เมื่อสองปีก่อน 4 ค่ายรถญี่ปุ่นคือ อีซูซุมอเตอร์ส, โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น, ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และไดฮัทสุ มอเตอร์ ได้ร่วมกันจัดตั้ง Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (คอมเมอร์เชียล เจแปน พาร์ทเนอร์ชิป เทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น หรือ CJPT)

เพื่อเร่งการใช้เทคโนโลยีภายใต้แนวคิด CASE (Connected, Autonomous, Shared, Electric) อย่างแพร่หลายในวงกว้าง หวังมุ่งลดปัญหาที่พบในระบบขนส่ง ตลอดจนบรรลุสังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน

พร้อมกันนี้ยังได้มุ่งขยายพันธมิตรภายในภูมิภาคเอเชีย

อย่างเช่น ในประเทศไทย ได้ผนึกกำลังความร่วมมือกับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (เอสซีจี) เพื่อร่วมมือกันในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย ผ่านการดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านพลังงาน ด้านการเดินทาง และด้านการใช้ข้อมูล เพื่อสร้างความสุขให้กับคนไทยทุกคน

ล่าสุด เครือซีพี โตโยต้า และ CJPT ได้ประกาศความสำเร็จในการสนับสนุนเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนหลากมิติ ทั้งด้านพลังงาน ด้านข้อมูล และด้านการเดินทาง ในงานประชุมระดับโลกว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

นั่นคือ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 28 (COP28) ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ด้วยการประกาศความคืบหน้าโครงการนำร่องการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพแห่งแรกของประเทศไทย

โดยจะเริ่มต้นผลิตได้ 2 กิโลกรัม/วัน ซึ่งได้มาจากของเสียของสัตว์ปีกจากฟาร์มสัตว์ปีกของเครือซีพี

ถือเป็นก้าวสำคัญในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคขนส่ง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดสำคัญของการประชุม COP28 ที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์สำคัญ 4 ด้าน และหนึ่งในนั้นคือเร่งการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

...

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ของเครือซีพี โตโยต้า และ CJPT ได้ร่วมกันนำนวัตกรรมผสานความมุ่งมั่นในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ โตโยต้ายังได้จัดแสดงอุปกรณ์การผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพแห่งแรกของประเทศไทย ที่สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียที่ จ.สมุทรปราการ

เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพไฮโดรเจนชีวภาพ ในฐานะแหล่งพลังงานสะอาด จะเริ่มทดลองใช้เชื้อเพลิง สำหรับการขนส่งระยะไกล และทดสอบประสิทธิภาพของไฮโดรเจนชีวภาพ พลังงานทดแทนสำหรับภาคการขนส่ง

โดยหวังว่าจะนำไฮโดรเจนชีวภาพมาใช้กับการขนส่งระยะไกลของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมถึงสำหรับการดำเนินงานบางส่วนในประเทศไทย

ทั้งนี้ ไฮโดรเจนชีวภาพจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในประเทศไทย นอกเหนือจากการนำของเสียจากสัตว์ปีกไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพแล้ว

ความร่วมมือครั้งนี้ยังขยายไปสู่ภาคยานยนต์ อีกความสำเร็จของการทดลอง ในการใช้โดรนยานยนต์ไร้คนขับ สนับสนุนภาคการเกษตรของประเทศไทย โตโยต้าได้นำโดรนที่ใช้ไฮโดรเจนชีวภาพ นำมาใช้งานในฟาร์มซีพีหลายแห่ง ตั้งแต่การเพาะเมล็ด การใส่ปุ๋ย ตลอดจนงานเกษตรกรรมอื่นๆ.

อัลคาโปน
motorwars@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “มอเตอร์วอร์ส” เพิ่มเติม