด์ลงมาทำตลาดรถอีวีมากขึ้น กับอีกเคสคือ รถจากจีนที่เราไม่เคยคุ้นหูนัก ผลิตรถอีวีออกมา ซึ่งเราก็ไม่รู้ที่มาที่ไป เห็นอีกทีว่าเป็นรถอีวีแล้ว ทำให้หลายคนอาจเกิดความสับสน
"ผมยกตัวอย่างนะ สมัยก่อนเขาไม่ซื้อยี่ห้อนี้กัน เพราะรู้ว่าราคากับคุณภาพนี่ไปกันไม่ได้ แต่พอมีการปรับเปลี่ยนใส่ไฟฟ้าเข้าไป คนก็ซื้อแม้ราคาแพงก็ตาม เพราะเห็นว่าเป็นรถอีวี แต่ในอนาคตหากสินค้าจากจีนพัฒนามากขึ้น ค่ายญี่ปุ่น หรือยุโรปเข้ามาในตลาดรถอีวีมากขึ้น มีสถานีชาร์จไฟฟ้ามากขึ้น ที่นี้กระแสของตลาดรถอีวีในประเทศไทยก็จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพราะคนก็มีตัวเลือกมากขึ้น ได้รถยนต์ไฟฟ้าที่คุ้มค่า คุ้มราคา ประหยัดพลังงานได้จริง"
นอกจากนี้ การใช้รถ EV ประหยัดได้จริงๆ หรือหากเราคำนวณกันจริงๆ รถอีวีที่ขายในประเทศไทยราคาสูงมาก แม้รัฐบาลจะประกาศสนับสนุนด้านภาษีแล้วก็ตาม เช่น รถรุ่นเดียวกันแต่แตกต่างกัน แค่อีกคันเติมน้ำมัน อีกคันใช้ชาร์จไฟ แต่ราคาต่างกันเป็นแสน รถอีวีขายอยู่ล้านกว่าบาท ในขณะที่รถใช้น้ำมันขายอยู่ประมาณ 6 แสน เมื่อเอามาคำนวณความคุ้มค่าแล้ว ณ ตอนนี้รถใช้น้ำมันอาจจะประหยัดได้มากกว่าก็เป็นได้
"ผมมองว่า ตอนนี้หากซื้อรถ EV น่าจะต้องซื้อรถหรูซูเปอร์คาร์ เพราะได้ราคาค่อนข้างดีจากนโยบายรัฐ ผมมองว่ารัฐพยายามผลักดันนโยบายอีวีโดยไม่เข้าใจอีวี ทำให้รถที่ได้ประโยช์มากที่สุด คือ รถหรูฝั่งยุโรป ส่วนตัวมองว่าคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ กลุ่มไฮเอนด์ที่ซื้อรถหรู"
...
แต่ถ้ามองในแง่ของภาครัฐและการลงทุน รัฐบาลอาจจะเห็นว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จีนจะเป็นประเทศมหาอำนาจ การลงทุนต่างๆ จะมาจากจีนเป็นหลัก ซึ่งเราก็ถือโอกาสนี้ดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ในจีนเข้ามาลงทุนในไทย อยากพัฒนา EEC เป็นศูนย์การผลิตต่างๆ ก็ต้องเริ่มจากการลดภาษี เช่น การผลิตที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต
ดร.แชมป์ ทิ้งท้ายว่า คนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าลอตแรกๆ อาจจะประสบปัญหาการแย่งที่ชาร์จไฟฟ้า และที่สำคัญตอนนี้ค่าชาร์จในไทยค่อนข้างสูง ถ้าทำ Fast Charge ก็ต้องลงทะเบียนไฟสามเฟส ราคาก็น่าจะสูงเช่นกัน ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องคำนวณให้ดี
ส่วนถ้าจะชาร์จในห้างก็แพงเหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่เป็นการคิดแบบจอดเหมา เพราะคนส่วนใหญ่จะชาร์จแบบเหมา 3 ชั่วโมงขึ้นไป จากนั้นก็ต้องมานั่งดูว่าชาร์จแล้ววิ่งได้เท่าไร ไฟเข้าครบตามที่สถานีชาร์จระบุไว้หรือไม่ เพราะส่วนตัวเคยเจอชาร์จไปสามชั่วโมง แต่เอาไปใช้ได้จริง วิ่งได้แค่ 16 กิโลเมตรก็มี
...
"ผมองว่า การชาร์จที่บ้านดีสุด เหมาะกับคนที่มีพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น บ้านไม่ห่างจากที่ทำงานมากนัก กลับเวลาเดิม ชาร์จกลางคืน หลังสามทุ่ม เพราะค่าไฟถูกกว่ากลางวัน และมีการเปลี่ยนมิเตอร์เป็น ทีโอยู เริ่มชาร์จตั้งแต่ 3 ทุ่มถึง 6 โมงเช้าก็เต็มพอดี หรือถ้าเป็นกลางวันก็ใช้โซลาร์เซลล์ช่วยผลิตกระแสไฟฟ้า ก็จะช่วยประหยัดค่าไฟได้อีกทางหนึ่งด้วย"
สัมภาษณ์ : กมลทิพย์ หิรัญประเสริฐสุข kamonthip.h@thairathonline.co.th
ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย