ในปีนี้ ถือเป็นปียามยากของทั้งตลาดรถยนต์ภายในประเทศและอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ เพราะยอดขายหดหาย เนื่องจากกำลังซื้อเหือดหนัก เพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่สำคัญสถาบันการเงินยังคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ทำให้การขายรถเป็นไปอย่างฝืดเคือง

แต่ขณะเดียวกันเมื่อหันมามองสถานการณ์การแข่งขันของตลาดรถยนต์ในประเทศ กลับพบว่ามีการแข่งขันที่รุนแรง เพราะนอกจากเป็นการช่วงชิงส่วนแบ่งก้อนขนมเค้กที่หดแฟบลงแล้ว ยังมาจากการที่ค่ายรถยนต์จีนเพิ่มการรุกหนักมากขึ้น มีค่ายรถยนต์จีนหน้าใหม่ๆแห่กันเข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยมีอาวุธเด็ดคือการทำตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% (BEV) เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน

การรุกหนักของค่ายรถจีน โดยเฉพาะการทำสงครามราคา นอกจากจะป่วนค่ายรถญี่ปุ่นแล้ว ยังส่งผลสะเทือนไปถึงค่ายรถจีนรายอื่นๆที่ต้องหันมาเล่นส่งครามราคาเพื่อความอยู่รอด ทำให้ตลาดรถบ้านเรายิ่งแข่งดุ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งถือเป็นเอตทัคคะของอุตสาหกรรมยานยนต์บ้านเรา เปิดเผยว่าจากยอดขายสะสมของรถยนต์ในประเทศช่วง 9 เดือนแรก ปีนี้ (ม.ค.–ก.ย.2567) ถือว่าสาหัสมาก

โดยเฉพาะยอดขายรถกระบะที่ลดลงจากปีที่แล้วอีกกว่า 82,000 คัน ขณะที่ปีที่แล้วก็ลดลงจากปี 2565 แล้วกว่า 120,000 คัน รวม 21 เดือน ยอดขายรถกระบะในบ้านเราได้ลดลงไปแล้วกว่า 262,500 คัน เทียบได้ระดับน้องๆ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพราะสถาบันการเงินไม่ให้กู้ซื้อรถ เนื่องจากการยึดรถกระบะจากผู้กู้ที่ค้างชำระค่างวดมากกว่า 3 งวด เมื่อนำรถยึดออกมาขาย ก็ขาดทุนมาก จึงเข้มงวดมากขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2565 เพราะหนี้ครัวเรือนสูง เศรษฐกิจของประเทศก็ขยายตัวในอัตราต่ำ

สาเหตุที่ผู้ซื้อรถกระบะค้างชำระค่างวดจนเป็นหนี้เสีย ก็เพราะวิกฤติโควิด-19 ระบาดจนมีการล็อกดาวน์

“ผมจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (หรือ กกร. ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) ที่เสนอให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือ โดยจัดตั้งกองทุนเข้ารับความเสี่ยงผลขาดทุนตามจริง จากรถยึดรถกระบะแต่ไม่เกินคันละ 50,000 บาทของรถกระบะที่ซื้อไปประกอบธุรกิจ โดยมีเงื่อนไขว่าสถาบันการเงินรวมกันต้องอนุมัติให้กู้เงินซื้อรถกระบะเพิ่มขึ้นปีละ 100,000 คัน เพื่อช่วยให้บรรดาเอสเอ็มอี (ธุรกิจขนาดกลางและย่อม) มีเครื่องมือหากินและช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต รัฐบาลมีรายได้จากภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นจากซัพพลายเชนที่มีมากมาย ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจะได้เติบโต สร้างงานสร้างรายได้ให้คนทำงานมากขึ้นเป็นวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น”

สำหรับทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2568 โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. มองว่าธุรกิจรถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน (รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง–ICE) ขึ้นอยู่กับการช่วยเหลือของรัฐบาลต่อรถกระบะ ถ้ารัฐบาลช่วยเหลือรถกระบะซึ่งใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศกว่า 90% ตามนโยบาย “โปรดักแชมเปียน” ส่งออกไปทั่วโลก ยานยนต์ในประเทศก็จะกลับมาเติบโตกว่า 50%

“ผมมองว่ารถยนต์นั่งเครื่องยนต์สันดาปภายในยังคงไปต่อได้ด้วยรถยนต์ไฮบริดที่ได้รับความนิยมมากขึ้นจากราคาที่จับต้องได้ เพราะเครื่องยนต์มีขนาดเล็กลง ไม่ต้องกังวลเรื่องการหาที่ชาร์จแบตเตอรี่ช่วงเดินทางและเทศกาลต่างๆ ที่รถยนต์ไฟฟ้าไปรวมกันเป็นจำนวนมาก”

ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้ายังคงเติบโตทั้งจากที่ผลิตในประเทศตามเงื่อนไขของมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง EV3.0 และ EV3.5 ของรัฐ ซึ่งต้องผลิต 1.5 เท่าของรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาขายในปี 2565 และ 2566 ที่มียอดจดทะเบียนทั้ง 2 ปี เกือบ 90,000 คัน ปีหน้าคงต้องผลิตชดเชยเกือบ 100,000 คัน ตามโครงการ EV 3.0 ซึ่งยังได้รับเงินอุดหนุนคันละ 150,000 บาทรวมกับรถยนต์ไฟฟ้านำเข้ามาขายตามโครงการ EV3.5 ที่ได้รับเงินอุดหนุนสูงสุด 100,000 บาทอยู่

ทั้งนี้ ราคารถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นต่ำกว่ารถยนต์สันดาปภายในบางรุ่นแล้ว เพราะราคาแร่ลิเทียมที่นำมาผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาลดลงประมาณ 40% เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

“ทำให้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ผลิตทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์สันดาปภายใน อีกทั้งประเทศไทยยังคงเป็นฐานผลิตที่สำคัญในการผลิตรถกระบะเพื่อส่งออกและขายในประเทศตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งจะสร้างงานสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปอีกหลายปี”

น่าจับตาว่า ปี 2568 อาจจะมีรถกระบะไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้าขายและผลิตในประเทศไทยเพื่อส่งออกเพื่อรับมือกับภาษีการปล่อยคาร์บอนจากในประเทศและต่างประเทศที่หลายประเทศจะเก็บภาษีการปล่อยคาร์บอน เห็นได้จากช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ประเทศไทยมีการส่งออกรถยนต์ไฮบริดเพิ่มขึ้นถึงกว่า 400% เพราะต่อไปนี้สินค้าส่งออกรวมทั้งขายในประเทศจะถูกเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอนตั้งแต่ผลิตจนถึงใช้รถบรรทุกและเรือไปถึงชายแดนประเทศที่นำเข้า ปล่อยคาร์บอนสะสมแล้วเท่าไรก็ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

“รัฐบาลไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จึงได้ให้การส่งเสริมการผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าแล้วและตามข่าวที่ทราบได้มีการชักชวนผู้ผลิตรถบรรทุกไฟฟ้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วด้วย”