นี่คือเครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือนทางภัยอากาศรุ่นล่าสุดของทัพฟ้าไทย มันคืออากาศยานสองเครื่องยนต์ Saab 340 AEW Erieye เรดาร์ลอยฟ้าที่ทำให้เรากลายเป็นประเทศที่สองต่อจากสิงคโปร์ ในภูมิภาคนี้ และเป็นประเทศที่ 22 ของโลกที่มีเครื่องบินชนิดพิเศษนี้เข้าประจำการ...
เครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือนอากาศยานที่เป็นภัยคุกคามแบบแรกของกองทัพอากาศไทยเรดาร์ลอยฟ้าที่ทำให้ไทยกลายเป็นอันดับที่สองในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนต่อจากกองทัพอากาศสิงคโปร์และถือเป็น1ใน 22 ประเทศทั่วโลกที่มีเครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือนภัยทางอากาศใช้งาน
Focke-Wulf Fw189UHU
...
Fieseler Fi 156 Storch
เครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือนภัยทางอากาศ มีชื่อเรียกว่า AWAC และ AEW&C มีประวัติความเป็นมาย้อนกลับไปในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพอากาศเยอรมันที่เปิดฉากการบุกยุโรปใช้เครื่องบินแบบ Focke-Wulf Fw189 UHU ติดตั้งระบบเสาอากาศตรวจจับซึ่งเรดาร์ที่ทำการติดตั้งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในยุคนั้นและออกทำการบินในเวลากลางคืนเพื่อสกัดกั้นและแจ้งเตือนไปยังหน่วยป้องกันภัยทางอากาศของกองทัพเยอรมันเมื่อตรวจพบเครื่องบินของข้าศึกที่บินล้ำเข้ามาในน่านฟ้า รวมถึงเครื่องบินแบบ Fieseler Fi 156 Storch ที่ทำหน้าที่ตรวจการและแจ้งเตือนกองกำลังทางภาคพื้นดินของฝ่ายพันธ์มิตรให้กับผู้บัญชาการรบของกองทัพเยอรมันได้รับทราบถึงความเคลื่อนไหวต่างๆ ในปี1942โซเวียตได้ทำการทดลองติดตั้งสถานีเรดาร์ที่มีชื่อเรียกว่า Gneis2 ในเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยบินปานกลางแบบ PE2 ส่วนสหรัฐอเมริกาทำการทดสอบเรดาร์ AN/ASP20 เข้ากับเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ Avenger การทดลองของทั้งสามชาติในมหาสงครามโลกครั้งที่สองประสบความสำเร็จโดยสามารถตรวจจับกลุ่มเครื่องบินที่ทำการบินอยู่บนท้องฟ้าได้ไกลถึง 100 ไมล์
E-3 Sentry
Boeing737-MESA
A50Mainstay
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงและเข้าสู่ยุคสงครามเย็นของชาติมหาอำนาจ ทั้งพวกอเมริกันและรัสเซียต่างแข่งกันพัฒนาอาวุธภายในกองทัพของตนเป็นการใหญ่ทำให้เทคโนโลยีของเครื่องบินควบคุมและตรวจการทางอากาศพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยการออกแบบและดัดแปลงอากาศยานของพลเรือนเพื่อนำมาใช้งานภายในกองทัพโดยทำการติดตั้งเรดาร์ที่มีประสิทธิภาพสูงเช่นเครื่องบิน E-3Sentry ของกองทัพอากาศอเมริกัน หรือเครื่องบิน Boeing707 ติดตั้งระบบเรดาร์แจ้งเตือนรุ่น AN/APY-1/2 ส่วนกองทัพอากาศตุรกีใช้เครื่อง Boeing737-MESA โดยทำการติดตั้งเรดาร์รุ่นก้าวหน้าของบริษัท Northrop Grumman ส่วนฝั่งคอมมิวนิสต์อย่างรัสเซียและจีนในขณะนั้นก็มีเครื่องบินลำเลียงทางทหารแบบ A50Mainstay ที่ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกลมาประจำการในเส้นแนวเขตแดนของตนเพื่อตรวจจับเครื่องบินสอดแนมของพวกอเมริกัน
...
Airborne Warning And ControlSystem
Airborne Warning And ControlSystem หรือเรียกสั้นๆว่า AWAC เป็นคำใช้เรียกอากาศยานที่ปฏิบัติการควบคุมและตรวจตราทางอากาศ ทำหน้าที่ทั้งการแจ้งเตือนเมื่อตรวจพบเครื่องบินขับไล่หรือเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายข้าศึกที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงและกำลังบินเข้ามายังน่านฟ้า ปฎิบัติการควบคุมและแจ้งตำแหน่งของข้าศึกทางภาคพื้นดินในสนามรบให้กับผู้บัญชาการที่มีอำนาจวางแผนและสั่งการ เครื่องบินแบบ AWAC จะมีลำตัวกว้างกว่าปกติ ภายในมีอุปกรณ์ตรวจจับแบบเรดาร์หรือระบบค้นหาด้วยอินฟาเรดและทำการบินตรวจการเพื่อเฝ้ามองความเคลื่อนไหวต่างๆของฝ่ายศัตรู ระบบเรดาร์ดังกล่าวมีรัศมีทำการไกลนับร้อยไมล์เพื่อทำการวิเคราะห์หรือส่งข้อมูลเป้าหมายที่ตรวจพบไปยังเครื่องบินขับไล่ของฝ่ายตนเองเพื่อเข้าสกัดกั้นต่อตี ส่วนในการรบภาคพื้นดินเครื่องบินแบบ AWAC ยังสามารถใช้เรดาร์ที่มีระยะทำการไกลกว่าเครื่องบินขับไล่ทั่วไปเพื่อการมองเห็นได้ในทุกพิกัดและส่งข้อมูลที่สำคัญไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อการตัดสินใจในการปฏิบัติการรบได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น
...
Boeing E-3 Sentry Gulf War
สงครามทางอากาศที่เด่นชัดที่สุดคือปฎิบัติการพายุทะเลทรายของกองกำลังอเมริกันและพันธมิตรที่บุกโจมตีประเทศอิรัก (Operation DesertStorm) โดยฝ่ายอเมริกันใช้เครื่องบินตรวจการบนอากาศแบบ Boeing E-3 Sentry ซึ่งรับหน้าที่ควบคุมกองกำลังทางอากาศทั้งหมดในระหว่างการเข้าโจมตีทิ้งระเบิด และตรวจตราน่านฟ้าทั่วทั้งกรุงแบกแดดจนทำให้กองกำลังฝ่ายพันธมิตรสามารถครองความเป็นเจ้าเวหาและทำลายเครื่องบินรบของอิรักไปถึง 38 ลำเลยทีเดียว ข้อเสียของเครื่องบิน AWAC เนื่องจากเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่และมีค่าใช้จ่ายในระหว่างปฏิบัติการสูงจึงทำให้เกิดการออกแบบเครื่อง Airborne Warning And ControlSystem ที่มีขนาดกระทัดรัดซึ่งมีประสิทธิภาพด้อยกว่าเครื่อง AWACในบางจุดเนื่องจากขนาดที่เล็กกว่าของระบบเรดาร์ตรวจจับแต่ยังสามารถควบคุมและปฎิบัติการในระหว่างทำการรบได้อย่างสะดวกจึงทำให้กองทัพอากาศของบราซิล สิงคโปร์และกรีซมีเครื่องบินชนิดนี้อยู่ในประจำการ
...
Ericsson Active Electronically Scanned Array
ประเทศในกลุ่มสนธิสัญญานาโต้มีการพัฒนาอากาศยานตรวจจับฝ่ายตรงข้ามหลังจากยุคสงครามเย็นใกล้จะสิ้นสุดลง การพัฒนาดังกล่าวเกิดขึ้นในยุค 1980 โดยบริษัทโทรคมนาคมอย่าง Ericsson Microwave System ได้ทำการคิดค้นระบบเรดาร์แบบใหม่ AESA (ActiveElectronically Scanned Array) เพื่อนำมาติดตั้งในเครื่องบินตรวจการขนาดกลางหรือ Airborne WarningAnd ControlSystemรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีลำตัวกระทัดรัดกว่าเครื่อง AWAC ลำโตอย่าง Boeing 707-737 เรดาร์แบบใหม่นี้มีความแตกต่างจากระบบเรดาร์ทั่วไปที่ตัวมันเองไม่จำเป็นต้องหมุนเพื่อส่งสัญญาณเรดาร์ออกไปรอบทิศทางแต่อย่างใดแต่ด้วยการใช้เสาอากาศขนาดเล็กนับพันต้นที่ยึดตัวอยู่ภายในกระเปาะเรดาร์แล้ววางเสาดังกล่าวไว้ครบ 360 องศาทำให้ทิศทางในการรับ-ส่งคลื่นเรดาร์ครอบคลุมการตรวจจับได้รอบทิศทาง มันใช้คลื่นความถี่สูงกว่าระบบเรดาร์แบบจานหมุนทำให้มีพิสัยการปฏิบัติการไกลกว่าเรดาร์แบบปกติ ใช้พื้นที่ในการติดตั้งน้อยกว่าและสามารถตรวจจับเป้าหมายได้มากกว่า ระบบเรดาร์แบบ Active Electronically ScannedArray นี้ยังมีใช้งานในเรือพิฆาตยุคใหม่ เรือเร็วโจมตีติดขีปนาวุทธรวมถึงเครื่องบินขับไล่-โจมตีความเร็วเหนือเสียงซึ่งบริษัท Ericsson เป็นผู้ผลิตเจ้าแรกที่นำเอาระบบเรดาร์ขนาดกระทัดรัดมาติดตั้งบนเครื่องบินแจ้งเตือนแบบAEW&C
Saab 340B
ช่วงทศวรรษที่ 80 บริษัทผลิตอากาศยานของสวีเดน Saab ได้ร่วมมือกับบริษัท Fairchild Aircraft ของสหรัฐอเมริกาทำการพัฒนาเครื่องบินโดยสารขนาดกลางแบบใหม่ เพื่อเข้ามาแทนที่เครื่องบินโดยสารแบบเก่าที่มีเพียง 30-36 ที่นั่งสามารถบินเดินทางภายในภูมิภาคด้วยความเร็วประมาณ 4-500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บริษัทอเมริกันรับหน้าที่ออกแบบและสร้างแพนหางระดับ ปีกกับชิ้นส่วนที่ใช้ภายในเครื่องยนต์แบบเทอร์โบพร็อพ ส่วนบริษัท Saab ของสวีเดนสร้างลำตัวที่ทำจากอลูมินัมอัลลอย แพนหางดิ่งและการประกอบในขั้นตอนสุดท้าย หลังจากบริษัท Fairchild Aircraft เลิกล้มกิจการไปแล้วการผลิตทั้งหมดจึงย้ายไลน์มาที่โรงงานของ Saab ในเมือง Linkoping ประเทศสวีเดน เครื่องบิน Saab340 รุ่นแรกใช้รหัส A ขึ้นทำการบินทดสอบเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มกราคม 1983 และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็น Saab 340B และ Saab340B+ โดยเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ให้มีแรงขับที่สูงมากขึ้น ติดตั้งระบบลดเสียงของเครื่องยนต์และลดการสั่นสะเทือนทำให้ห้องโดยสารมีความเงียบและมีเสียงรบกวนในขณะทำการบินเพียง10เดซิเบล เครื่องบินโดยสารแบบ Saab340 ถูกนำเข้าประจำฝูงบินในสายการบินต่างๆถึง 61 สายการบินในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก มีชั่วโมงบินรวมแล้วมากกว่า13 ล้านชั่วโมงบิน Saab340 ผลิตขึ้นทั้งหมด 459 ลำ ปัจจุบันยังคงทำการบินใช้งานอยู่ถึง 416 ลำประสบอุบัติเหตุตก 9 ลำและปิดสายการผลิตไปในปีคศ 1999 แต่บริษัท Saab ยังคงผลิตอะไหล่ใหม่ทุกชิ้นส่วนของตัวเครื่องเพื่อป้อนให้กับเครื่อง 340A- 340B - 340B+ทั้ง 416 ลำที่ยังคงขึ้นบินตามปกติ
Saab2000
Saab 340 AEW Erieye RTAF
ในปี1994 Saab ได้ทำการปรับปรุงเครื่องบินรุ่น 340 ครั้งใหณ่และพัฒนาไปสู่การสร้างเครื่อง Saab2000 แต่จากการแข่งขันทางการตลาดอย่างรุนแรงของบริษัทฝรั่งเศสที่ผลิตเครื่องบินโดยสารขนาดกลางเครื่องยนต์เทอร์โบพร๊อพรุ่น ATR และบริษัทจากแคนาดาอย่าง Bombardier รวมถึงไม่อาจต่อกรกับเครื่องบินโดยสารขนาดกลางที่ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบแฟนอย่าง Embraer ของบราซิลและบริษัทสร้างเครื่องบินชั้นเยี่ยมราคาแพงอย่าง Dassault ทำให้บริษัท Saab ผลิตเครื่องบินรุ่น Saab2000 เพียง64ลำในระหว่างปี 1999-2005 กองทัพอากาศสวีเดนมองเห็นคุณประโยชน์ของเครื่องบินรุ่นนี้จึงนำเข้าประจำการพร้อมกันนั้นได้ทำการติดตั้งระบบเรดาร์Erieyeให้กับเครื่องบินSaab 340B+ จำนวนสี่ลำหนึ่งฝูงบินเครื่องบินลำแรกที่ได้รับการติดตั้งระบบเรดาร์ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า S-100B Argus หรือใช้ชื่อทางการค้าว่า Saab 340AEW&C การพัฒนาระบบเรดาร์และระบบควบคุมอย่างต่อเนื่องของพวกสวีเดนทำให้เครื่องรุ่น AEW 300 ถือกำเนิดขึ้นในปี 2000 มีการเพิ่มสถานีควบคุมบนตัวเครื่องบินอีกถึงสามสถานีและใช้เจ้าหน้าที่สามนายโดยไม่จำเป็นต้องมีสถานีรับข้อมูลหรือเจ้าหน้าที่ทางภาคพื้นดินแต่อย่างใด การพัฒนาได้ก่อให้เกิดระบบสื่อสารดิจิตอลอันทันสมัยชื่อ Link16 และ TIDLSหรือ Tactcal Information Data LinkSystem เพื่อทำการสื่อสารโดยตรงกับเครื่องบินรบของนาโต้ทั้งหมด
Saab 340 AEW Erieye RTAF
กองทัพอากาศสวีเดนได้ทำการปรับปรุง Saab 340AEW&C ทั้งสี่ลำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับรุ่น AEW300 และกำหนดรหัสนามเรียกขานทางทหารว่า S100D เครื่องบินตรวจการและแจ้งเตือน Saab 340AEW&C มีรัศมีของการตรวจการไกลถึง 300ไมล์ทะเลในสภาวะปกติและ 200 ไมล์ทะเลในสภาวะสงครามที่มีการรบกวนสัญญาณทางอิเล็กทรอนิคทุกรูปแบบ มันสามารถติดตามเป้าหมายทั้งเครื่องบินรบ เรือรบและกองกำลังบนภาคพื้นดินได้กว่า 3000 เป้าหมายพร้อมกันนั้นยังทำการแจ้งเตือนเป้าหมายที่เป็นภัยคุกคามสูงสุดกับแยกแยะเป้าหมายที่เป็นฝ่ายเดียวกันเพื่อป้องกันการโจมตีพวกเดียวกันเองอีกด้วยสามารถล็อกเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งในขณะที่เป้าหมายอื่นๆถูกตรวจจับอยู่แล้วนอกจากนั้นยังมีระบบป้องกันตัวเองจากการโจมตีทางอีเล็คโทรนิคและข้อดีอีกข้อหนึ่งคือมันมีค่าใช้จ่ายในระหว่างการบินปฏิบัติการที่ต่ำกว่าเครื่องบินแจ้งเตือนแบบอื่นๆอีกด้วย
Saab 340 AEW Erieye RTAF
เครื่องบินแจ้งเตือนและควบคุมทางอากาศของสวีเดนรุ่นนี้ ได้รับการสั่งซื้อจากนานาประเทศเนื่องจากมีราคาไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีที่ใช้และมีประสิทธิภาพสูง (ประเทศไทยได้รับเครื่อง Saab 340 AEW และ 340B อย่างละ 1ลำ ตามสัญญาการซื้อ-ขายกับสวีเดนในลักษณะให้เปล่าพร้อมอะไหล่และการฝึกนักบิน) ในปัจจุบันนี้มีกองทัพอากาศสี่ประเทศที่มีเครื่องบินรุ่นนี้ไว้ใช้ทำการบินตรวจการคือ ทอ.กรีซ 4 ลำ ทอ.เม็กซิโก1ลำ(ใช้เครื่องรุ่นR99) และทอ.ปากีสถานสั่งซื้อเครื่องรุ่น S1000 Horizon หรือเครื่อง Saab รุ่น 2000 ติดตั้งระบบเรดาร์ Erieyeกองทัพอากาศโคลัมเบียเองยังอยู่ในระหว่างการเจรจากับ Saab ในการจัดหาเครื่อง Saab 340AEW&C จำนวน 2 เครื่องเพื่อส่งเข้าประจำการในภารกิจบินลาดตะเวนค้นหาที่ตั้งของพวกค้ายาเสพติดในภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยป่าและภูเขาสูง
Saab 340 AEW Erieye RTAF
Saab 340AEW Erieye ของกองทัพอากาศไทยเป็นเครื่องบินมือสองที่เคยเข้าประจำการในกองทัพอากาศสวีเดนแต่ได้รับการปรับปรุงและเปลี่ยนอะไหล่ใหม่หมดก่อนทำการส่งมอบให้กับกองทัพอากาศ ด้วยสัญญาการซื้อเครื่องบินขับไล่ Gripen 12 ลำ 1 ฝูงบิน โดยใช้สัญญาแบบให้เปล่าถึง 2 ลำ นั่นก็คือ Saab 340 AEW Erieye 1 ลำ กับ Saab 340B บ. ฝึกทางยุทธวิธีอีก 1 ลำ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเครื่องบินที่ถูกใช้งานมาแล้วแต่ก็ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีตามมาตรฐานของระบบนิรภัยการบิน หลังจากทำการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอะไหล่ใหม่บางชิ้นส่วนจะทำให้มันมีอายุประจำการไปอีกอย่างน้อย 30 ปี นอกเหนือจากนั้นกองทัพอากาศไทยจะทำการปรับปรุงระบบการส่งข้อมูลระหว่างเครื่อง Saab 340 AEW ไปยังเครื่องบินรบแบบ F16 และเครื่อง JAS-39 GripenC/D แล้วยังทำการผนวกเอาระบบทั้งหมดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันภัยทางอากาศของกองทัพไทยหรือ RTADS (Royal Thai Air Defense System)
Saab 340 AEW Erieye RTAF
บริษัท Saab แห่งราชอาณาจักรสวีเดนผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ JAS-39 GripenC/D ให้กับกองทัพอากาศไทยได้นำเครื่องบินขับไล่แบบ JAS-39 Gripen D(2ที่นั่ง) ของกองทัพอากาศขึ้นทำการบินทดสอบเที่ยวแรก (First Flight) เหนือน่านฟ้าสวีเดนเมื่อวันพุธที่16 กันยายน 2552 เวลา 14.50 น.ตามเวลาท้องถิ่นโดยใช้เวลาทำการบินทดสอบนาน 80 นาที ผลการทดสอบเป็นไปตาามมาตรฐานที่กำหนด สำหรับเครื่องบินขับไล่ JAS-39 Gripen C/D ทั้ง 6 ลำทำการบินตรงมาจากเมือง Linkoping เพื่อเข้าประจำการในฝูงบิน 701 กองบิน 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานีไปเรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงค่ำของวันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 โดยเป็นเครื่องรุ่น 2 ที่นั่ง Gripen D 4 ลำ เครื่องที่นั่งเดี่ยว Gripen C/D 2 ลำ ส่วนเครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือน Saab 340 AEW Erieye จำนวน 2 ลำแรกได้เดินทางมาถึงประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2553 และได้เข้าประจำการในฝูงบิน 701 กองบิน 7 สุราษฎร์ฯก่อนหน้าแล้ว โดยจอดอยู่ในโรงเก็บและซ่อมบำรุงอากาศยานที่เพิ่งจะสร้างเสร็จของกองบิน 7 ทั้งสองลำคือ รุ่น 340 AEW Erieye และ 340B เพื่อใช้ในการฝึกนักบินใหม่ โรงเก็บเครื่องบินดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการรองรับเครื่องบินรบที่ได้ชื่อว่า ทันสมัยและทรงประสิทธิภาพมากที่สุดเครื่องหนึ่งของโลกแห่งอากาศยานทางทหาร.
VDO
Saab 340 AEW Erieye Specifications
ประเทศผู้ผลิต.................................สวีเดน
ผลิต โดย........................................บริษัทSaab-Scania Aktiebolag, Aerospace Divisionประเภท.......................................... เครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือนภัยทางอากาศ
ความยาว ปีก...................................21.44 เมตร
ความยาวลำ ตัว................................19.73 เมตร
ความสูง.........................................6.97 เมตร
น้ำหนัก..........................................13155 กิโลกรัม
เครื่องยนต์......................................2X GE General Electric CT7 - 9B 1870แรงม้า
ระบบใบพัด.....................................Dowty Rotol/Hamilton Sundstrand
ความเร็วสูงสุด.................................550 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ความเร็วเดินทาง..............................160 น็อต/ชั่วโมง
น้ำหนักบรรทุกสูงสุด...........................2580 กิโลกรัม
ระยะเวลาในการบินปฏิบัติการ................5-7ชั่วโมง
น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด............................12,927 กิโลกรัม (28,500 ปอนด์)
ปริมาตรความจุเชื้อเพลิง.....................2580 กิโลกรัม
รัศมีบิน ไกล..................................1310 ไมล์ทะเล
เพดานบินปฎิบัติการ.........................7620 เมตร
ระยะทางวิ่งขึ้น(Take- Off)...................1290 เมตร
ระยะทางร่อน ลง(Landing)..................1035 เมตร
ลูกเรือ.........................................นักบิน 2 นาย พลประจำสถานีเรดาร์บนเครื่อง 3 นาย
ระบบเรดาร์ปฎิบัติการ......................Erieye/ Ericsson Active Electronically Scanned Array
รัศมีทำการของเรดาร์........................450 กิโลเมตรในทุกทิศทาง
เอกสารอ้างอิงประกอบการเขียน
-The Aerospace Magazine Jan-Feb 2009
-โรงเรียนเสนาธิการทหารบก