ยางรถยนต์ไฟฟ้า มีคุณสมบัติแตกต่างจากยางรถยนต์ปกติอย่างไร และทำไมธุรกิจ "ยางรถยนต์ไฟฟ้า" อีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบการไทย
การตื่นตัวต่อประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในสินค้าที่กำลังเป็นเมกะเทรนด์ของโลก คือ รถยนต์ไฟฟ้า โดยคาดว่าในปี 2575 มูลค่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของโลกจะอยู่ที่ 1,716.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากในปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 255.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 23% CAGR
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของรถยนต์ไฟฟ้า ยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะในกลุ่มยางรถยนต์ ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกยางรถยนต์รายใหญ่ในตลาดโลก โดยในปี 2565 ไทยส่งออกยางรถยนต์เป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งมีสัดส่วนตลาดราว 7.1% ของการส่งออกยางรถยนต์ทั้งหมดของโลก รองจากจีน ที่มีสัดส่วน 20.7%
อีกทั้ง ไทยยังมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบจากการเป็นแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก คำถามน่าสนใจที่ตามมา คือ การเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะส่งผลดีต่อการส่งออกยางรถยนต์ไฟฟ้าของไทยแค่ไหน แต่ก่อนที่จะตอบคำถามนี้จำเป็นที่ผู้อ่านต้องทำความรู้จักกับคุณสมบัติที่โดดเด่นของยางรถยนต์ไฟฟ้าก่อน
...
ทำความรู้จัก "ยางรถยนต์ไฟฟ้า"
ยางรถยนต์ไฟฟ้า หรื EV Tires มีคุณสมบัติแตกต่างจากยางรถยนต์ปกติ ดังนี้
1. ช่วยลดเสียงรบกวนจากท้องถนน
2. รับน้ำหนักได้มากกว่ายางรถยนต์ปกติ เนื่องจากต้องรองรับน้ำหนักแบตเตอรี่ที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้า
3. สามารถยึดเกาะถนนได้ดีกว่า
4. ทนทานต่อแรงบิดสูง
ดังนั้น กระบวนการผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้าจึงมีความแตกต่างจากผลิตยางรถยนต์ทั่วไป เช่น มีการออกแบบดอกยางให้มีลักษณะขนาดเล็กกว่ายางรถยนต์ปกติ และมีการจัดวางระยะพิทช์ของยางต่างจากยางรถยนต์ปกติ รวมทั้งมีการเพิ่มโฟมหรือแผ่นรองรับเสียงในยางรถยนต์ให้หนาขึ้น
นอกจากนี้ ในบางยี่ห้อจะมีการเพิ่มเทคโนโลยีพิเศษ เพื่อให้ยางรถยนต์ไฟฟ้ามีลักษณะพิเศษกว่ายี่ห้ออื่น เช่น บริษัทยางรถยนต์รายใหญ่ของโลกอย่างบริดจสโตนที่พัฒนาเทคโนโลยีที่ชื่อ ENLITEN ซึ่งเป็นการเพิ่มสมรรถนะในการขับขี่บนพื้นถนนที่เปียกและลดการสึกของยางรถยนต์ เป็นต้น
ยางรถยนต์ไฟฟ้าจะมีอายุการใช้งานนานกว่ายางรถยนต์ปกติ โดยยางรถยนต์ปกติจะมีอายุการใช้งานประมาณ 3-5 ปี ขณะที่ยางรถยนต์ไฟฟ้าจะมีอายุการใช้งานประมาณ 6 ปี อย่างไรก็ตาม ยางรถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาแพงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปประมาณ 2-3 เท่า โดยอยู่ที่ราคาราว 50,000-70,000 บาท ต่อ 4 เส้น ขึ้นอยู่กับแบรนด์ที่ใช้
ทำไมผู้ประกอบการยางรถยนต์ไทยควรต่อยอดไปสู่การผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้า?
1. ยางรถยนต์ไฟฟ้าตอบโจทย์เทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อม
2. ยางรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ภาครัฐส่งเสริม
3. เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไป จึงมีอัตรากำไรที่ดีกว่า
Krungthai COMPASS คาดว่า สินค้าในกลุ่มยางรถยนต์ไฟฟ้าจะมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปถึง 18% โดยแม้ต้นทุนขายทั้งหมดของยางรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปประมาณ 2.1 เท่า แต่ราคาขายยางรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปถึง 2.6 เท่า โดยมีสมมติฐานต้นทุนด้านอื่นๆ คงที่ จะทำให้สินค้าในกลุ่มยางรถยนต์ไฟฟ้าจะมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 30% สูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปซึ่งอยู่ที่ 12%
นอกจากนี้ Krungthai COMPASS มองว่า ในปี 2573 มูลค่าส่งออกยางรถยนต์ไฟฟ้าไป 3 ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และออสเตรเลีย จะมีมูลค่ารวมกันประมาณ 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 76,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45% CAGR จากในปี 2565 ที่มีมูลค่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศจะอยู่ที่ราว 63,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% CAGR จากในปี 2565 ที่มีมูลค่าราว 4,100 ล้านบาท
Krungthai COMPASS แนะนำผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ไฟฟ้า ดังต่อไปนี้
ผู้ประกอบการยางรถยนต์ไฟฟ้า
ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง (RTEC) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ทั้งนี้ ในระยะแรกเราประเมินว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์จากการขยายตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ประกอบการยางรถยนต์รายใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี
...
แต่ในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการไทยจะมีโอกาสเข้ามาทำตลาดนี้ได้มากขึ้น หากให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้นเช่น บริษัท IRC ผู้ประกอบการยางรถยนต์สัญชาติไทยที่เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งชิ้นส่วนยางประกอบในยานยนต์และยางรถจักรยานยนต์รองรับการเติบโตของเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว
ผู้ประกอบการยางแปรรูปขั้นต้นอย่างยางแท่ง
ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานการผลิต ที่เป็นไปตามข้อกำหนดของผู้ผลิตยางรถยนต์ชั้นนำของโลก ซึ่งครอบคลุมไปถึงมาตรฐานความยั่งยืนด้วย อาทิ มาตรฐาน Fair Rubber, FSC, GOLS, Eco Factory, Green Industry, eco-INSTITUT, QUL
ภาครัฐ
ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการเร่งสนับสนุน EV Ecosystem ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะนโยบายให้เงินทุนสนับสนุน ดังเช่นที่รัฐบาลแคนาดาให้เงินสนับสนุนราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (อยู่ในรูปของเงินลงทุนและสิทธิพิเศษทางภาษี) แก่บริษัทมิชลินในการเข้ามาลงทุนขยายโรงงานผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงยางรถยนต์ที่ช่วยประหยัดพลังงาน
บทความโดย อภินันทร์ สู่ประเสริฐ
อังคณา สิทธิการ
Krungthai COMPASS