- โธ่ ไอ้เขียวลูกพ่อ ไก่ชนตัวเก่ง 5 หมื่นไม่ขาย ถูกงูเหลือมรัดตายคาเล้า
- กู้ภัยสาวใจเด็ด ตามจับงูเหลือมตั้งแต่ตี 3 ยันเที่ยง เข้าบ้านคน 3 หลังติด
- อุ๊ยตายว้ายกรี๊ด!! งูเหลือมตัวเบ้อเร่อ 100 โล หิวโซ ย่องเขมือบแมว 2 ตัว
- หลวงพี่ผงะ!! นะจังงัง กำลังจะจำวัด งูเหลือมยาว 2 เมตร โผล่กุฏิ
- พี่เหลือม 5 เมตร เลื้อยเงียบเขมือบไก่ชนตัวเมียหลังห้องเช่าบางปะกง

จากข่าวที่ไทยรัฐออนไลน์ลงเกี่ยวกับงูเหลือมทำให้มีข้อฉงนจากโลกออนไลน์ว่าเหตุใดงูเหลือมมักเข้าบ้านคน หากงูเข้าบ้านแล้วควรทำอย่างไร มีวิธีป้องกันไม่ให้งูเข้าบ้านหรือไม่?

ผู้ที่ให้คำตอบได้กระจ่างที่สุด คือ นสพ.เกษตร สุเตชะ สัตวแพทย์ประจำคลินิกสัตว์เลี้ยงพิเศษ รพ.สัตว์ คณะสัตวแพทย์ ม.เกษตรศาสตร์ (มก.) บางเขน กทม. ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสัตว์ทุกชนิด เผยกับผู้สื่อข่าวว่าสาเหตุที่งูเหลือมขึ้นบ้านคนบ่อยเป็นเพราะมาหาอาหารกิน หนูอยู่ไหน งูอยู่นั่น ซึ่งมันอพยพไปตามแหล่งอาหาร ถ้าเจอลูกงูเข้าบ้าน นั่นแสดงว่าแม่มันมาแอบไข่ไว้แถวนั้นเมื่อหลายเดือนก่อน

...

งูเหลือมเป็นสัตว์ประจำถิ่น ไม่มีพิษ แต่กัดคน หากเราทำร้ายงูก่อน เลื้อยเข้าบ้านคนได้ทุกฤดู และเลื้อยเข้าไปในทุกที่ ห้องครัว โรงรถ สวน ห้องนอน ห้องน้ำ รูท่อระบายน้ำทิ้ง สาเหตุหลักที่จะเข้าบ้าน คือ ต้องมีหนูในบ้านถึงจะเข้ามา ถ้าในบ้านไม่มีอาหารที่มันต้องการมันก็จะไม่เข้ามา เหตุที่งูเหลือมรู้ว่าบ้านหลังไหนมีหนูเพราะได้กลิ่น โดยการเลื้อยตามไปกิน โดยใช้อินฟราเรดรับรู้ว่าหนูตัวขนาดใหญ่หรือเล็กแค่ไหน

บางครั้งที่มีข่าวงูเหลือมกินหมู หมา แมว ไก่ เพราะระหว่างทางที่เลื้อยเพื่อไปกินหนู หากเป็นงูเหลือมตัวที่ใหญ่ เมื่อเจอหมาจรจัด หรือสัตว์ที่ใหญ่กว่าหนูก็ฟัดรัดกิน เมื่อกินอิ่มก็แอบซุกตามซอกต่างๆ นอนนิ่งเป็นอาทิตย์เพื่อย่อย ขับถ่าย แล้วลอกคราบถึงจะเลื้อยไปที่อื่นต่อได้ ไม่สามารถเลื้อยไปไหนหลังกินอาหารที่มีน้ำหนักเยอะได้เพราะน้ำหนักรวมเพิ่มขึ้น เช่น งูเหลือมหนัก 20 กิโลฯ กินหมา 5 กิโลฯ น้ำหนักรวมทั้งหมด 28 กิโลฯ จึงไม่กระฉับกระเฉงในการเลื้อยคลาน

มีวิธีไหนป้องกันไม่ให้งูทุกประเภทเข้าบ้านหรือไม่...ผู้สื่อข่าวซักถามต่อในประเด็นที่ชาวเน็ตใคร่อยากรู้

นสพ.เกษตรกล่าวว่าวิธีป้องกันงูเข้าบ้าน พูดตรงๆ คือ ป้องกันไม่ได้ โดยเฉพาะบ้านที่มีสวน หรืออยู่ติดที่รกร้างว่างเปล่า งูมักจะเข้าๆ ออกๆ อยู่เสมอ แต่ถ้าเราเก็บบ้านให้เป็นระเบียบ ตัดแต่งต้นไม้สม่ำเสมอ กำจัดหนูบ้านบ่อยๆ ทิ้งขยะให้เป็นที่และมิดชิดเพื่อไม่ให้หนูกิน เมื่อประชากรหนูลดลง งูก็จะลดลงตามไปด้วยและงูก็จะไม่เข้ามาในพื้นที่เพราะไม่มีอาหารกิน และมีการรบกวนจากเราตลอดเวลา

“งูที่เลื้อยผ่านบ้านเราเฉยๆ ก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน เพราะมาแล้วก็ไป ขอให้ต่างคนต่างอยู่ ทำหน้าที่ตามระบบนิเวศที่ธรรมชาติได้มอบหมายมา ถ้าเจอกันจังๆ ตัวเป็นๆ และตัวใหญ่ ควรแจ้งหน่วยกู้ภัย (ที่ 199 ดับเพลิงและกู้ภัย)ให้มาจับไปปล่อยป่าที่อื่น แต่ถ้ามีลูกงูขนาดเล็กเลื้อยผ่านบ้านบ่อยๆ ก็ใช้คีมคีบถ่านคีบงูไปปล่อยที่อื่น หรือเอาไม้กวาดไล่ เท่านี้เราก็อยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมโลกอีกชนิดหนึ่งอย่างมีความสุข” นสพ.เกษตรกล่าวทิ้งท้าย

...