ส.อ.ท.คาดการณ์ปี 67 อัตราการปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์จะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 30–50% เหตุมีรถยนต์ถูกยึดมากขึ้น เพราะผู้ซื้อ ผ่อนต่อไม่ไหว ทำให้เป็นหนี้เสียในระบบ โดยเฉพาะกลุ่มรถกระบะ โดยตั้งแต่ปลายปีจนถึงขณะนี้รถยังคงถูกยึดและเข้าสู่การประมูลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบผู้ประกอบการไฟแนนซ์รถยนต์ขาดทุนหนัก ชี้มาตรการรัฐช่วยแก้หนี้เสียเป็นเรื่องดี แต่ควรเพิ่มกำลังซื้อควบคู่ไปด้วย
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าปี 67 อัตราการปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์ (the auto loan rejection rate) ของไทยจะอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับปีก่อนคือที่ 30-50% ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง เพราะสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อรถยนต์ยังมีความกังวลเรื่องหนี้เสีย (NPL) จึงเพิ่มความระมัดวะวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยสำคัญคือการที่มีรถยนต์จำนวนมากถูกยึดเพราะผู้ซื้อไม่สามารถผ่อนชำระงวดได้ จากสภาพคล่องทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยและหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง
“ค่าครองชีพของคนไทยยังสูงและยังมีภาระ หนี้ครัวเรือนที่มาก ทำให้หากไม่ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ก็จะทำให้จำนวนรถในปีนี้ถูกยึดเพิ่มขึ้นอีก และถ้าดูจากจำนวนรถที่เข้าสู่การประมูลมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 200,000-300,000 คัน เมื่อปลายปีที่แล้ว และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน จากปกติการยึดรถเข้าสู่การประมูลเฉลี่ย อยู่ที่ประมาณ 180,000 คันต่อปี สะท้อนให้เห็นว่ามีลูกหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น ทำให้รถถูกยึดสูงขึ้น เนื่องจากลูกหนี้กำลังผ่อนไม่ไหวจริงๆ”
นายสุรพงษ์กล่าว อย่างไรก็ตาม การถูกยึดรถยนต์ส่วนใหญ่จะเป็นรถประเภทสันดาปภายใน (ICE) โดยเฉพาะกลุ่มกระบะที่เป็นรถทำมาหากินทั้งค้าขาย ส่งสินค้าการเกษตรต่างๆ ซึ่งมักจะถูกจัดเข้ากลุ่มที่สร้างปัญหาหนี้เสียมากสุดในช่วงที่ผ่านมา เพราะขาดการผ่อนส่ง ทำให้สถาบันจึงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม เมื่อดูสัดส่วนการปฏิเสธสินเชื่อ เทียบกับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ถือว่ายังน้อยกว่า เพราะกลุ่มนี้คนกู้ซื้อบ้านไม่ผ่าน มีมากกว่า 50% โดยพบว่าหนี้ NPL รถยนต์อยู่ที่ 12% แต่หนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่กว่า 20%
...
ทั้งนี้ สถานการณ์นี้ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการไฟแนนซ์รถยนต์ เพราะเป็นปีที่ขาดทุนหนักที่สุด เนื่องจากจำนวนรถยนต์ที่ยึดเพิ่มสูงขึ้น จากที่ติดตามข่าวกลุ่มนี้ขาดทุนรวมกันในอุตสาหกรรมกว่า 1,000-2,000 ล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มสถาบันการเงินพวกนี้ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยเพิ่มเงินดาวน์รถยนต์ที่สูงขึ้น เพื่อป้องกันการชำระหนี้ผิดนัด ทำให้คนซื้อรถผ่อนค่างวดได้ถูกลง เพราะถ้าค้างเงินงวด 3 เดือน ถือว่าเป็น NPL แล้ว
“แม้รัฐบาลจะมีมาตรการการแก้ปัญหาหนี้เสีย ก็เป็นแนวทางที่ดีเพราะช่วยคนเป็นหนี้และทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็ช่วยให้คนเป็นหนี้ยืดเวลาชำระหนี้ออกไปได้อีกระยะ แต่ก็อยากเห็นรัฐบาลมีแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อควบคู่ไปด้วยจึงจะยั่งยืนกว่า” นายสุรพงษ์กล่าว
ด้านนายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT กล่าวว่า กลุ่มรถยนต์นั่ง หรือ passenger car segment ไม่ใช่ กลุ่มหลักของการยึดรถยนต์ แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มรถกระบะ ทำให้กลุ่มสถาบันการเงินเพื่อสินเชื่อรถยนต์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นและเพิ่มเงินดาวน์รถยนต์มากขึ้น ทางหนึ่ง เป็นการคัดกรองกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อรถยนต์จริงๆ ในส่วนของกลุ่มรถไฟฟ้ามองว่ายังไม่ใช่กลุ่มหลักที่ถูกยึดรถ เพราะกลุ่มนี้ถือว่ามีกำลังซื้อรถเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ก็เห็นมีบ้างที่เป็น EV แล้วถูกไฟแนนซ์ยึดรถไป อย่างไรก็ตาม มองว่ารถ EV ในปีนี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการเติบโตปี 66 เทียบปี 65 ที่ EV โตมากกว่า 600% ในไทย จาก ยอดทะเบียนประมาณ 76,000 คัน โดยคาดว่าปี 2567 นี้จะเห็นมากกว่า 100,000 คัน.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่