นอกจาก EQXX ของ Mercedes-Benz ที่วิ่งได้เกิน 1,000 กิโลเมตรแล้ว ล่าสุด นักศึกษามหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ในออสเตรเลีย ลงมือสร้างรถยนต์ที่สามารถเอาชนะกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ และทำลายสถิติกินเนสส์บุ๊ก สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และวิ่งได้เร็วที่สุด ด้วยระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยไม่มีการหยุดชาร์จไฟแต่อย่างใดทั้งสิ้น นี่คือรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Sunswift 7 ที่ลากยาวเป็นพันกิโลเมตร โดยไม่มีการแวะชาร์จไฟ พลังงานหลักที่ได้มาจากแสงแดด เกิดจากการออกแบบแผงโซลาร์เซลล์ประสิทธิภาพสูงที่ติดอยู่ทั่วทั้งตัวถัง 

...

รถยนต์ไฟฟ้า Sunswift 7 ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ได้รับการยืนยันและรับรองจาก Guinness Book of Records โดยสามารถวิ่งได้ไกล 1,000 กิโลเมตร ด้วยความเร็วเฉลี่ย 84.25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กลายเป็นยานพาหนะไฟฟ้าที่วิ่งถึง 1,000 กิโลเมตร ด้วยระยะเวลาที่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง ทำลายสถิติความเร็วสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทดลองวิ่งระยะไกลลงอย่างราบคาบ 

รถยนต์ไฟฟ้า Sunswift 7 เป็นโครงการสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ล่าสุดได้รับการยืนยันและรับรองจากสถาบัน Guinness Book of Records เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจสำหรับมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ รถยนต์ไฟฟ้า Sunswift 7 ใช้โครงสร้างและวัสดุแผงตัวถังคาร์บอนไฟเบอร์ มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศต่ำมากเพียงแค่ 0.095Cd และมีราคาสูงถึง 500,000 ปอนด์ โดยได้รับการพัฒนาภายใต้การอุปถัมภ์ช่วยเหลือของ Richard Hopkins อดีตหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ Red Bull F1 Team รวมถึงยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทชั้นนำต่างๆ เช่น Audi, IBM และ Bilstein ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศที่ต่ำนั้น หมายความว่าแบตเตอรี่ 38kWh ของ Sunswift สามารถวิ่งได้เต็ม 1,500 กิโลเมตร โดยไม่จำเป็นต้องชาร์จใหม่!! 

...

คาร์บอนไฟเบอร์ที่ใช้เป็นเปลือกตัวถังถูกปรับให้อากาศไหลผ่านได้อย่างเป็นระเบียบ ความลื่นไหลของรูปทรง ทำให้มันไม่ต้านอากาศ ช่วยลดความสิ้นเปลืองพลังงานที่เกิดจากการวิ่งแหวกกระแสลมถึง 15-20% นั่นคือผลงานของ McConaghy Boats ผู้สร้างที่อยู่เบื้องหลัง Wild Oats XI ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือยอชต์แข่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาล เรือแข่งลำดังกล่าวมีระบบอากาศพลศาสตร์ยอดเยี่ยมจนคว้าชัยชนะในการแข่งขันระยะไกล จากซิดนีย์ถึงโฮบาร์ตถึงเก้าครั้ง 

...

ระบบกันสะเทือนซึ่งผลิตขึ้นเองโดยแบรนด์ Bilstein ในออสเตรเลีย จะต้องเบามากพอที่จะไม่เพิ่มน้ำหนักให้กับรถที่ถูกจำกัดน้ำหนักให้ไม่เกิน 500 กิโลกรัม ช่วงล่างของรถมีการปรับแต่งอย่างแม่นยำ เพื่อทำให้ Sunswift อยู่ในระดับความสูงที่คงที่ เพื่อประสิทธิภาพการวิ่งที่เหมาะสมและสมบูรณ์แบบที่สุด ช่วงล่างยังแข็งแกร่งพอที่จะรองรับผิวถนนขรุขระในออสเตรเลีย การเปลี่ยนแปลงมุมแคมเบอร์ที่โดยทั่วไปแสดงให้เห็นถึงทฤษฎีของการสร้างแรงยึดเกาะ แต่ Bilstein ปรับจูนช่วงล่างของ Sunswift ไม่ให้แข็งมากจนเกินไป 

...

แต่ทำไมต้องออกแบบระบบกันกระเทือนในระดับเดียวกับรถแข่ง ทั้งๆ ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานโคตรสะอาด? เหตุผลก็เป็นเพราะว่า Sunswift 7 ได้รับการออกแบบมาสำหรับลงชิงชัยในรายการ World Solar Challenge ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ 2 ปี ในออสเตรเลีย Solar Challenge เป็นการแข่งขันที่จัดขึ้นสำหรับรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ วิ่งแข่งกันจากจุดสูงสุดของทวีปออสเตรเลียไปยังจุดต่ำสุด โดยขับตรงผ่านชนบทอันห่างไกล ไปตามทางหลวงปกติของออสเตรเลีย และตามชื่อของรายการแข่งขัน มันหมายถึงการเดินทางจากดาร์วินไปยังแอดิเลด-การเดินทางกว่า 2,890 กิโลเมตร ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แต่เพียงอย่างเดียว

เมื่อการแข่งขันในปี 2021 ถูกยกเลิกด้วยเหตุผลบางประการ ทีมงานจึงมองหาความท้าทายอื่นๆ เห็นได้ชัดว่าเป้าหมายคือการวิ่งทำระยะทางให้เกิน 1,000 กิโลเมตร ในเวลา 10 ชั่วโมง ทำให้ได้ความเร็วเฉลี่ย 100 กม./ชม. แต่อุปสรรคต่างๆ เช่น ยางรั่วและปัญหาเกี่ยวกับซอฟต์แวร์การจัดการแบตเตอรี่ ก็มีมาให้แก้ไขอย่างต่อเนื่อง ถึงกระนั้น Sunswift 7 ก็สามารถวิ่งได้ 1,000 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเพียงแค่ 11 ชั่วโมง 52 นาที 8 วินาที ซึ่งเป็นสถิติโลกใหม่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รุ่นใหม่ล่าสุด.