ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ งาน Future Mobility Asia 2023 หากใครได้ไปเดินดูก็จะพบตัวละครลับที่แอบมาอย่างเงียบๆ ซึ่งก็คือค่ายรถเวียดนาม Vinfast นั่นเอง โดยมีการนำรถรุ่น VF-8 และ VF-9 มาจัดแสดง หลายคนรอบตัวโดยเฉพาะพวกผู้ใหญ่รุ่นน้า สอบถามพูดคุยกันเข้ามามากว่ารถของค่ายนี้มีความเป็นมาอย่างไร หลายท่านทราบอยู่แล้วสามประการว่า 1) มาจากเวียดนาม 2) กำลังโฟกัสไปที่การผลิต EV และ 3) มีข่าวว่าจะมาเมืองไทยในปี 2024 นี้ แต่ยังไม่ทราบว่าก่อนมาถึงวันนี้เขาผ่านอะไรมาบ้าง

ผมก็ไม่ใช่กูรูประเภทที่มีความรู้ทุกอย่างในหัวนี่ครับ ก็เลยถือโอกาสทำการบ้านหาข้อมูลเพิ่มมาเล่าให้พวกท่านฟัง เพราะผมเชื่อว่าบางครั้งคุณรู้ประวัติความเป็นมา คุณอาจทำนายวิธีคิดของผู้บริหารที่กุมชะตาแบรนด์เอาไว้ได้ คล้ายๆ กับแบบที่เวลาลูกสาวเราพาผู้ชายคนใหม่มาไหว้ เราก็ต้องซักถาม (กึ่งสอบสวน) ว่า เป็นลูกเต้าเหล่าใคร เรียนจบอะไรมา เวลาว่างชอบทำอะไร ลูกสาวคุณเป็นแฟนคนแรกของเขาหรือไม่ เราถามไม่ใช่เพราะอยากเสือใส่เกือกหรอก แต่เพราะเราจะเอามาประมวลผลความน่าจะเป็นว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป

...

ในปี 1968 ช่วงสงครามเวียดนาม ครอบครัวของทหารเวียดนามเหนือนายหนึ่งได้ให้กำเนิดทายาท ชื่อ Pham Nhat Vuong ซึ่งภาษาเวียดนามจริงๆ แล้วมีอักขระแบบที่คอมพิวเตอร์โบราณของผมไม่รู้จักอยู่ด้วย แต่ออกเสียงชื่อคล้ายๆ “ฝ่าม เญิต เหวื่อง” คุณเหวื่องนี่แกเกิดมาในบ้านที่ยากจน แม่ทำอาชีพขายน้ำชา แต่ก็พยายามดิ้นสู้ฟัด จนท้ายที่สุดคุณเหวื่องสามารถเรียนจบมหาวิทยาลัยเหมืองแร่และธรณีวิทยาแห่งฮานอย และเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ได้รับทุนไปเรียนที่ “เอ็มเกออู” หรือมหาวิทยาลัยมอสควา ในคณะด้านธรณีวิทยา ช่วงที่สหภาพโซเวียตกำลังล่มสลาย ได้เห็นสภาพเมืองหลวงที่ระส่ำระสาย ความหิวโหยอดอยากของชาวรัสเซียในยุคของเยลต์ซิน ยุคที่จอดรถไว้ข้างทางแล้วรุ่งขึ้นล้อ ไฟ กระจก พวงมาลัย หายหมด

คุณเหวื่องเรียนจบด้านธรณีวิทยา แล้วก็แต่งงานกับสตรีชาวเวียดนามที่ปิ๊งกันมาตั้งแต่สมัย ม.ปลาย จากนั้นจับมือเจ้าสาวย้ายไปอยู่ที่ยูเครน เริ่มต้นชีวิตแบบขลุกขลักหน่อย ต้องบากหน้าไปยืมเงินจากคนในครอบครัวและเพื่อน จนสามารถตั้งบริษัทผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขาย กลายเป็นบริษัทเต๊กโนคอมอาหารแห้งและผลิตภัณฑ์แปรรูป ถ้าไปถามคนยูเครนที่เกิดทันยุคโซเวียตล่ม น้อยคนจะไม่รู้จักผลิตภัณฑ์อาหารแห่งยี่ห้อ “มีวีน่า” ครับ ธุรกิจนี้เปลี่ยนคุณเหวื่องจากคนยืมเงิน กลายเป็นคนที่ถูกโทรมาขอยืมเงิน เพราะแกรวยมหาศาลภายในเวลาอันสั้น เหมือนกับพวกรัสเซียหัวใหม่สมัยนั้นที่แอบไปศึกษาระบบทุนนิยม ร่ำเรียนวิชาค้าขายมาดี ตอนโซเวียตแตก คนรัสเซียส่วนมากค้าขายไม่เป็น พวกหัวใหม่จึงได้เปรียบ ตั้งกิจการได้ก่อน รวยก่อนใคร ในขณะที่คนทั่วไปบางคนแทบแย่งข้าวหมากิน

คนเรามักจะมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตตอนอายุ 40 คุณเหวื่องก็เช่นกัน เพราะที่อายุเท่านั้น แกไปดีลกับ Nestle กิจการอาหารและของใช้ที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก แล้วก็สรุปจบที่การขายกิจการเต๊กโนคอมให้กับทาง Nestle สำเร็จในปี 2010 ได้เงินมหาศาล 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วแกก็หอบผ้าหอบลูกสาม บินกลับมาอยู่ที่ฮานอย ที่ซึ่งมีเงินรอเขาอยู่แล้ว เพราะหลังขึ้นศตวรรษใหม่ คุณเหวื่องเอาเงินมาลงทุนในเวียดนาม สร้างรีสอร์ต/สวนสนุก Vinpearl และอาคาร Vincom City Tower เอาไว้ ซึ่งในภายหลังสองบริษัทนี้ที่แยกกัน ก็มารวมเป็นบริษัทพัฒนาที่ดิน/ที่อยู่อาศัยภายใต้ชื่อ Vingroup ดังนั้นพอปิดดีลกับ Nestle แล้วกลับมาเวียดนาม เขาคือคนที่มีพรมเงินรออยู่แล้ว แถมยังแบกเงินก้อนใหญ่กลับมาบ้านอีกต่างหาก

...

ยุทธการสร้างความมั่งคั่งของคุณเหวื่องไม่ได้หยุดแค่นั้น Vingroup ยังไปกว้านซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อ ทั้ง OceanMart และ Maximark เปิดโรงพยาบาลในชื่อเครือ VinMec และเปิดโรงเรียนอีกต่างหาก ลักษณะของคุณเหวื่อง ผมดูแล้วแกมีความคล้ายเจ้าสัว CP ของบ้านเรา ตรงที่ไม่ว่ากิจวัตรประจำวันของคนในประเทศนั้นมีอะไร มันจะต้องมีการอุดหนุน/ใช้บริการบริษัทในเครือเขาอยู่บ้าง อยู่เมืองไทย คุณอาจจะขับ MG ซื้อข้าวกับขนมที่เซเว่น ใช้โทรศัพท์เครือข่าย TRUE ที่เวียดนามคุณเหวื่องก็มองว่าแกทำมาทุกธุรกิจแล้ว แต่ยังไม่มีเรื่องรถยนต์ ดังนั้นในปี 2017 จึงมีการจดทะเบียนการค้าแบรนด์ “Vinfast” รวมถีงเริ่มก่อหลักปักฐาน สร้างโรงงานประกอบรถ และกลายเป็นบริษัทรถยนต์แห่งชาติรายแรกของเวียดนาม พร้อมๆ กับการที่ Forbes จัดอันดับให้คุณเหวื่องเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในเวียดนาม

...

ชื่อยี่ห้อ Vinfast ได้มาจากการเอาคำภาษาเวียดนาม (ซึ่งเป็นตัวอักษรแบบอังกฤษ) หลายๆ คำ ยกบางตัวอักษรมาวางเรียงกัน V, I และ N ก็มาจากคำว่า “เวียดนาม” F มาจากคำว่า “สไตล์” หรือดีไซน์ A มาจากคำว่าความปลอดภัย S มาจากคำว่าความคิดสร้างสรรค์ และ T ตัวสุดท้ายมาจากคำว่าบุกเบิก คุณจะแปลรวมๆ ว่าเป็น “ยานยนต์เวียดนามอันเป็นผู้บุกเบิกด้านรูปลักษณ์ ความปลอดภัย ความคิดสร้างสรรค์ในยนตรกรรม” ก็คงไม่ผิดหรอก

ในงาน Paris Motor Show 2018 ทาง Vinfast ก็เผยโฉมรถยนต์สองรุ่นแรกของทางค่าย ซึ่งทำเอาคนในวงการรถยนต์ตื่นตระหนก Vinfast เล่นแบบเซฟด้วยการว่าจ้างคนอื่นที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับรถยนต์มาช่วยดูแลจนออกมาเป็นรถ เรื่องการออกแบบก็ใช้บริการสำนัก Pininfarina ของอิตาลี เรื่องชิ้นส่วน อะไหล่ เทคโนโลยีการขับเคลื่อน ตลอดจนตัวถัง ก็หยิบยืมมาจาก BMW (เลือกเก่งนะ) และใช้บริการบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ยุโรปอย่าง Magna Steyr

...

ซาลูนหรูของค่าย มีชื่อว่า LUX A 2.0 ซึ่งถ้าคุณดูทรวดทรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประตูหน้า คุณจะร้องอ๋อทันที ว่ามันก็คือ BMW ซีรีส์ 5 ตัวถัง F10 ซึ่ง ณ ปีนั้นตกรุ่นไปแล้วนั่นเอง แม้แต่เครื่องยนต์ก็ยังเป็น BMW เลยครับ เพราะเขาใช้เครื่อง N20B20 บวกกับเกียร์อัตโนมัติ ZF 8 จังหวะ ขุมพลังนั้นเหมือนกับรถ BMW 528i F10 ที่มีขายในบ้านเรา แต่จะระบุตัวเลขแรงม้าต่างกันนิดหน่อย (LUX A มี 231 แรงม้า) แล้วพอส่งไปทดสอบการชน ASEAN NCAP ก็ได้ห้าดาวอีกต่างหาก ถึงแม้ว่าเราทราบกันว่ามันคือ BMW ที่ทำภายนอกภายในเป็นสไตล์อิตาลี แต่สำหรับการเป็นรถแห่งชาติของชาวเวียดนาม ก็ถือว่าเปิดตัวได้สวยทีเดียวล่ะ

ในรุ่น LUX A นี้ ยังมีการนำไปต่อยอดผลิตเป็นรถ SUV ตัวแรงรุ่นพิเศษ ชื่อว่า Vinfast President ซึ่งมีตัวถังพื้นฐานเหมือน LUX A แต่ปรับแต่งโฉมให้ดูดุดันขึ้น วางเครื่องยนต์ V8 ที่ไม่เผยสัญชาติว่าเอาของใครมา แต่พวกสื่อสายรถยนต์เมืองนอกเห็นฝาสูบ ก็เดาได้ว่าเป็นเครื่อง V8 Pushrod ที่น่าจะมาจาก GM (Chevrolet Camaro) ไม่ก็ FCA (Dodge Charger) เพราะทั้งในสเปกของ President, GM และ FCA ต่างก็ระบุว่าเป็นเครื่อง 6.2 ลิตรเหมือนกัน President เป็น SUV หรูพันธุ์ดุ ที่มีพลังมากถึง 462 แรงม้า แรงบิด 624 นิวตันเมตร แต่จะมีการผลิตขายเพียง 500 คัน ในราคาที่สูงกว่า LUX SA ตัวท็อป 2 เท่า

ต่อมาก็เป็น SUV ระดับหรูที่มีชื่อว่า LUX SA 2.0 ซึ่งใช้สูตรสำเร็จเดียวกับ LUX A โดยการเอาบอดี้หลัก เครื่องยนต์ เกียร์ ช่วงล่าง มาจาก BMW X5 ตัวถัง F15 แล้วให้ทางสำนัก Pininfarina ออกแบบภายนอกและภายในใหม่ เครื่องยนต์ก็มีเพียงแบบเดียวคือ N20B20 ตัวเดียวกันกับของ LUX A และทดสอบชน ASEAN NCAP ได้ห้าดาวอีกเหมือนกัน

รถใหญ่มีไว้โชว์ความอลังการ แต่ตัวที่ขายได้จริงคือรถเล็ก Vinfast ก็รุกต่อด้วยรถขนาด A-Segment (ระดับเล็กกว่า Honda City) ด้วย Vinfast Fadil ซึ่งก็คือรถ Chevrolet Spark/Opel Karl ที่เลิกผลิตไปแล้วในอเมริกากับยุโรป เอามารีไซเคิลใหม่ ใช้เครื่องยนต์ 1.4 ลิตร 98 แรงม้า ประกบเกียร์ CVT ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่รถที่มีอะไรเด่น แต่หลังจากขายได้ 3 ปี Fadil กลายเป็นรถรุ่นที่ขายดีที่สุดในเวียดนาม เมื่อนับจำนวนยอดขายเป็นรายรุ่น ในปี 2021 ถึงแม้ว่า Hyundai ยังเป็นแชมป์ยอดขายรถในเวียดนามเมื่อมองรวมทั้งค่าย แต่การที่รถแห่งชาติเกิดใหม่สามารถล้มแชมป์อย่าง Toyota Vios ที่ครองตำแหน่งรถโมเดลเดี่ยวขายดีที่สุดมานานถึง 7 ปีได้ ก็แสดงว่าคนเวียดนามไว้ใจแบรนด์นี้พอสมควร

ในปี 2021 Vinfast เปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นแรกของทางค่าย คือ e34 ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวเริ่มต้นสำหรับการลุยตลาดรถ EV อย่างจริงจังในเวียดนามแล้ว ยังนับเป็นรถรุ่นแรกที่ทาง Vinfast พัฒนาโครงสร้างทางวิศวกรรมขึ้นมาเอง โดยมีแนวทางคล้ายกับ Tesla และรถไฟฟ้าแดนมังกรยุคใหม่ที่มีอุปกรณ์ทันสมัยมากขึ้น เปิดตัวได้ 6 เดือน ยอดจองก็มีเข้ามามากถึง 25,000 คัน ซึ่งถือได้ว่าไม่เลวเลยสำหรับรถที่เวียดนามทำเอง และเป็นผู้บุกเบิกเข้าสู่ยุค EV

หลังจากนั้นเป็นต้นมา Vinfast ก็มีความพยายามในการเป็น Tesla แห่งเวียดนามที่ประกาศชัดว่าจะเลิกผลิตรถยนต์เครื่องสันดาปภายในเพื่อโฟกัสไปที่รถไฟฟ้า 100% อีกทั้งยังมีการขยายตัวไปสู่ตลาดยุโรป และอเมริกา มีการพัฒนารถอย่าง VF-8 ซึ่งเป็น SUV ขนาดตัวโตกว่า Honda CR-V และ VF-9 ซึ่งเป็น SUV ขนาดใหญ่ ตัวยาวทะลุ 5 เมตร มี 7 ที่นั่ง ซึ่งทั้งสองรุ่นนี้มีแนวโน้มที่จะขายดีมากในตลาดที่นิยมรถใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา

ทว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ชะตาของ Vinfast กลับไม่ค่อยสวยเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นข่าวเรื่องการ Recall รถเกือบ 2,800 คัน ที่จำหน่ายในเวียดนามกลับมาตรวจสอบแรงขันนอตยึดคาลิเปอร์เบรก การที่มีสื่อมวลชนตีข่าวเรื่องพิสัยการวิ่งของรถที่ไม่ได้เป็นไปตามคาดหมาย เมื่อรวมกับภาวะทางการเงินในภาพรวมของบริษัทแม่อย่าง Vingroup ที่ Nikkei รายงานว่ามีสภาพขาดทุน 1,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าเจ้าของอย่างคุณเหวื่องจะยังเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในเวียดนามก็ตาม เรื่องของเรื่องก็คือ คุณเหวื่องแกทั้งลงทุนและระดมทุนมาเพื่อสร้างรถไฟฟ้าเป็นมูลค่ารวม 280,000 ล้านบาท แต่นับตั้งแต่จดทะเบียนตั้งบริษัท Vinfast มา รถที่ขายได้ก็แค่ประมาณ 100,000 คัน และส่วนมากเป็นยอดจำหน่ายที่เกิดขึ้นในเวียดนาม

ส่วนที่อเมริกา ซึ่ง Vinfast หวังเข้าไปฟันตลาดนั้น เริ่มมีปัญหาตั้งแต่การตัดจำนวนพนักงานออก ความล่าช้าอันเป็นผลมาจากวิกฤติขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์ รวมถึงความล่าช้าในการยื่นขอจดใบรับรองด้านมลภาวะ ที่ทำให้ Vinfast VF-8 มีราคาสูงถึง 56,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแพงกว่า Tesla Model Y Performance เสียอีก เมื่อรวมกับสิ่งที่สื่อมวลชนสหรัฐฯ เขียนลงในบทความ ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันเรื่องช่วงล่างและการขับขี่ ซึ่งแม้กระทั่งชาติที่ไม่ได้ผลิตรถช่วงล่างเจ๋งมากมายนักยังรู้สึกว่าตัวรถย้วยยวบเกินไป Mack Hogan จาก Road & Track ยังเขียนไว้ด้วยซ้ำว่า เขาขับรถมาเยอะ ไม่ใช่คนเมารถง่าย แต่ขับหรือนั่ง VF-8 แล้วรู้สึกมึน เพราะช่วงล่างยวบและแกว่งซ้ายขวา แบบที่ไม่ควรเกิดในรถสมัยใหม่ อันที่จริง คุณ Hogan แกวิจารณ์ไว้เยอะกว่านั้นอีก แต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่สื่อมวลชนเจ้าอื่นพูด เรื่องช่วงล่าง และการประกอบในระดับที่ทำให้ Tesla อเมริกันดูประณีตไปเลย นั่นคือจุดที่มีปัญหาอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องจ่าย

เมื่อทาง Autolifethailand โดยคุณหมู ธีรพัฒน์ไปสัมภาษณ์คณะ Vinfast ที่มาไทยเมื่อช่วง 17-19 พฤษภาคม ก็สัมผัสได้ว่า แม้จะอยู่ในสถานภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่ตลาดอเมริกา แต่ทางบริษัทก็มีความต้องการที่จะขยายตลาดพวงมาลัยขวา และมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายด้วย เพราะตลาดรถยนต์ EV ในประเทศไทยโตเร็วมาก โดยทั้งนี้ Vinfast ไม่ได้ต้องการที่จะมาขายแข่งกับเจ้าตลาดที่ขายเดือนละเป็นหมื่นคัน แต่เลือกจะทำตลาดกลุ่มเล็ก EV ซึ่งเมื่อผู้เขียนทราบเช่นนั้นก็ไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตของ Vinfast จะง่ายขึ้นเท่าไรเลย เพราะไม่ว่าจะชี้ไประดับราคาใดก็มีคู่แข่งนั่งแคะฟันเขย่าขารออยู่แล้ว ที่งบประมาณครึ่งล้านไปจนถึงล้านต้น ผู้ผลิต EV จากจีนครองตลาดส่วนนี้อย่างเหนียวแน่น และแม้จะมีข่าวในแง่ลบกับคุณภาพและความเสถียรของผลิตภัณฑ์ รถเหล่านี้กลับสร้างกระแสการรับรู้ได้อย่างรวดเร็ว ชนิดที่ผมมองว่า ถ้าเวียดนามไม่งัดลูกเล่นด้านความคุ้มค่าในเชิงราคาถูก/ออปชันเยอะ มาแข่งกับจีน ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าเขาจะชนะอย่างไร

ก็คงน่าสนุกดี ถ้าเวียดนามจะชนกับแบรนด์แดนมังกร โดยใช้ยุทธวิธีที่แบรนด์มังกรเคยเอามาเฉือนเจ้าตลาดญี่ปุ่นในอดีต แต่..เขาจะทำได้แบบนั้นหรือเปล่า เพราะถ้าไม่ทำ โอกาสเกิดก็ยาก เพราะเท่าที่เห็นในปัจจุบัน เรื่องที่สู้จีนได้จริงๆ คือพลัง สมรรถนะมอเตอร์ไฟฟ้า และการออกแบบที่คนไทยหลายคนที่ผมคุยด้วยก็รู้สึกว่ารูปทรงรถเก๋ไก๋แหวกแนวดี แต่ในเรื่องช่วงล่าง ถ้า Vinfast ไม่ปรับปรุงให้ดีขึ้น ก็อาจแพ้จีนตรงจุดนี้ และในความจริงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น ส่งผลดีในระยะยาวมากกว่าแข่งกันด้วยการทำของราคาถูกที่ประสิทธิภาพไม่ทัดเทียมคนอื่น

จากเอกสารข่าวของ Vinfast เอง พวกเขามีความคิดอยากประกอบเวอร์ชันพวงมาลัยขวาให้กับรุ่น e34, VF-5, VF-6 และ VF-7 ส่วนรุ่น VF-8 กับ 9 ที่มาโชว์ตัวนั้น ก็อาจต้องดูความเหมาะสมก่อน เพราะสองรุ่นนี้เป็นรถใหญ่ รุ่นอื่นๆ ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้มีขนาดเล็ก ราคาย่อมเยากว่า มีโอกาสสร้างยอดขายได้มากกว่า ที่สำคัญคือถ้าคิดจะมา ขอให้มาแบบพร้อม คำว่าพร้อมคือ พร้อมขาย พร้อมส่งมอบ พร้อมซ่อม และพร้อมด้วยอะไหล่ เรื่องตัวรถนั้นเท่าที่สังเกตระยะ 10 ปีหลังมานี้คนไทยไม่ได้โหดร้ายต่อแบรนด์รถหน้าใหม่เหมือนเมื่อ 20-30 ปีก่อน ต่อให้รถมีปัญหาจุกจิกบ้าง แต่ถ้าเคลมง่าย เร็ว ไม่ต้องรออะไหล่นาน ลูกค้าก็ยังจะมีกะจิตกะใจมองแบรนด์ในแง่ดีบ้าง แต่ถ้ามีปัญหาแล้วซ่อมไม่ได้ ต้องจอดทิ้งนานเป็นเดือน แบบนั้นดีกรีความผิดหวังจะรุนแรง และทำให้การซื้อรถคันแรกกลายเป็นการซื้อคันสุดท้ายไปพร้อมๆ กัน

มีเวลาอีกพักใหญ่ๆ สำหรับ Vinfast ในการพยายามศึกษาวิจัยเพื่อเตรียมผลิตภัณฑ์ให้พร้อมจริง ไม่มีปัญหาติดขัด หรือออกมาแล้วเป็นที่ตำหนิในวงกว้าง ก่อนจะถึงวันนั้น พวกเราในฐานะเจ้าบ้านที่ดีก็ต้อนรับและทำความรู้จักกันไปก่อนนะครับ Welcome to Thailand.

Pan Paitoonpong