หลังจากที่ COVID-19 ทำให้ผมไม่มีโอกาสออกนอกประเทศนับตั้งแต่ตุลาคม 2019 ในที่สุด เมื่อโลกเริ่มมองว่าสถานการณ์คลี่คลาย (หรือไม่ก็เริ่มเบื่อที่จะต้องปิดตัวเองไว้ในขวด) จีนก็เปิดประเทศอีกครั้ง และในเดือนเมษายนซึ่งมีการจัดงานมหกรรมรถยนต์ระดับประเทศอย่าง Auto Shanghai หรือเซี่ยงไฮ้มอเตอร์โชว์ เราก็มีโอกาสได้มาดูงานโชว์รถของประเทศยักษ์ใหญ่อันเป็นตลาดรถที่บริษัทรถทั้งโลกต่างก็เกรงใจ จะไม่ให้เกรงใจได้อย่างไรเล่า ในเมื่อนี่คือตลาดที่รถบางค่ายสามารถขายได้ปีละหลักล้านคัน และหนึ่งในนั้นก็คือ BYD ซึ่งในปี 2022 นั้น พวกเขาขายรถปลั๊ก (BEV+PHEV) ไปมากกว่า 1.85 ล้านคัน ถ้ามองว่าปี 2021 ยอดขายของพวกเขายังไม่ทะลุ 6 แสนคันด้วยซ้ำ นี่คือสิ่งที่น่าตกใจในสายตาผม
...
ทริปต่างประเทศทริปแรกในรอบ 3 ปีกว่าๆ ของผม เริ่มต้นโหดหน่อย คือเราร่อนลงที่เซินเจิ้นตอนเกือบๆ ตีสี่ นั่งรอรถบัสถึง 6 โมงครึ่งเพราะไกด์บอกว่าเซินเจิ้นมีกฎห้ามรถบัสวิ่งก่อนตีห้า จากนั้นเข้าไปกินข้าวเช้าที่โรงแรมในเมืองก่อนเข้าไปที่สำนักงาน/โรงงานเซินเจิ้นของ BYD ซึ่งมีเนื้อที่โตเหมือนอำเภอหนึ่งของตัวเอง มีโรงงานและแผนกวิจัยซึ่งมีพนักงานร่วมแสนกว่าคน แต่เดิมโรงงานแห่งนี้เคยมีลานทดสอบรถกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา แต่ตอนนี้โดนแปลงเป็นที่จอดรถหมด และนั่นก็ยังไม่พอสำหรับการรองรับพนักงานใหม่ที่เพิ่มเร็วไม่แพ้ยอดขายของแบรนด์
...
ผมไปฟาสต์ทัวร์โรงงานของพวกเขาที่เซินเจิ้นและฉางซา ที่เรียกว่าฟาสต์ทัวร์เพราะพาชมเหมือนไม่อยากให้ชม ขนาดผมเดินจนเลือดลงไปกองที่เท้าเจ็บปวดทรมานเป็นบ้า ก็ยังเดินตามไม่ทัน ห้ามไม่ให้ถ่ายภาพ วิดีโอใดๆ ไม่มีการแบ่งโซนว่าตรงไหนห้ามถ่าย ตรงไหนถ่ายได้ (ซึ่ง Mercedes-Benz รถระดับพรีเมียมน่ะยังให้ทำได้แบบนั้นเลย) และไม่มีฟุตเทจการทัวร์โรงงานที่จะเป็นประโยชน์ใดๆ ส่งมาให้ตามหลัง จนผมเองยังฉงนใจว่าเอาเราไปดูงานสองวัน ไม่มีข้อมูลประวัติโรงงาน ไม่มีตัวเลขใส่กระดาษสักแผ่น ไม่มีเวลาว่างให้ถ่ายวิดีโอแบบดีๆ แล้วพวกคุณจะเอาผมมาทำไมถ้าผมไม่มีอะไรเล่าให้คนอ่านฟังมากกว่าคนอื่นที่นั่ง Google เรื่องราวต่างๆ จากเมืองไทย ถ้าชวนมาเที่ยวเฉยๆ การวางโปรแกรมให้วันแรกไม่ได้นอน วันที่สองให้ตื่นตีสี่ และนอนอีกทีคือตีสองของวันถัดมา ก็ดูจะเหมือนโปรแกรมฝึกทหารมากกว่าโปรแกรมเที่ยว คราวหน้ารบกวนจัดทริปแบบที่นักทำคอนเทนต์มีของมาฝากผู้ติดตามเขาได้บ้าง ก็คงจะดีนะครับ
...
...
ดังนั้น ก็จะเหลือแค่การทัวร์บูธของ BYD ในงาน Auto Shanghai 2023 นี่ล่ะที่ผมจะพาคุณไปรู้จักกับบรรดารถของพวกเขาได้มากขึ้น แต่ก็จะขออนุญาตใส่ความเห็นส่วนตัวของผมเองลงไปด้วย เพราะถ้าไม่มีความเห็น มันก็เป็นแค่บทความ PR สิครับ
ในงานครั้งนี้ BYD ยังมีแบรนด์ในเครือมาอีก 2 เจ้า คือ Denza ซึ่งเป็นบริษัทที่ BYD หุ้นกับ Mercedes-Benz และ YangWang ซึ่งทั้งสองแบรนด์นี้จะเน้นรถราคาแพงในขณะที่แบรนด์ BYD จะเน้นราคาถูกไปจนถึงปานกลาง หลายรุ่นน่าสนใจ บางคันผมเห็นแล้วชอบ แต่บางรุ่นก็ดูไม่มีความโดดเด่น เป็นธรรมดาครับ ขืนบอกว่าสวยเด่น เด็ดทุกรุ่น ก็อวยเกินไป รถทุกค่าย มีทั้งที่ผมชอบและไม่ชอบ และผู้อ่านทุกท่านก็คิดต่างกันได้ทุกคน แต่การตอบรับของพวกเราทุกคน จะมีส่วนช่วยชี้ทางให้ BYD ได้ว่ารุ่นไหนควรมาไทย
**BYD Seagull**
รถไซส์ก๋วยเตี๋ยวเรือ 10 บาท ขนาดเล็กกว่า BYD Dolphin ลงไปอีก ไฟหน้ามีกลิ่นอายของ Lamborghini Huracan แต่ตัวเปี๊ยกป้อมน่ารัก ดูไปดูมาเหมือนเด็กโกรธพ่อ แต่ถ้าเอามาไทยได้ ผมคิดว่าน่าจะดี เพราะคนไทยสมัยนี้ไม่ได้รังเกียจรถเล็กมากเหมือนสมัยก่อน ความเล็กและเบาก็ยิ่งคล่องตัว หาที่จอดง่าย ไม่ต้องใช้มอเตอร์พลังสูงหรือแบตเตอรี่จุไฟเยอะ Seagull มีความยาวแค่ 3,780 มม. สั้นกว่า Neta V แต่กว้างกว่ากันเล็กน้อยและสูงเท่ากัน เป็นรถที่คนอ้วนสองคนนั่งข้างกันจะถูไหล่สปาร์คใจกันบ้าง แต่สาววัยรุ่นนั่งได้สบายมาก มันมีมอเตอร์ 75 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุดได้แค่ 130 กม./ชม. จึงเหมาะกับการวิ่งในเมืองและระยะใกล้ มีแบตเตอรี่ให้เลือก 2 แบบ คือลูก 30kWh วิ่งได้ไกล 305 กิโลเมตร (CLTC) และลูก 38kWh วิ่งได้ไกลขึ้นเป็น 405 กิโลเมตร (CLTC-มาตรฐานใหม่ของจีน ที่ขี้โม้น้อยกว่า NEDC แต่ขี้จุ๊กว่า WLTP ราว 10-12%)
BYD เปิดตัวรถในงานนี้โดยไม่ประกาศราคา แต่เปิดรับพรีออเดอร์ ซึ่งภายใน 24 ชั่วโมงหลังเปิดตัว ก็ได้ยอดบุ๊กกิ้งเข้ามา 10,000 คัน และมีแนวโน้มว่าจะทะยานต่อไปอีกเรื่อยๆ ผมมองว่า ถ้า BYD ขาย Dolphin ในราคา 7 แสนปลายได้ รถอย่าง Seagull ถ้าเลือกรุ่นแบตเตอรี่เล็ก พยายามกดราคาไว้ น่าจะห้าแสนบาทบวกลบได้ และรุ่นแบตเตอรี่ 30kWh นั้น หากนำมาใช้จริงในเมือง ก็น่าจะวิ่งได้ไม่ต่ำกว่า 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง สำหรับคนที่ใช้งานในเมืองส่วนใหญ่วันละไม่เกิน 60 กิโลเมตร ก็ถือว่าไม่ใช่ปัญหา สไตล์ของรถดูสมส่วนลงตัวกว่า Neta V ถ้าหากนำมาขายได้ในราคาที่ถูกแบบคนซื้อไม่คิดนาน Seagull ก็จะกลายเป็นตัวเพิ่มประชากรรถ EV ในไทยให้เร็วกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่เคยใช้รถอีโคคาร์ 1.2 ลิตรรุ่นย่อยล่างๆ มีทางเลือก EV มากขึ้นจากเดิมที่มีแต่ Neta V ในตลาด
**BYD SONG FAMILY**
ก่อนที่คุณจะอ่านชื่อมันว่า “สง” ผมจะบอกว่าอย่าไปรบกวนพระท่านเลยครับ ถ้าจะอ่านแบบไทยจริงๆ ต้องเรียกว่า “ซ่ง” เพราะมันคือหนึ่งในครอบครัวภายใต้ซีรีส์ Dynasty ซึ่งรถกลุ่มนี้ทาง BYD จะเอาชื่อราชวงศ์จีนมาตั้งชื่อรถครับ ตระกูล Song นี่คือรถ MPV/SUV/Crossover ซึ่งรถตระกูลนี้รวมๆ กันแล้วได้ยอดขายมากเป็นอันดับ 1 ของแบรนด์เขาเลยทีเดียว ตัวแรกที่เราจะพูดถึงคือ Song Max รถ MPV 6-7 ที่นั่ง ซึ่งดูจากขนาดตัวยาว 4.7 เมตรแล้ว ก็น่าจะทำให้นึกถึง Mitsubishi Spacewagon ที่เคยขายในบ้านเรานานมาแล้ว Song Max รุ่น DM-i นั้นจะใช้ขุมพลังไฮบริดเสียบปลั๊กชาร์จ โดยใช้เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร 110 แรงม้า บวกกับมอเตอร์ไฟฟ้า รุ่นถูกหน่อย ใช้มอเตอร์ 180 แรงม้ากับแบตเตอรี่ 8.3kWh ที่สามารถวิ่งแบบไฟฟ้าล้วนได้ไกล 43 กิโลเมตร (WLTP) รุ่นที่แพงหน่อย จะได้มอเตอร์ 190 แรงม้า กับแบตเตอรี่ 18.3 kWh ส่งผลให้วิ่งด้วยไฟฟ้าล้วนได้ไกล 85 กิโลเมตร (WLTP) เมื่อชาร์จไฟเต็ม บวกน้ำมันเต็มถัง Song Max จะวิ่งได้ไกล 1,090 กิโลเมตร
แต่ Song Max นั้น ผมว่าไม่น่าเอามาขายไทยเท่าไร เหตุผลหลักคือ เพราะโครงสร้างตัวถังนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2018 และเพิ่งไมเนอร์เชนจ์ไปเมื่อปี 2021 พูดง่ายๆ ก็คือ รอดูรุ่นใหม่ดีกว่า อย่าเสียเวลาขายรถที่กำลังตกรุ่น
Song Pro
ต่อมา ก็คือ SUV หน้าตาเรียบร้อยหน่อยชื่อ Song Pro ซึ่งมีขนาดตัวพอๆ กับ Honda CR-V เจเนอเรชันที่แล้ว จับตลาดกลุ่มลูกค้าทั่วไป เมื่อก่อนเคยมีขุมพลังครบทั้งเครื่องเทอร์โบ รุ่น EV และรุ่น PHEV แต่ในปัจจุบัน ถูกรวบเหลือเพียงรุ่น PHEV ขุมพลังใหม่ในชื่อ Song Pro DM-i ซึ่งใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร บวกกับมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ให้กำลังขับเคลื่อนรวม 237 แรงม้า แบตเตอรี่ 18.3 kWh เท่า Song Max รุ่นสูงๆ และสามารถวิ่งแบบใช้ไฟฟ้าล้วนได้ไกลพอๆ กัน Song Pro นี้ เป็นรถแบบที่คนไทยน่าจะชื่นชอบ ติดอยู่จุดเดียวที่ว่าตัวถังหลักของมัน เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2019 แล้ว การพยายามนำรถรุ่นนี้มาขาย ก็จะเหมือนกับ Song Max คือขายได้แป๊บเดียวก็ตกรุ่น ไม่คุ้มค่าเสียเวลาที่จะเอามันมา รอดูรุ่นใหม่ก่อนแล้วค่อยว่ากัน
Song Plus
อีกสมาชิกหนึ่งของตระกูลซ่ง ก็คือ Song Plus ฝาแฝดของ Song Pro ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นตลาดระดับสูงกว่า Song Pro ขึ้นไปอีก เน้นความอเนกประสงค์น้อยลง เน้นรูปทรงที่ดูสวยลื่นตาขึ้น จึงออกแบบตัวรถให้ยาวขึ้น กว้างขึ้น แต่เตี้ยลง Song Plus มีทั้งรุ่น PHEV ไฮบริดเสียบปลั๊ก DM-i แบ่งเป็นรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้ามอเตอร์เดี่ยว และขับเคลื่อนสี่ล้อมอเตอร์คู่ ซึ่งไอ้อย่างหลังนี้ พละกำลังรวมเครื่องยนต์กับมอเตอร์จะเรตไว้ที่ 499 แรงม้าเลยทีเดียว แน่นอนว่ารุ่นขับเคลื่อนล้อหน้าก็จะมีกำลังน้อยกว่า (307 แรงม้า) และมีแบตเตอรี่สองขนาดคือ 8.3 และ 18.3 kWh นอกจากนี้ยังมีรุ่น Song Plus EV พลังไฟฟ้าล้วน 186 แรงม้า มากับแบตเตอรี่ 71.7 kWh ซึ่งทาง BYD เคลมเอาไว้ว่าสามารถวิ่งได้ไกล 505 กิโลเมตร (แต่เป็นมาตรฐาน NEDC)
ในบรรดาตระกูลราชวงศ์ซ่งทั้งหมด Song Plus เปิดตัวหลังสุดคือปี 2020 และยังมีรูปทรงที่เหมือน ATTO3 เป่าลมให้โตขึ้นแต่ดูเพรียวเท่าเดิม การนำรถรุ่นนี้มาขายนั้น ผมก็ต้องให้ “?” เอาไว้ก่อน แปลว่า 50/50 เพราะทิศทางของ Rever Automotive ผู้แทนจำหน่ายในไทยดูเหมือนจะโฟกัสรถ EV ล้วนเพียงอย่างเดียว Song Plus ที่เป็นรุ่น EV แม้จะมีความเด่นในด้านรูปร่าง แต่ 186 แรงม้ากับรถตัวโตขนาดนี้ คงไม่ได้ขับสนุกอะไรมากนัก ถ้าจะเอามาขาย จุดเด่นจะต่างจาก ATTO3 แค่เรื่องขนาดตัวรถและการเป็นรถที่ขายมาพักใหญ่ๆ ถ้ามาไทยก็คงสดอยู่ได้ไม่นาน แต่ถ้า Rever ยอมเอารถแบบ PHEV มา (และถ้าทางจีนอนุมัติ) รุ่นปลั๊กอินไฮบริดขับสี่ 499 แรงม้า ก็น่าสน อย่างน้อยคนที่ชอบ BYD แต่ยังกลัวเรื่องต้องตบแย่งที่ชาร์จสาธารณะเวลาเดินทางไกล ก็น่าจะชอบ
แต่ถ้าจะเริ่มต้นเล่นกับของใหม่ ก็นี่เลยครับ Song L ซึ่งยังเป็น Concept Car อยู่ แต่วันที่ผมไปโรงงานเซินเจิ้น ก็เห็นรถทรงประมาณนี้เป็นซากอยู่ในบ่อ Crash Test หลายคัน ยืนยันได้ว่ามาขายจริงแน่ แต่จะเป็นช่วงซีกหลังของปี 2023 หรือนานกว่านั้น พื้นฐานของรถรวมถึงรูปทรง ดูมีความคล้ายคลึงกับ Denza N7 ซึ่งเป็นครอสโอเวอร์หลังคาเตี้ย ขนาดตัวเล็กกว่า BMW X6 ซึ่งถ้าหากมีการนำโครงสร้างและต้นกำลังขับเคลื่อนของ N7 มาใช้ บวกกับการที่ BYD บอกว่า จะมีรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็เป็นไปได้ว่า Song L จะได้มอเตอร์คู่หน้า/หลัง ที่ให้พลังรวม 530 แรงม้า
ที่บอกว่าเป็นไปได้สูง เพราะ BYD พยายามทำรถรุ่นนี้มาฆ่า Tesla Model Y ครับ ถ้าจะพกม้าตัวง่อยๆ มาคงไม่ดี โดยเฉพาะเมื่อราคาคาดการณ์นั้น จะถูกกว่า Model Y รุ่นท็อป แต่แพงกว่า Model Y ตัวล่างสุด สมมติว่า Rever ผู้แทนจำหน่ายประเทศไทยเจรจาเอาตัวขับสี่มา ใส่อุปกรณ์ให้เต็มแล้วทำราคาแถวๆ สองล้านบาทบวกลบ ผมเชื่อว่ามีโอกาสขายได้ ผมคุยกับผู้สื่อข่าวท่านอื่น เกือบทั้งหมดโอเคกับรูปทรงของตัวรถที่แอบมีก๊อปท้าย Cayenne Coupe มาหน่อยๆ แต่คันจริงดูแล้วทะมัดทะแมงมาก รถทรงแบบนี้ 530 แรงม้า..แล้วราคาสองล้าน ถ้าทำได้ก็อย่าช้า รีบวางแผนเอามาตั้งแต่วันนี้ไปเลย
**BYD HAN***
ไม่ได้ตั้งชื่อตามตัวละครเอกใน Star Wars ที่โลดโผนมาจนแก่แล้วโดนลูกเอาดาบจิ้มตาย ชื่อ Han ในที่นี้ก็ตามสไตล์ของรถซีรีส์ Dynasty ของทางค่ายที่ตั้งชื่อตามราชวงศ์จีน ก็คือราชวงศ์ฮั่น BYD Han นี้ ที่จีนจัดเป็นรถซีดานขนาดกลาง ทว่าอย่าให้คำว่ากลางหลอกคุณเพราะมันคือรถตัวยาว 4,995 มิลลิเมตรและกว้างถึง 1,910 มิลลิเมตร ใหญ่กว่า Accord กับ Camry บ้านเราอยู่นิดหน่อย Han นี่ทาง BYD เขาเคยเอามาโชว์ตัว เอาเวอร์ชันพวงมาลัยซ้ายมาให้สื่อมวลชนไทยลองขับแล้ว ในจีนจะมีให้เลือกทั้งแบบ EV และแบบ PHEV โดยในเวอร์ชัน EV นั้น ตัวเริ่มต้นจะใช้มอเตอร์พลัง 244 แรงม้า และมีแบตเตอรี่ 3 ขนาดที่ให้พิสัยทำการ 506, 605 และ 715 กิโลเมตร (CLTC) ตามลำดับ ส่วนตัวแรงในเวอร์ชัน EV จะมีพลังมากถึง 517 แรงม้า เคลมอัตราเร่ง 0-100 ภายใน 3.9 วินาที และวิ่งได้ไกล 610 กิโลเมตร
ส่วนรุ่นไฮบริดเสียบปลั๊ก ก็จะแบ่งออกเป็นรุ่น DM-i ใช้งานทั่วไป ใช้เครื่องสันดาป 1.5 เทอร์โบ 139 แรงม้าบวกกับมอเตอร์ 218 แรงม้า ขับเคลื่อนล้อหน้า และรุ่น DM-p ที่เน้นสมรรถนะ ใช้มอเตอร์หน้า 218 แรงม้าบวกกับมอเตอร์หลัง 272 แรงม้า เครื่องยนต์สันดาป 1.5 เทอร์โบตัวเดิม ซึ่งพลังรวมทั้งหมดจะอยู่ที่ 629 แรงม้า ทำอัตราเร่ง 0-100 ได้ภายใน 3.7 วินาที รุ่น DM-i เองก็จะมีแบตเตอรี่ 2 แบบที่ทำให้วิ่ง EV Mode ได้ไกล 121-242 กิโลเมตร ส่วนรุ่น DM-p มีพิสัยเดียวคือ 202 กิโลเมตร
แม้ว่าพิสัยการวิ่งต่างๆ ในจีนชอบใช้มาตรฐาน CLTC ไม่ก็ NEDC ที่ไม่ตรงต่อการใช้งานจริงเท่า WLTP แต่ลองคาดคะเนดู Han EV ตัวท็อปก็ยังน่าจะวิ่งได้ไกล 400-450 กิโลเมตรในชีวิตจริงและ Han DM-p ก็น่าจะวิ่งจากกรุงเทพฯ ไปพัทยาโดยแทบไม่ใช้น้ำมัน ดูจากความเป็นไปได้แล้ว Rever Automotive ผู้แทนจำหน่ายน่าจะเล็งไปที่รุ่น EV มากกว่า ซึ่งก็น่าเสียดายตรงที่รุ่นไฮบริดเสียบปลั๊กนั้น แม้ส่วนหน้ารถจะไม่ล้ำยุคเท่ารุ่น EV แต่ก็วิ่งด้วยไฟฟ้าได้ไกลจนน่าพอใจ และเป็นสะพานสู่โลก EV สำหรับคนที่ยังกังวลเรื่องการหาที่ชาร์จตอนวิ่งทางไกล ตัวรถก็เพิ่งเปิดตัวไปไม่ถึง 3 ปี แถมมีดีไซน์ที่ได้รับรางวัล IF Award และเป็นรถซีดานสัญชาติจีนรุ่นแรกที่ได้รับรางวัลนี้ ..เออ..ก็น่าจะได้ ผมยังมองแล้วแอบชอบเลย แต่จะเอามาขายได้ไหม? อยู่ที่ราคาครับ ถ้าทำให้สูสี Tesla Model 3 ที่เป็นรถขนาดเล็กกว่าได้ ผมว่าน่าจะปั้นยอดได้ แม้ว่าตลาดรถตัวขนาดนี้ในไทย จะไม่ได้เป็นเค้กก้อนโตนักก็เถอะ
**BYD DESTROYER 07**
ใครมันตั้งชื่อซะน่ากลัวเลยฟระ..แต่เอาจริงๆ มันคือระดับคลาสของเรือรบครับ BYD จะมีรถที่ตั้งชื่อตามเรือรบคือพวกตระกูล Warship Series ที่ตอนนี้มี Destroyer 05 กับ Frigate 07 อยู่แล้ว เวลาอ่านชื่อของเขาตามภาษาจีนเลย ก็จะอ่านว่ารุ่น จู่ว เจี้ยน 07 ซึ่งอาจจะฟังดูมงคลในสายตาคนจีนก็ได้ เจ้าจู่ว เจี้ยน 07 นี่เป็นรถที่ทาง BYD เพิ่งเปิดตัวไปในงาน Auto Shanghai แบบพร้อมรับการจอง ไม่ใช่รถต้นแบบอย่าง Song L โครงสร้างของรถและพื้นฐานวิศวกรรมเอามาจาก BYD Han โดยขนาดตัวรถและระยะฐานล้อจะสั้นลงประมาณ 20 มิลลิเมตร เอาธีมการออกแบบจาก BYD SEAL มาใช้เพื่อจับตลาดลูกค้าที่อยากได้รถดูวัยรุ่นมากกว่า Han แต่คันไม่เล็ก ขุมพลังขับเคลื่อน ก็เอามาจาก Han รุ่นที่เป็น Plug-in Hybrid ใช้เครื่อง 1.5 ลิตร พ่วงกับมอเตอร์ไฟฟ้า พิสัยทำการ 121-242 กิโลเมตร เป็นตัวคอนเฟิร์มว่าน่าจะยกมอเตอร์และแบตเตอรี่ 8.3-18.3 kWh มาจาก Han ด้วยเช่นกัน
ประเด็นก็คือ หาก BYD ในไทยต้องการจะทำตลาดรถ EV เพียงอย่างเดียว เจ้า จู่ว เจี้ยน 07 นี่ก็อาจหลุดโผ เพราะที่ผ่านมา พวกรถ Warship Series เรือรบหลวงทั้งหลายนั้น จะเน้นทำตลาดด้วยรถไฮบริดเสียบปลั๊กเป็นหลัก ถ้าเป็นแบบนั้นจริง รถพิกัดซีดานห้าเมตรของทางค่ายที่มาไทย ก็คงต้องเป็น Han EV ซึ่งน่าเสียดายในแง่ของความสด แต่เมื่อเห็นรถคันจริงด้วยตาตัวเอง ผมว่าถ้าไทยไม่ได้ใช้ จู่ว เจี้ยน 07 ก็ไม่ได้ถือว่าเราพลาดอะไรไปมากหรอก เพราะ Han ถึงจะเก่ากว่า แต่ด้านเทคนิค ต่างกันไม่มาก และรูปทรงของรถยังดูทันสมัยได้สัดส่วนไม่แพ้กัน และ Han ยังมีเส้นสายในแบบที่จริงจัง ขี้เล่นน้อยกว่า คนไทยอาจจะชอบรถเล็กที่หน้าตาน่ารัก แต่พอเป็นรถตัวโตขึ้น ลูกค้าไทยจะชอบบุคลิกขรึมๆ ดุๆ มากกว่า
**BYD QIN**
เป็นอีกรุ่นจากซีรีส์ราชวงศ์จีนกับรุ่น “ฉิน” ซึ่งเป็นรถซีดานพิกัดใกล้เคียง Honda Civic แต่ตัวโตกว่ากันนิดหน่อย มีให้เลือกทั้งรุ่น Qin Plus DM-i ซึ่งเป็นรถไฮบริดเสียบปลั๊ก ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร 110 แรงม้าไม่มีเทอร์โบ บวกกับมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีความแรงสองระดับ คือ 180 กับ 197 แรงม้า และมีพิสัยวิ่งด้วย EV Mode 2 ระดับคือ 55 และ 120 กิโลเมตร คุณผู้อ่านสังเกตดูได้ ความพยายามในการขายทุกอย่างของจีน คล้ายกับ Tesla ตรงที่ ถ้ารถมันแพงเพราะแบตเตอรี่ เราก็ทำเวอร์ชันแบตเล็กสำหรับคนที่ไม่ได้วิ่งไกล ราคารถก็ถูกลง คนซื้อตัดสินใจง่าย ทุกรุ่นของเขามีความจุแบตเตอรี่กับกำลังขับให้เลือกตามงบและการใช้งาน ส่วนรุ่น EV คือ Qin Plus EV นั้น ก็จะมีมอเตอร์ 2 ระดับความแรง คือ 136 และ 204 แรงม้า และมีแบตเตอรี่สามขนาด ที่ทำให้วิ่งได้ไกล 410, 510 และ 610 กิโลเมตร โดยตัวท็อป 204 แรงม้าเท่านั้นจะได้แบตจุไฟเยอะสุด
QIN Plus ก็นับเป็นหนึ่งในรถยอดนิยมของจีน โมเดลปี 2023 เพิ่งได้รับการอัปเดตไป และเปิดรับจองแค่ 5 วันก็ได้ตัวเลขยอดจองมาแล้ว 32,000 คัน ก็ไม่น่าแปลกใจที่ผมผ่าน 3 เมืองหลักในจีน จะเห็นรถรุ่นนี้วิ่งเยอะมาก แต่ถ้าถามว่าน่าเอารถรุ่นนี้มาขายไหม ผมกลับมองว่าตัวรถมันไม่มีความน่าดึงดูดใจเท่า Seal ครับ และแนวโน้มของรถพิกัด Civic, Corolla ในไทย ยอดมันน้อยลงเพราะคนกลุ่มนี้หันไปคบพวก SUV/Crossover กันเยอะ ซึ่ง ATTO3 ในปัจจุบันก็กินเงินลูกค้ากลุ่มนี้อยู่แล้ว และระหว่าง QIN Plus กับเจ้า Seal ไอ้อย่างหลังดูล้ำสมัยกว่าเห็นๆ แบรนด์เพิ่งเกิดในไทย ความสามารถในการสต๊อกอะไหล่ของบริษัทก็ยังตามยอดขายไม่ทัน อย่าเอารถพิกัดใกล้เคียงกันมากๆ มาซ้ำกันเลยครับ
***BYD TANG***
สมาชิกทีมราชวงศ์อีกหนึ่ง กับ “ถัง” ซึ่งเป็น SUV ขนาดตัวโตกว่า CR-V 2023 ทุกมิติ และมีทั้งรุ่น 7 ที่นั่ง กับรุ่น 6 ที่นั่งซึ่งเบาะแถวสองจะแยกออกจากกัน มีทั้งขุมพลังไฮบริด PHEV ในรุ่น DM-i ใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตรเทอร์โบ บวกกับมอเตอร์ไฟฟ้า สามารถวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าได้ไกล 112 กิโลเมตร และรองรับการชาร์จ 40kW รุ่นนี้ทำมาไว้สำหรับคนที่ชอบขับไกล เพราะน้ำมันเต็มถังและแบตเตอรี่เต็มหม้อ BYD เคลมว่าสามารถวิ่งได้ไกล 1,200 กิโลเมตร ส่วนรุ่นที่นำมาโชว์ในงานเป็นไฮไลต์คือ TANG EV ซึ่งมีทั้งเวอร์ชันมอเตอร์เดี่ยวขับหน้า 245 แรงม้า และ 2 มอเตอร์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ใช้แบตเตอรี่จุไฟ 108 kWh ทั้งคู่ ถ้าอยากเน้นวิ่งไกล ต้องรุ่นมอเตอร์เดี่ยว เพราะสามารถทำระยะได้ไกล 730 กิโลเมตร (แน่นอนว่ามาตรฐานวัด CLTC ไม่ได้ตรงต่อการใช้งานจริงนัก) ส่วนรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อนั้น จะเน้นแรงสะใจด้วยพละกำลังมากถึง 517 แรงม้า แต่การที่น้ำหนักมากขึ้น ทำให้พิสัยการวิ่งสั้นลงเหลือ 635 กิโลเมตร
ชื่อของ BYD Tang เริ่มเป็นที่รู้จักระดับสากลในปี 2022 เมื่อเจ้าชายวิลเลียมส์ แห่งราชวงศ์อังกฤษ เสด็จเยือนหมู่เกาะบาฮามาส์พร้อม แคทเธอรีน มิดเดิลตัน ทรงขับรถรุ่นนี้ในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวและเยี่ยมชมบนเกาะ ส่วนการทำตลาดในไทยนั้น ก็นับว่ามีโอกาส เพราะปัจจุบัน BYD ยังไม่มีรถ SUV ขนาดใหญ่ เอาไว้ต่อกรกับรถระดับ Toyota Fortuner แต่ยอดขายอาจไม่ได้เดินดีแบบเทน้ำเทท่า เพราะกลุ่มลูกค้ารถขนาดใหญ่แบบนี้ในไทย ยังยึดติดกับแบรนด์ที่พวกเขาคุ้นเคยมากกว่า หากจะเน้นการสร้างชื่อหรือเพิ่มยอดขายรวมให้ค่ายเพื่อให้ได้พาดหัวข่าวสวยๆ ผมว่าทาง BYD เทโฟกัสไปขาย SUV ที่ราคาถูกกว่า ขนาดเล็กกว่า Tang น่าจะดีกว่า
**BYD Frigate 07**
สมาชิกตัวโตสุดของตระกูล Warship Series ซึ่งมีเทคนิคพื้นฐานของตัวรถมาจาก BYD Tang และยังมีขนาดตัวรถใกล้เคียงกัน จุดที่แตกต่างคือ Frigate 07 เพิ่งลงขายจริงเมื่อปลายปี 2022 นี่เอง และภาพลักษณ์ของ Frigate จะออกห่างจากความเป็นรถครอบครัวมากขึ้น เน้นเทคโนโลยีและสมรรถนะมากขึ้น Frigate 07 เป็นรถรุ่นแรกของค่าย BYD ที่ได้ใช้ช่วงล่างปรับความแข็งแบบ FSD Variable Frequency และช่วงล่างหลังอิสระโฟร์ลิงค์แบบใหม่ มีขุมพลังแบบ PHEV เท่านั้น แต่แบ่งออกเป็นรุ่น DM-i ปกติ กับรุ่น DM-p เน้นสมรรถนะ ทั้งสองรุ่นใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในชื่อชวนเรียกใช้บริการว่า “เสี่ยวหยุน” ซึ่งก็คือเครื่อง 1.5 ลิตรตัวเก่งที่อยู่ในรถหลายรุ่นของทางค่ายนั่นเอง ในใต้ฝากระโปรงของ Frigate 07 เป็นเวอร์ชันเทอร์โบ 139 แรงม้า แต่ในด้านของพลังจากมอเตอร์ไฟฟ้านั้น DM-i จะมีมอเตอร์ 197 แรงม้าตัวเดียว ขับหน้า แต่ DM-p จะมีมอเตอร์หลัง 204 แรงม้าเพิ่มมาอีก และมีแบตเตอรี่สองระดับความจุให้เลือก ซึ่งจะให้ระยะวิ่ง EV Mode ได้ไกล 100 หรือ 170 กิโลเมตร
ในแง่ของความจ๊าบในรูปทรงและดีไซน์ ผมมองว่า Frigate ไม่ได้สวยแบบเซ็กซี่อย่าง Tang แต่สวยในแบบสาวซ่าพร้อมตบ ตัวรถเองก็ยังใหม่อยู่มาก ยังมีเวลาที่จะวิจัยเวอร์ชันพวงมาลัยขวา และเอามาขายเมืองไทยได้ทันก่อนที่ตัวรถจะมีการไมเนอร์เชนจ์ ขึ้นอยู่กับว่าทิศทางของ Rever Automotive จะอยากไปในทางที่ขายแต่รถ EV อย่างเดียว หรือขายทุกอย่างที่มีแบตและชาร์จได้ ถ้าเป็นอย่างหลัง ผมคิดว่าถ้าเลือกได้รุ่นเดียวระหว่าง Tang กับ Frigate ผมเลือกจะวัดดวงกับ Frigate มากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเพราะรูปทรงที่ดูดุและใหญ่..บุคลิกที่คนใช้รถใหญ่ในไทยชื่นชอบ
**DENZA และ YangWang**
นอกจากรถกระแสหลักอย่าง BYD แล้ว แบรนด์ในเครือที่เน้นรถระดับราคาสูง ก็มีการจัดบูธแยกออกมาต่างหาก อย่างเช่น Denza ซึ่งอ่านออกเสียงแบบจีนว่า “ถังซวื่อ” ก็นำรุ่น D9 ที่เคยมาโชว์ตัวในงาน BIMS2023 มา แต่ไม่ใช่แค่รุ่นธรรมดา เพราะคราวนี้ คือเวอร์ชันพิเศษ 4 ที่นั่ง ที่สร้างมาเพื่อฆ่า Lexus LM300h เปิดตัวในชื่อ D9 Premier Founding Edition ซึ่งจะได้สีทูโทนแบบพิเศษ ซึ่งประกายสีจะเปลี่ยนไปตามทิศทางการส่องของแสง ภายในรถมีจอทีวีขนาดใหญ่ D9 นั้นมีทั้งเวอร์ชัน PHEV ซึ่งวิ่งแบบ EV Mode ได้ไกล 50-180 กิโลเมตร และรุ่น EV พลังไฟฟ้าล้วน ซึ่งมีทั้งแบบขับเคลื่อนล้อหน้า 312 แรงม้า วิ่งได้ไกล 620 กิโลเมตร และเวอร์ชันขับสี่ 374 แรงม้า ที่วิ่งได้ไกล 520 กิโลเมตร
DENZA D9 นี้ ผมคงไม่ต้องบอกว่ามีโอกาสมาไทยสูงมาก เพราะจากงานมอเตอร์โชว์ในบ้านรถ มีผู้คนให้ความสนใจมามุงดูกันหนาตา ซึ่งถ้าอยากได้ ก็ต้องรอกันยาวหน่อยเพราะปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาเวอร์ชันพวงมาลัยขวา ซึ่งคงต้องอาศัยเวลาอีก 1 ปีเป็นอย่างต่ำกว่าที่จะออกมาขายได้ ยอดขายในจีน ยังไม่ถือว่าเยอะนัก เพราะนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2022 จนถึงปัจจุบัน มียอดสั่งรวมประมาณ 70,000 คัน ด้วยความที่เป็นรถตลาดเฉพาะกลุ่ม และราคาไม่ถือว่าถูกนัก
ส่วนรถมาดค่อมดูโหดๆ อีกคัน คือ DENZA N7 ซึ่งเป็นครอสโอเวอร์คันโต มีขนาดตัวรถอยู่ตรงกลางระหว่าง BMW X4 และ X6 และใช้โครงสร้าง e-Platform เวอร์ชัน 3.0 ที่ทาง BYD พัฒนามาใหม่ล่าสุด ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าล้วน มีทั้งแบบมอเตอร์เดี่ยว 312 แรงม้า และมอเตอร์คู่ขับเคลื่อนสี่ล้อ 530 แรงม้า มีช่วงล่างแบบถุงลม ปรับความหนืดได้ และปรับความสูงอัตโนมัติตามเงื่อนไขการขับขี่ ภายในจัดเต็มด้วยวัสดุอุปกรณ์แบบพรีเมียม จอกลางขนาดใหญ่ ระบบขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติ และเซฟตี้แบบเต็มขั้น รุ่น 530 แรงม้านั้นจะได้แบตเตอรี่ 82 kWh หลังจากเปิดตัวในงาน Auto Shanghai รอบสื่อมวลชน โดยที่ยังไม่ได้ประกาศราคา ก็มียอดจองเข้ามาแล้ว 5,367 คันภายใน 6 ชั่วโมงหลังเปิดรับออเดอร์..คิดว่าพวกเราน่าจะรู้แล้วล่ะว่าประเพณีเปิดรถ เปิดออเดอร์ ไม่เปิดราคา มันมาจากแถวๆ ไหน
ถัดมากที่อีกบูธหนึ่ง คือรถแบรนด์ YangWang อ่านออกเสียงจีนว่า “อย่างว่าง” แต่พยายามดัดให้มีเสียง “อ” แซมในพยางค์ท้ายหน่อย ในงาน Shanghai Auto Show ครั้งนี้ ท่าน CEO หวัง ฉวน ฝู แห่ง BYD มาร่วมงานเปิดตัวสำหรับการขายจริงของ YangWang U8 SUV ยักษ์ยาว 5.3 เมตรอันน่าแปลกประหลาดที่สุดที่เราเคยเห็นจากจีนยุคใหม่ ด้วยค่าตัวแพงระยับถึง 1.1 ล้านหยวน U8 กลายเป็นรถแบบผลิตจากสายการผลิตโรงงานสัญชาติจีนที่มีราคาแพงที่สุดไปในทันที แต่ความสามารถของรถนั้นก็น่าดูชม มีรุ่นย่อยให้เลือก 2 แบบ คือ Premium และ Off-Road Master Edition ซึ่งอย่างหลังนี้ จะมี Snorkle สำหรับหายใจเวลาลุยน้ำสูงมาให้ แน่นอน นั่นแปลว่ารถรุ่นนี้มีเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งทำหน้าที่ป้อนไฟให้แบตเตอรี่อีกทีนึง มันคือรถ EV เสียบปลั๊กชาร์จแบบมีเครื่องยนต์ปั่นไฟเพื่อเพิ่มพิสัยทำการนั่นเองครับ โดยถ้าชาร์จแบตเตอรี่เต็ม และเติมน้ำมันเต็มถัง 75 ลิตร U8 สามารถวิ่งได้ไกล 1,000 กิโลเมตร ส่วนระยะวิ่งโดยใช้พลังไฟฟ้าอย่างเดียว อยู่ที่ 180 กิโลเมตร
U8 ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนที่ล้อ ข้างละ 1 ตัว หรือที่เรียกว่าระบบ E4 ซึ่งเมื่อนับกำลังรวมแล้วเคลมได้ 1,180 แรงม้า ช่วงล่างแบบ Di-Sus ระบบถุงลมปรับแข็งอ่อนได้ ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้ปั่นไฟ ก็เป็นเครื่องเบนซินขนาด 2.0 ลิตร และที่สำคัญคือ มันลอยน้ำได้ด้วยครับท่านผู้ชม
YangWang U9
ส่วนคันสุดท้ายที่จะไปดูกันในวันนี้ คือ YangWang U9 ซูเปอร์คาร์พลังไฟฟ้า ซึ่งถึงแม้ด้านหน้ารถจะดูคุ้นๆ เหมือนอะไรจากเกาะอังกฤษ แต่เทคโนโลยีภายในนั้นไม่ใช่ YangWang U9 ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าที่มีพลัง 280 แรงม้า และแรงบิด 320 นิวตันเมตร อาจจะฟังดูแล้วไม่เท่าไร แต่ว่ามันใช้มอเตอร์ 4 ตัวนะครับ..นั่นก็ทำให้มีแรงม้ารวมประมาณ 1,100 ตัวเลยทีเดียว และเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ E4 ตัวเดียวกันกับใน U8 ซึ่งสามารถสั่งเพิ่ม/ลด/ดับ กำลังขับในล้อแต่ละข้างได้อย่างอิสระ ระยะพิสัยวิ่งต่อการชาร์จ 1 ครั้งเต็ม อยู่ที่ 700 กิโลเมตร (CLTC) และสามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ภายใน 2 วินาที U9 นั้นจะมีราคาราว 1 ล้านหยวน หรือ 150,000 US Dollar ซึ่ง นับว่าแพงเป็นบ้าสำหรับรถสัญชาติจีน แต่ถูกมากถ้าเทียบกับการได้ขับรถม้าพันกว่าตัว รอกำหนดลงขายจริงกับราคาในเร็วๆ นี้ ผมคิดว่าคงไม่ได้ทำออกมาเอาเท่แบบ E-Seed GT ครับ เพราะตอนไปเยี่ยมชมโรงงาน ผมเห็นรถทดสอบพรางตัวสัดส่วนและขนาดเหมือนเจ้า U9 นี้ วิ่งทดสอบอยู่ใน Facility ของ BYD ที่เซินเจิ้นด้วย
และนี่ก็คือทั้งหมดของ BYD และรถแบรนด์ในเครือ ซึ่งผมจัดมาให้ชม จากงาน Auto Shanghai 2023 มหกรรมรถยนต์ขนาดมหึมา ที่มีเนื้อที่การจัดแสดงโตกว่างานในบ้านเรา 6-8 เท่าตัวเลยทีเดียว จะเห็นได้ว่า BYD ยังมีของน่าสนที่อาจเป็นที่ถูกตาต้องใจคนไทยอีกมากครับ หลายตัวผมก็เชียร์ว่าให้มา แต่ว่ามาทั้งที ก็อย่ามาแต่รถ ไม่มีอะไหล่ซ่อมรองรับ หรือต้องรอกันหลายเดือนแบบที่ลูกค้า ATTO3 เจอกันหลายเคส ถนนประเทศไทยยังไงก็ไม่พ้นอุบัติเหตุครับ มีของตุนไว้ ให้ลูกค้าอุ่นใจก่อนก็ดี แบรนด์นี้ยังมีโอกาสโตได้อีกมาก ถ้าเริ่มต้นให้ถูกต้องครับ
สัปดาห์หน้า เดี๋ยวผมจะพาไปชมรถจีนที่น่าสนใจรุ่นอื่นบ้างครับ แน่นอน..ไปครั้งเดียว ต้องเอาให้คุ้มสิ จริงไหม.
Pan Paitoonpong