อาการหลงสภาพการบิน (spatial disorientation) หมายถึงการที่นักบินไม่สามารถรับรู้อย่างถูกต้องว่าตำแหน่ง, ท่าทางการบิน และการเคลื่อนที่ในขณะนั้น มีความสัมพันธ์อย่างไรกับเส้นขอบฟ้า หรือศูนย์กลางของโลก การหลงสภาพการบินเป็นสาเหตุที่ทำให้อากาศยานเกิดอุบัติเหตุมานานแล้ว และยังเกิดอยู่เรื่อยๆ เป็นสาเหตุนำที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด เนื่องจากเหตุผลทางด้านสรีรวิทยาการบิน

Kirkman และคณะ แห่ง FAA ได้ทำการศึกษากิจการการบินพลเรือนของสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี พ.ศ. 2513-2518 ในอุบัติเหตุรวม 25,723 ราย ในจำนวนนี้เกิดจากการหลงสภาพการบินรวม 297 ราย หรือร้อยละ 2.71 เป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ 1 ราย เครื่องบินขนาดเบา 178 ราย และเฮลิคอปเตอร์ 18 ราย ส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุมีการเสียชีวิต

...

Holland และ Freeman ได้รวบรวมอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากการหลงสภาพการบิน และการขาดการตระหนักในสถานการณ์ (loss of situation awareness….LAS/SDO) ในกองทัพอากาศ สหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 2523-2532 พบว่าช่วงนั้นมีอุบัติเหตุถึง 356 ราย และมี 270 ราย ที่ LSA/SDO เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีการสูญเสียเงิน จำนวน 2,054 พันล้านเหรียญ มีผู้เสียชีวิต 487 ราย ประเภทของอากาศยานที่ประสบอุบัติเหตุ แบ่งได้ดังนี้

เครื่องบินขับไล่ โจมตี ลาดตระเวน 189 ครั้ง หรือ ร้อยละ 70!! 

เครื่องบินลำเลียง อากาศยานเติมเชื้อเพลิงทางอากาศ 28 ครั้ง หรือ ร้อยละ 10

เครื่องบินฝึกหัดนักบินใหม่ (ส่วนใหญ่เป็นเครื่อง T38) 27 ครั้ง หรือ ร้อยละ 10

...

เฮลิคอปเตอร์ 14 ครั้ง หรือ ร้อยละ 5

อุบัติเหตุเกือบทั้งหมดที่เกิดจาก SDO จะพบว่ามี LSA ร่วมด้วย ในขณะที่อุบัติเหตุจาก LSA มี SDO เกิดขึ้นเล็กน้อย ดังนั้น SDO น่าจะคิดว่าเป็นกรณีย่อย (subset) ของ LSA

อวัยวะรับรู้สภาพ (organ of orientation)

ตา ช่วยให้มองเห็นว่าร่างกายมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างไร โดยใช้สิ่งอ้างอิงทางสายตา เช่น ต้นไม้

กล้ามเนื้อ ผิวหนัง เอ็น รับแรงกด เช่น ขณะนั่งจะรู้สึกน้ำหนักกดที่ก้นมากกว่าที่อื่น

อวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน (vestibular organs) รับการเคลื่อนไหว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงความเร็ว การทำงานของอวัยวะทั้งสามประเภทต้องสัมพันธ์กัน ถ้าอันใดอันหนึ่งแปลผลผิด จะทำให้เกิดอาการหลงสภาพการบินขึ้น เช่นเดียวกับการเวียนศีรษะในผู้ป่วย

...

ชนิดของอาการหลงสภาพการบิน

แบ่งตามสาเหตุ ได้แก่

อาการลวงเหตุจากหูชั้นใน (vestibular illusions) เกิดจากอวัยวะรับรู้สภาพที่อยู่ในหูชั้นใน แปลผลผิด ได้แก่

- อาการเอียงลวง (leans) เป็นเหตุการณ์ที่พบได้บ่อยที่สุดของการหลงสภาพการบิน โดยนักบินไม่ทราบว่ามีการเอียงหรือไม่ เอียงทางด้านใด

- อาการหมุนควง (graveyard spin/ spiral) เกิดขณะเข้าอาการควงสว่าน แล้วทำการแก้ไขอย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากนักบินเข้าใจว่า เครื่องบินหายจากการควงสว่านแล้ว หรือบางครั้งเข้าใจผิดในทิศทางการควงสว่าน

- อาการหมุนติ้ว (coriolis illusion) เกิดขณะบินโจมตีภาคพื้น ขณะเลี้ยวมีการหันศีรษะอย่างรวดเร็ว ทำให้นักบินเกิดความรู้สึกว่าเครื่องบินอยู่ในท่าที่ผิดปกติอย่างมาก

- อาการลวงของการไต่ หรือดำดิ่ง (oculogravic illusion) ความรู้สึกว่าหัวเครื่องบินกำลังเชิดหรือกดลง ขณะนำเครื่องวิ่งขึ้นหรือลงสนาม ทั้งๆ ที่เครื่องบินไม่ได้มีอาการเช่นนั้น ถ้าเชื่อตามความรู้สึกจะเข้าทำการแก้ไขผิดพลาด จนกระทั่งเครื่องบินชนพื้นได้

อาการลวงไม่ใช่เหตุจากหูชั้นใน (non- vestibular illusion)

...

อาการลวงทางสายตาเกี่ยวกับแนวระนาบ (false vertical and horizontal cues) เช่น การบินเหนือเมฆ, บินในแสงขั้วโลก, บินกลางคืน นักบินใช้สายตากะความเอียงของเครื่องบินไม่ถูก

อาการลวงทางสายตาเหตุการจ้อง (auto- kinetic illusion) เกิดเมื่อจ้องมองดวงไฟที่ไม่กระพริบในเวลากลางคืน อาจเห็นดวงไฟเคลื่อนที่ได้ ทั้งๆ ที่ดวงไฟนั้นอยู่เฉยๆ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการหลงสภาพการบิน คือ การบินในสภาพที่ความสามารถในการมองเห็นลดลง เช่น บินกลางคืน บินผ่านเข้าเมฆ การไม่สามารถมองเห็นสิ่งอ้างอิงภายนอกได้ จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการหลงสภาพการบิน ทั้งนี้ เพราะสายตา เป็นหัวใจสำคัญของการรับรู้สภาพอวัยวะในหูชั้นกลาง และความรู้สึกที่กล้ามเนื้อเชื่อถือไม่ได้

การป้องกัน

- ใช้สิ่งอ้างอิงทางสายตา เช่น ขอบฟ้า ถ้าทำได้

- เคลื่อนไหวศีรษะให้น้อยที่สุด

- ศึกษาวิธีใช้ และให้ความเชื่อมั่นในเครื่องวัด ประกอบการบิน

การแก้ไข

รับรู้ว่าเกิดอาการหลงสภาพการบินขึ้นแล้ว พยายามอย่าตกใจ

อย่าหันศีรษะอย่างรวดเร็วและรุนแรง ศีรษะตั้งตรงวางบนที่พักศีรษะ

บินตรงและบินระดับ ดูเครื่องวัดประกอบการบินช่วย

ให้นักบินอื่นควบคุมการบินแทน (ถ้ามี)

ถ้าแก้ไขไม่ได้ และเป็นเหตุสุดวิสัย ให้สละอากาศยานทันที

ข้อมูลและเอกสารอ้างอิงจาก
เวชศาสตร์การบิน: การหลงสภาพการบิน (spatial disorientation)
โดย สุบิน ชิวปรีชา 

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/