คนเราไม่ได้โชคดีกันบ่อยๆ ดังเหตุการณ์สะเทือนใจที่เฟซบุ๊กของ Kung Na Lamphun เจอว่าลูกรักเกือบตกเป็นเหยื่อแก๊งขโมยเด็ก ซึ่งหลังเกิดเหตุเย็นวันที่ 6 มิ.ย. 60 เธอก็รีบโพสต์เตือนภัยทันที..
เตือนภัยนะคะ!!
สำหรับเด็กวัยอนุบาล วันนี้เหตุเกิดกับลูกชายดิฉันเลย ถือว่าโชคดีที่คนขับรถประจำมารับพอดี เย็นวันนี้ระหว่างที่ยืนรอรถกับพี่ๆ เด็กโต มีผู้ชายแปลกหน้าเข้ามากอดหอม และซื้อของเล่นมาล่อ บอกว่าเอามั้ย? จะไปส่งบ้าน แต่ลูกชายดิฉันไม่เอาแล้วทำท่าเหมือนจะร้องไห้ พอดีคนขับรถมาพอดี ผู้ชายคนนั้นเลยปล่อยแล้วรีบเดินออกไป ถือเป็นโชคดีมาก ถ้าโชคไม่เข้าข้างล่ะ คนขับรถมาช้า ลูกโดนอุ้มไป จะไปเรียกร้องอะไรจากใคร??
พรุ่งนี้คงเข้าไปคุยกับครูที่โรงเรียน
#คงไม่มีใครอยากประกาศเด็กหายลงเพจมูลนิธิกระจกเงา จริงไหมคะ?
จากกรณีดังกล่าว นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ที่ทำงานบนเส้นทางสืบสวนสายนี้มา 14 ปี แจงว่ากลุ่มเป้าหมายของเด็กที่ถูกลักพาตัวในไทยอยู่ในช่วงอายุ 4-8 ขวบ เกิดกับทั้งเพศหญิง เพศชายซึ่งมีความเสี่ยงใกล้เคียงกัน
...
ในรอบ 14 ปีที่เขาทำงานมา ไม่พบคนร้ายที่เป็นลักษณะกลุ่มแก๊งกระบวนการ ไม่ได้เป็นการค้ามนุษย์ ส่วนใหญ่ก่อเหตุโดยลำพัง เป็นคนที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ใช้วิถีชีวิตเร่ร่อนไปเรื่อย มีจุดประสงค์ 3 เรื่องในการลักพาตัว
1. นำเด็กไปกระทำทางเพศ ทั้งข่มขืนและอนาจาร ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด 2. เอาเด็กไปเพื่อหาผลประโยชน์อย่างอื่น ไม่ได้เป็นกลุ่มค้ามนุษย์ เป็นกลุ่มคนเร่ร่อนขอทานอยู่แล้ว หรือเร่ขายสินค้าก็เอาเด็กไปตระเวนขอทานด้วย เพื่อเพิ่มความสงสาร 3. กลุ่มที่มีความเสน่หา อยากได้เด็กไปเลี้ยงดู รักใคร่ชอบพอเด็ก ส่วนใหญ่จะเคยปฏิสัมพันธ์กับเด็ก
เท่าที่เคยคุยกับคนร้ายที่ลักพาเด็ก จะหลอกเด็กด้วยของ 5 อย่าง คือ เงิน ขนม ของเล่น เกม และบอกว่าพ่อแม่ให้มารับ
ซึ่งคนร้ายตามจินตนาการของเด็กไม่เหมือนกับข้อเท็จจริง เพราะผู้ปกครองมักบอกเด็กว่าแก๊งรถตู้มาจับนะ พอเห็นรถตู้ก็วิ่งหนีกระเจิง เนื่องจากถูกสอนมาแบบนั้น ควรเปลี่ยนวิธีสอนลูกเสียใหม่ โดยสอนว่าคนร้ายเดินมาปกติก็มี มักพูดคุยกับเด็กด้วยท่าทีสุภาพ เช่น หนูกินขนมไหม เดี๋ยวน้าพาไป ทำไรอยู่ เล่นอะไรอยู่ และไม่ใช้กำลังฉุดกระชากลากถู
ส่วนใหญ่เด็กถูกลักพาตัวเมื่ออยู่ตามลำพัง หัวใจหลักของคนร้ายเมื่อต้องก่อเหตุจะคำนึงว่า สถานที่ปลอดภัยที่สุด คือ ที่ที่อันตรายที่สุด นั่นหมายความว่า บางทีคนร้ายก่อเหตุหน้าบ้าน ในสนามเด็กเล่นของหมู่บ้าน ตลาดนัดที่เด็กเคยวิ่งเล่น วัดในชุมชน สวนสาธารณะข้างบ้าน ดังนั้นพ่อแม่อย่าชะล่าใจ อย่างนิ่งนอนใจ อย่าคิดว่าสถานที่เหล่านั้นปลอดภัย เนื่องจากเด็กคุ้นชิน ไม่น่าเกิดอันตราย เพราะฉะนั้นไม่ควรปล่อยเด็กวิ่งเล่นตามลำพัง
สิ่งที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองควรสร้างทักษะให้ลูกเพื่อป้องกันการถูกลักพาตัว 3 ข้อ คือ
1. สอนและสร้างทักษะให้เด็ก พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องสอนบ่อยๆ ว่าอย่ารับของจากคนเเปลกหน้า อย่าไปไหนกับคนแปลกหน้า ต้องคุยกับเด็กบ่อยๆ ถามกิจวัตรประจำวันของเด็กด้วย บางทีคนร้ายไม่ได้มาครั้งแรก อาจพยายามชักชวนเด็กหลายครั้งจนเด็กเกิดความไว้วางใจแล้วไปกับเขาได้
ต้องพูดคุยถามลูกบ่อยๆ ว่าไปวิ่งเล่นเป็นไง มีเพื่อนใหม่ไหม มีคนมาซื้อขนมให้กินไหม จะได้รู้ความเคลื่อนไหวว่ามีคนร้ายพยายามก่อเหตุลักเด็กไหม จริงๆ แล้วบางครั้งคนก่อเหตุอาจไม่ใช่คนแปลกหน้าก็ได้ อาจเป็นคนในชุมชน เป็นคนที่เด็กรู้จักและคุ้นเคย หรือใกล้ชิด เพราะหลายกรณีที่ผู้ก่อเหตุ คือ คนใกล้ชิดนั่นเอง
...
2. ทักษะการขอความช่วยเหลือ ในกรณีที่พ่อ แม่ ไม่อยู่ด้วย ต้องสอนเด็กว่าเมื่อรู้สึกไม่ปลอดภัย ตกอยู่ในอันตราย หรือมีคนพาออกไปที่อื่น ต้องร้องขอความช่วยเหลือกับคนที่ผ่านไปมาทันที เพราะส่วนใหญ่คนร้ายไม่มีรถส่วนตัว จะพาขึ้นรถไฟ รถเมล์ รถสาธารณะ รถสองแถว
3. พ่อแม่ต้องปลูกฝังและสอนบุตรหลานบ่อยๆ อย่าขู่ลูกว่าระวังแก๊งรถตู้จับเด็ก ต้องสอนเขาว่าเวลาคนแปลกหน้าให้ขนม ของเล่น ถ้าไม่ใช่ญาติ คนคุ้นเคย หรือพ่อแม่ไม่อยู่ด้วย อย่ารับของเด็ดขาด ต้องรีบกลับมาหาพ่อแม่ ครู มาถามก่อนว่ารับได้ไหม ให้เด็กรู้ว่าเวลาใครจะให้ของก็ต้องวิ่งมาหาแม่ก่อน
"อย่าคิดว่าเรื่องเด็กหายเป็นปัญหาไกลตัว มันสามารถเกิดขึ้นกับทุกครอบครัว การระมัดระวังเป็นสิ่งที่ป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดความสูญเสียได้มากที่สุด เพราะระยะหลังข่าวลักพาตัวเด็กมีแนวโน้มที่คนร้ายจะก่อเหตุกระทำทางเพศ หรือฆาตกรรมเด็กเพื่อปิดปากด้วย เราควรช่วยกันป้องกัน เพราะโอกาสที่จะได้ลูกกลับมาอย่างมีชีวิตอาจไม่มีก็ได้" นายเอกลักษณ์กล่าวทิ้งท้าย
...