จากเหตุการณ์ในคราวนั้น มันสะท้อนให้เห็นว่าในยุคนี้สมัยนี้การจะถอยรถสักคันมันคงไม่ได้เป็นเรื่องยากสักเท่าใด ถึงขนาดที่ว่าคนขับแทบยังไม่ทันได้รู้จักรถของตัวเองเลยด้วยซ้ำ ก็หามาครอบครองได้เสียแล้ว
คำง่ายๆ 2 พยางค์ 'รันอิน' แต่มันแบกคำถามต่างๆ นานาไว้จนมากมาย ไม่ว่าจะต้องทำการรันอินหรือไม่ รันอินที่ระยะทางเท่าไหร่ดี แล้วควรค่อยๆ ขับ หรือขับแบบเต็มเหนี่ยวไปเลย ซึ่งก็ต้องบอกว่าคำตอบของมันที่ถูกต้องจนเป็นทฤษฎีหรือหลักการให้ยึดตามน่ะมันยังไม่มี!! ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่ใจล้วนๆ
แต่เอาเป็นว่าไทยรัฐออนไลน์จะขอหยิบยกแนวทางตามความนิยมที่ปฏิบัติสืบต่อส่งทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นรูปแบบการรันอินชนิด 'เพลย์เซฟ' หรือแบบ 'ปลอดภัยไว้ก่อน' นั่นแหละขึ้นมานำเสนอ
รันอิน? คืออะไร ไหนใครไม่เคยได้ยิน
คำว่า 'รันอิน' มีที่มาจากความคิดที่ว่า ภายในเครื่องยนต์ หรือชิ้นส่วนบางชิ้นต้องการระยะเวลาในการปรับตัวให้เข้าที่เสียก่อนที่มันจะพร้อมเริ่มทำงานจริงๆ อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งโดยมากชิ้นส่วนเหล่านี้เรียกร้องระยะทางประมาณ 1,000 กม.แรกตั้งแต่ออกรถจากศูนย์ ที่มันอยากบอกว่า 'เบาๆ หน่อยครับเจ้านาย'
ความเชื่อยุคใหม่
แต่ในระยะหลังก็มีความเชื่อคลื่นลูกใหม่ไม่ว่าจากสายข่าววงในแห่งหนใดก็คงไม่มีใครสามารถชี้เป้า หล่นความคิดเห็นต่างๆ นานาว่าการรันอินมันกลายเป็นการกระทำอันตกยุค เพราะสมัยนี้เขารันอินมาจากโรงงานกันหมดแล้ว ซึ่งก็อาจจริงดังที่ว่า แต่คำถามคือ โรงงานเขาจะใจดีรันอินรถเป็นหมื่นๆ คันได้ทั้งหมดจริงๆ หรือ?
แต่หากใครคิดว่าเป็นคน 'รักตัว กลัวรถพัง' ก็ขอแนะนำให้ทำตามผู้หลักผู้ใหญ่ในอดีตก็ไม่น่าจะเสียหายตรงไหน เพราะที่แน่ๆ การรันอินก็ไม่เคยทำให้รถคันไหนพัง หรือว่าไม่จริง!
...
รันอิน ทำแบบนี้ ดูแล้วดีที่สุด
สำหรับวิธีการรันอินมันไม่ได้มีการถ่ายทอดผ่านคัมภีร์เล่นไหน แต่ส่วนใหญ่มาจากปากต่อปาก ทำได้ง่ายๆ โดยพยายามควบคุมสติและฝ่าเท้าที่สัมผัสคันเร่งในช่วง 1,000 กม. แรกให้ได้ เมื่อผ่านพ้นก็ถือว่า 'คุณสอบผ่าน'
ในช่วงระยะเวลารันอิน ไม่ควรใช้ความเร็วและรอบเครื่องยนต์คงที่เป็นระยะเวลานานๆ เพราะมีความเชื่ออย่างเป็นมั่นเหมาะว่า มันจะเกิดการเสียดสีขั้นรุนแรงต่อเนื่องภายในเครื่องยนต์ อันก่อให้เกิดการสึกหรอมากผิดปกติ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ค่อยนิยมนำรถที่ยังไม่พ้นรันอินไปเที่ยวซิ่งต่างจังหวัดกัน
สิ่งที่ต้องห้ามและไม่ควรอย่างยิ่ง คือหลีกเลี่ยงการลากรอบจนสูงเกินจำเป็น สักไม่เกิน 2,500 รอบ/นาที กำลังสวย ส่วนบรรดาเกียร์อัตโนมัติทั้งหลายแหล่ อย่าริอ่านเล่นการคิกดาวน์เกียร์บ่อยๆ เพราะมันไม่ส่งผลดีต่อระบบเกียร์แน่ๆ
การบรรทุกหนักควรหลีกเลี่ยงเช่นเดียวกัน อดใจให้พ้นรันอินเสียก่อนน่าจะเป็นผลบวกที่สุด เหมือนภาษิตไทยที่ว่า 'อดเปรี้ยวไว้กินหวาน' นั่นแหละ เกิดใจร้อนรีบเร่งไป โรงงานประกอบนอตตัวไหนมาไม่แน่นละก็ ทางใครทางมันละทีนี้
ระบบเบรก รันอินที่ต้องการ
นอกเหนือจากเครื่องยนต์ที่เป็นส่วนสำคัญแล้ว ระบบเบรกไม่ว่าจะรถใหม่ หรือรถที่เพิ่งเปลี่ยนผ้าเบรก ก็ล้วนต้องการรันอินระบบเบรกทั้งนั้น เพื่อให้ผ้าเบรกปรับสภาพเข้ากับจานเบรกเสียก่อน ระยะรันอินระบบเบรกก็ราวๆ 200-300 กม. สำหรับการใช้งานจริง ในช่วงนี้ไม่ควรเบรกรุนแรง หรือหยุดรถอย่างกะทันหันอย่างทันทีทันใด
ยางรถยนต์ ก็ขอเอี่ยวเรื่องรันอิน
ยังไม่หมดแค่นั้น ยางรถยนต์ก็ต้องการรันอินเช่นกัน เพราะเมื่อสัมผัสพื้นครั้งแรก ยางรถยนต์ต้องการเวลาสำหรับการปรับโครงสร้างให้เข้าที่กับพื้นถนน รับรู้ถึงน้ำหนักและลักษณะการใช้งานของตัวรถ
ในระยะรันอินของยางอยู่ที่ 500 กม.แรก ไม่ควรใช้ความเร็วมากเกินไป อยู่ระหว่าง 100-120 กม./ชม. ถือว่ากำลังดี และที่สำคัญอย่าทำเท่แบบไม่ยั้งคิดด้วยการออกตัวด้วยความรุนแรงถึงขั้นล้อฟรี เพราะมันไม่เท่นักหรอกแถมงานจะถามหาเอาได้
...
ไม่ว่าอย่างไรก็ดี สำหรับเทคนิกการรันอิน ยังคงเป็นความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละคน เพียงแต่ว่ามันมีแนวโน้มและเหตุผลที่ใครจะคิดเป็นทางไหน แต่เชื่อว่าสำหรับใครหลายๆ คนแล้ว ของที่ยังใหม่สดซิงไม่เคยผ่านการใช้งาน ในช่วงแรกๆ ก็ควรให้มันค่อยเป็นค่อยไปไม่จริงหรือ...