แต่โพลชี้ยังมีสุข ฝากแก้-ปากท้อง โหรคมช.ให้ระวัง เหตุที่ไม่คาดฝัน!
รุมสับ 3 ปีรัฐประหาร “จาตุรนต์” ชี้ชาวบ้านยังเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจยอบแยบ ปฏิรูปไม่คืบหน้าความขัดแย้งแค่ถูกกดทับไว้ด้วย ม.44 “ชัยเกษม” จวก คสช.ออก ก.ม.ตามอำเภอใจ ไม่เห็นหัวประชาชน พท.เย้ยยิ่งอยู่นานยิ่งแย่ ยอดคนจนพุ่งพรวดพราด ปชป.สำทับสงบสุขลวงตา ขัดแย้งแตกแยกถูกซุกไว้ใต้พรมรอวันปะทุ “ยะใส” ติง คสช.หวาดระแวงจนปฏิรูปไม่คืบ แนะลงมือจริงจังช่วงโค้งสุดท้าย โหร คมช.เตือนให้ระวังเหตุไม่คาดฝัน-ภัยธรรมชาติ โพลชี้ประชาชนสุขลดลงกว่าปีที่แล้ว ห่วงปัญหาเดิมเรื่อง ศก.ปากท้อง กลุ่มต้าน คสช.จัดงานเสวนาโดนเซ็นเซอร์ห้ามเอ่ย “คสช.-รัฐประหาร” ต้องเปลี่ยนชื่องาน พร้อมชูป้ายแทนคำพูด สนช.ปิดจ๊อบเสวนา ก.ม.ลูกนอกสถานที่ ไร้คืบหน้า ปมขบเหลี่ยมเดิมๆยังแขวนต่องแต่ง “เรืองไกร” จอมร้อง จ่อยื่น ป.ป.ช.สอบทรัพย์สิน รมว.วิทยาศาสตร์ฯ
22 พ.ค. 2560 ครบรอบ 3 ปีของการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะ คสช. ฝ่ายการเมืองยังคงออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผลงานการบริหารประเทศเชิงติติง พุ่งเป้าไปที่ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง และมองว่าความขัดแย้งยังไม่ได้รับการแก้ไข เพียงแค่ถูกกดทับเอาไว้เท่านั้น
...
พท.ชี้ 3 ปี คสช.ใช้ ม.44 กดทับปัญหา
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการบริหารครบรอบ 3 ปีรัฐบาล คสช.ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ แก้ทุจริตล้มเหลว การปฏิรูปยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ส่วนที่เป็นจุดขายของ คสช.คือการทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยนั้น ยังมีความเข้าใจผิดของคนจำนวนไม่น้อย ต้องยอมรับว่าการรัฐประหาร การทำงานของ คสช.มีส่วนทำให้บ้านเมืองไม่เกิดความวุ่นวาย แต่นั่นก็เพราะการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ และการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายตามมา เพราะไม่ได้ส่งเสริมวิเคราะห์แก้ที่ต้นตอของปัญหา แต่ยังเก็บรักษาปัญหาต่างๆไว้ และสร้างความขัดแย้งใหม่ๆ ขึ้นอีกมาก เป็นการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ใช้มาตรา 44 หรือการออกกฎหมายหรือคำสั่งที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกดทับปัญหาไว้ และรอเวลาแสดงออกในอนาคตหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งการแสดงออกล่าสุดของแม่น้ำ 5 สาย ที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพการเสพติดอำนาจเบ็ดเสร็จ
เหน็บขอเวลาไม่นาน 3 ปียังเหลว
นายจาตุรนต์กล่าวว่า การที่นายกฯบอกต้องมาตามแก้ปัญหาเก่าๆที่สะสมมา พูดเช่นนี้พูดเมื่อไหร่ก็ถูก เพราะไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ต้องมีปัญหามาให้แก้อยู่เรื่อยๆ ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง แต่ 3 ปีน่าจะเกินพอที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมาได้บ้าง แต่คสช.ไม่ได้ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีได้เลย และเริ่มมีคนที่ไม่เห็นดีเห็นงามกับการใช้อำนาจที่ขาดวิสัยทัศน์ ไม่ฟังความเห็นประชาชน และจะรุนแรงมากขึ้น ถ้ามองย้อนกลับไปตรรกะ คสช.ที่ให้ไว้ขอเข้ามาอยู่ไม่นาน แก้เรื่องที่จำเป็นแล้วทหารจะกลับเข้ากรมกอง ปล่อยให้ทุกฝ่ายว่าตามกติกาใหม่ แต่ คสช.อยู่นานกว่าที่พูดไว้มาก พยายามจะทำสิ่งต่างๆ มากมายไปหมด แต่ล้มเหลว คนก็ยิ่งถามหาว่าเมื่ออยู่นานแล้ว เมื่อไหร่จะแก้ปัญหาได้เสียที ส่วนเวทีสร้างความสามัคคีปรองดองคาดหวังอะไรไม่ได้แน่ เพราะไม่เปิดวงกว้าง ไม่มีคนกลางคนมีความรู้ช่วยวิเคราะห์ต้นตอปัญหาจึงถูกมองข้าม ดังนั้นการที่พรรคไหนไปทำสัญญาประชาคมต้องคิดให้หนัก เพราะถ้าร่วมทำสัญญาเท่ากับยอมรับการรัฐประหารและการปรองดองที่ผิด
ซัดออก ก.ม.ตามอำเภอใจ
นายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลออกมาพูดตลอดว่าต้องตามแก้ปัญหาเก่าๆที่สะสมมานานกลายเป็นอุปสรรคการทำงานล่าช้านั้น จริงๆแล้วต้องดูหลายปัจจัย แต่อุปสรรคใหญ่คือความไม่เป็นประชาธิปไตย ออกกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่เท่าที่ควร นึกอยากจะทำก็สั่ง โดยไปแก้หรือไปปลดท่านไม่ได้ จะรอเลือกตั้งก็ไม่รู้ต้องรอเก้อหรือเปล่า เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ส่วนการโหมกระแสผลงานว่าสถิติบีโอไอมีการยื่นขอส่งเสริมของโครงการลงทุนเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่บอกว่าที่มาขอแล้วได้รับการอนุมัติ มีใครกล้าลงมือทำบ้าง ต้องเอาสถิติตรงนั้นมาพูดความจริงกับประชาชนในทุกมิติ ส่วนโครงการใหญ่ที่ระบุยังมีการต่อต้านแบบเดิมๆนั้น ถามว่ามีใครจะต่อต้านถ้าท่านจะพัฒนาประเทศ มีแต่ต่อต้านเรื่องเรือดำน้ำก็ไม่เห็นจะฟัง ดีหรือไม่ดีก็ตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งลำบาก ก็ลากถูกันไปแบบนี้
ยอดคนจนพุ่งปีเดียว 7 ล้านคน
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถึงวันนี้ คสช.คงตระหนักดีว่าการวิจารณ์การทำงานรัฐบาลเลือกตั้งนั้นง่ายกว่าการเข้ามาบริหารประเทศด้วยตัวเอง การรัฐประหารครั้งนี้เสียของหรือไม่ เพราะกลายเป็น 3 ปีที่มีของหาย 3 ด้านหลัก คือ 1.สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน สื่อมวลชนถูกลิดรอน 2.กระบวนการตรวจสอบทุจริตหายไป กลายเป็นกระบวนการฟอกขาวมาแทน 3.โอกาสมีคุณภาพชีวิตที่ดี ระบบเศรษฐกิจที่สร้างโอกาสหายไป 3 ปี ที่ผ่านไปของ คสช. นอกจากปัญหาเก่าจะแก้ไม่ได้ แต่มีปัญหาใหม่และใหญ่เกิดขึ้นมามากมาย แม้แต่คนในรัฐบาลยังยอมรับสารภาพว่าเศรษฐกิจแย่ลงทุกระดับ ที่พุ่งขึ้นมีอย่างเดียวคือ ตัวเลขคนจนเพิ่มขึ้นภายในปีเดียว 7 ล้านคน จากการลงทะเบียนคนจนที่พุ่งทะลุ 15 ล้านคน บริหารประเทศ 3 ปี มีคนจนเพิ่มเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ ถ้าอยู่ต่อปีที่ 4 ปีที่ 5 ยิ่งอยู่นาน คนจนยิ่งเพิ่มขึ้น คสช.ต้องตั้งสติ ช่วงเวลาที่เหลือต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นนำประเทศกลับสู่การเลือกตั้ง อาจจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นขึ้นมาได้บ้าง
...
ห่วงสงบแค่ภาพลวงตารอวันปะทุ
นายประมวล เอมเปีย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาล คสช.ระบุถึงผลงานครบรอบ 3 ปีว่า สร้างความสงบสุขและยืนยันการสร้างความปรองดองสำเร็จแน่นั้น ต้องยอมรับว่า 42% ของผลสำรวจความเห็นของประชาชนพอใจในผลงานรัฐบาล คสช. ที่สร้างความสงบสุขให้กลับคืนสู่สังคมไทยได้จริง สิ่งใดดีก็ขอชื่นชม แต่ยังเป็นห่วงว่าความสงบสุขนี้จะยั่งยืนตลอดไปหรือไม่ หรือเป็นแค่ภาพลวงตาที่ซุกความขัดแย้งแตกแยกไว้ใต้พรม เพราะรัฐบาลมีมาตรา 44 ควบคุมอยู่ เกรงว่าหาก กลับเข้าสู่สภาวะปกติหลังการเลือกตั้ง กลุ่มคนที่เคยใช้ความรุนแรง ใช้อาวุธสงคราม พวกฮาร์ดคอร์ จะหวนกลับมาอีก เพราะนายทุน นายใหญ่และเครือข่ายต่างๆของเขายังอยู่เหมือนเดิม เวลานี้จึงเปรียบเป็นการพักยกชั่วคราว ยังมีคลื่นใต้น้ำรอเวลาเท่านั้น เห็นชัดจากการป่วนเมืองกรณีระเบิดไปป์บอมบ์ ทั้งที่หน้ากองสลากฯ ถนนราชดำเนิน และหน้าโรงละครแห่งชาติ ที่ยังจับมือใครดมไม่ได้ ถ้าสงบสุขจริงจะมีการลองของกระตุกหนวด คสช.อย่างนี้หรือ
ขออย่าเล่นปาหี่จับแพะคดีระเบิด
“ผมขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายงานข่าวในการสะสางคดีนี้ ขอให้ทำจริง จับให้ได้ตัวจริง ไม่ใช่แพะ เพื่อสาวให้ถึงตัวการใหญ่ อย่าลูบหน้าปะจมูก หรือมีรายการคุณขอมาแบบคดีวัดพระธรรมกายที่ใช้ทั้งดีเอสไอ ทหาร ตำรวจหลายกองร้อย เจ้าหน้าที่นับพันนายปิดล้อมวัด จนชาวบ้านส่ายหน้า หัวเราะเยาะว่าเป็นปาหี่ สร้างภาพกลบข่าวบางข่าวของผู้มีอำนาจบางคนในรัฐบาล อย่านึกว่าชาวบ้านเขาไม่รู้ ลองไปนั่งร้านกาแฟฟังชาวบ้านร้านตลาดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลล้วนสะท้อนความจริงในสังคมทั้งนั้น” นายประมวลกล่าว
“ยะใส” ติง คสช.ระแวงจนปฏิรูปไม่คืบ
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวถึงการบริหาร ครบ 3 ปีของ คสช.ว่า รัฐบาลนี้มาในสถานการณ์พิเศษ มีวาระเรื่องที่สังคมคาดหวังเป็นกรณีพิเศษ คือการปรองดองและปฏิรูปประเทศ หวังว่าทั้ง 2 เรื่องจะเป็นรูปธรรมก่อนมีการเลือกตั้งทั่วไป แต่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เห็นผลทั้ง 2 เรื่อง กรณีการปรองดอง ปมความขัดแย้งแตกแยกยังคงอยู่ แค่ถูกกดทับด้วยอำนาจพิเศษของ คสช. เมื่อสถานการณ์เหมาะสม ปมเหล่านี้ก็จะกลับมาอีก และมีโอกาสปะทุขึ้นในช่วงเลือกตั้ง ส่วนเรื่องการปฏิรูปในระดับการผ่าตัดโครงสร้างอำนาจยังไม่ชัดเจน แม้รัฐบาล คสช.จะเห็นปัญหาจนต้องตั้ง ป.ย.ป.ขึ้นมาเพื่อกระชับอำนาจ เพื่อดูงานปฏิรูปประเทศโดยตรง แต่ 3 เดือนของ ป.ย.ป.กลับแบกอยู่กับงานระดับกระทรวง จึงยังไม่เห็นการจุดพลุในเรื่องใหญ่ๆที่เป็นการปฏิรูประดับโครงสร้างอำนาจอย่างแท้จริง ดังนั้น ตั้งแต่ตอนนี้จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ถือเป็นโค้งสุดท้ายที่ คสช.ต้องผลักดันลงมือปฏิรูปในเรื่องใหญ่ๆ ควรใช้กลไก หรือเวทีเพื่อดึงพลังหรือกระแสปฏิรูปต่อสังคมและประชาชนมาเป็นแนวร่วมมากขึ้นไม่ใช่คอยตั้งแง่หรือหวาดระแวงเหมือนที่ผ่านมา
...
โหร คมช.ให้ระวังเหตุไม่คาดฝัน
ด้านนายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ หรือโหร คมช.กล่าวว่า ระยะ 3 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย สังเกตจากความเป็นอยู่ของประชาชนต่างจากเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว และเชื่อว่าเวลาที่เหลือจากนี้อุปสรรคที่ คสช.จะเจอไม่เหลือบ่ากว่าแรง สามารถไปได้ตลอดรอดฝั่ง สำหรับปีนี้ อาจมีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้น ถ้ามีเหตุการณ์อาจทำให้เวลาต้องขยับออกไปบ้าง แต่เรื่องของการเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่ตามโรดแม็ปรัฐบาล อย่างช้าสุดเลือกตั้งช่วงปี 61 ส่วนการทำงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. สามารถควบคุมกำกับได้ การปรับ ครม.ยังไม่ใช่เวลานี้ ยังอีกระยะหนึ่ง ต้องดู ครม.ชุดปัจจุบันทำงานได้ตามเป้าหรือไม่ แต่เรื่องที่น่ากังวลสุดคือเรื่องธรรมชาติมากกว่าที่ต้องตั้งรับให้ดี เพราะปีนี้มาเร็วกว่าที่คิดไว้
3 ปี คสช.ประชาชนยังมีสุข
วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “3 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ” สำรวจระหว่างวันที่ 11-12 พ.ค. จากประชาชนทั่วประเทศ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 42.00 ระบุว่าในโอกาสครบรอบ 3 ปี การบริหารราชการแผ่นดินของ คสช. มีความสุขเท่าเดิม เพราะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ชีวิตความเป็นอยู่เหมือนเดิม การบริหารงานไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม เศรษฐกิจ และค่าครองชีพยังสูงเช่นเดิม รองลงมาร้อยละ 32.64 ระบุว่า มีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีการชุมนุมและความวุ่นวายทางการเมือง บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น ปัญหายาเสพติด การก่ออาชญากรรม การทุจริตคอร์รัปชันลดลง เป็นต้น ขณะที่ร้อยละ 21.76 ระบุว่า มีความสุขลดลง เพราะเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนแย่ลง ค่าครองชีพสูง ราคาพืชผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ การบังคับใช้ และการแก้ไขกฎหมายไม่ตรงจุด มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป นโยบายบางอย่างยังไม่ชัดเจน แต่ปัญหาต่างๆกลับมีเพิ่มมากขึ้น และขาดความมั่นคงทางประชาธิปไตย ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ 2 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ ที่ทำการสำรวจเมื่อเดือน พ.ค. 2559 พบว่า สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขลดลงจากเดิมร้อยละ 37.68 เหลือร้อยละ 32.64
...
ห่วงเรื่องเดิมฝากดูแลปากท้อง
ขณะที่ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 15-20 พ.ค. ถึงข้อแนะนำที่ประชาชนอยากฝากถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กับการก้าวสู่ปีที่ 4 สรุปผลได้ ดังนี้ ร้อยละ 80.15 อยากให้กระตุ้นเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน ร้อยละ 78.99 อยากให้แก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ร้อยละ 77.08 อยากให้ใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม คุ้มค่า ร้อยละ 74.22 อยากให้ช่วยเหลือเกษตรกร ดูแลราคาพืชผลทางการเกษตร ร้อยละ 72.65 ควรมีการรับฟังความคิดเห็นก่อนมีการบังคับใช้กฎหมาย ร้อยละ 68.28 อยากให้เร่งแก้ไขปัญหาไฟใต้ สร้างความสงบในพื้นที่ ร้อยละ 64.26 ให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วางระบบการ ขนส่งมวลชนที่ดี ร้อยละ 62.76 พัฒนาด้านการศึกษา ไม่เปลี่ยนนโยบายบ่อย ร้อยละ 59.35 เปิดโอกาสให้ตรวจสอบการทำงาน และร้อยละ 55.67 ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิต จัดสวัสดิการที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย
กลุ่มต้าน คสช.จัดงานโดนเซ็นเซอร์
ด้านความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้าน คสช.ที่รวมตัวกันจัดงานรำลึก 3 ปี การรัฐประหาร เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ห้องประกอบหุตะสิงห์ อาคารอเนก-ประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือดีอาร์จี จัดเสวนาหัวข้อ “3 ปี ไทย ประเทศไทยอยู่ตรงไหนของโลกใบนี้” โดยก่อนหน้ากิจกรรมจะเริ่ม พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ รอง ผกก.สส.สน.ชนะสงคราม ช่วยราชการ ศปก.บก.น.1 พ.อ.นัฐพล วิเชียรวรรณ เสธ.ป.1 รอ. เข้าเจรจากับ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว แกนนำกลุ่มดีอาร์จี เพื่อขอตรวจสอบเนื้อหาของงาน ก่อนยึดหนังสือแบบแผ่นพับนับร้อยเล่ม ที่กลุ่มดีอาร์จีเตรียมไว้แจกจ่ายกับมวลชน ชื่อหนังสือว่า “unhappy birthday สุขสันต์วันเกิด 3 ปี คสช. กับของขวัญที่คนไทย (ต้อง) มอบให้” เนื่องจากมองว่าเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาโจมตี คสช. อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ให้ เหลือไว้เพียงส่วนหนึ่งเพื่อแจกจ่ายสื่อมวลชน แต่ต้องใช้เทปกาวปิดหน้าปก เพื่อเซ็นเซอร์คำว่า คสช.ออก สร้างความไม่พอใจแก่ น.ส.ชลธิชา จึงนำหนังสือที่เจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์คำว่า คสช.ออกมาโชว์ผู้สื่อข่าวแล้วนำเทปกาวมาปิดปาก เพื่อแสดงสัญลักษณ์การถูกลิดรอนเสรีภาพ พร้อมระบุว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่บุกมาหาที่งานศพน้องชาย ยืนยันจะไม่ยอมให้จัดงานนี้ เว้นแต่จะย้ายสถานที่หรือเปลี่ยนหัวข้อ แต่ตนไม่ยอมย้ายขอเปลี่ยนชื่องานเสวนาเป็น “unhappy birthday 3 ปี ประเทศไทยที่ไร้การเลือกตั้ง” แทน เจ้าหน้าที่จึงยินยอม แต่กำชับว่าห้ามไม่ให้พูดคำว่า คสช. รัฐประหาร เผด็จการในงานเด็ดขาด มิฉะนั้นจะไม่ให้จัด
พูดคำว่า คสช.–รัฐประหารไม่ได้
จากนั้นเวลา 13.00 น. การเสวนารำลึก 3 ปี รัฐประหาร คสช.เริ่มขึ้น ท่ามกลางแกนนำกลุ่มมวลชน ที่เคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.ทุกกลุ่มเข้าร่วม อาทิ นายกรกช แสงเย็นพันธ์ อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ อดีตแกนนำกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักเรียนเตรียมอุดมที่เคยชูป้ายต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการกฎหมายอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นางศรีไพร นนทรี แกนนำกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ท่ามกลางการจับตาอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบ โดยเนื้อหาการเสวนาพุ่งเป้าโจมตีและชี้ให้เห็นถึงผลเสียของการรัฐประหาร ทั้งด้านการศึกษา กฎหมาย สิ่งแวดล้อม แรงงาน ฯลฯ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการกล่าวถึง คสช. หรือการรัฐประหาร แกนนำมวลชนทุกกลุ่มต้องใช้กระดาษ 3 ใบ ที่เขียนคำว่า คสช. รัฐประหาร มาชูแทนคำพูด เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกสั่งยุติการจัดงาน
สนช.ปิดจ๊อบสัมมนานอกสถานที่
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมนิวแทรเวิลลอด์จ จันทบุรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จัดสัมมนาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 กล่าวปิดการสัมมนาว่า เป้าหมายของการจัดสัมมนาครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อยุติประเด็นที่ค้างคา แต่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจของสมาชิก สนช.ในการประชุมโหวตร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ เพราะหากไม่มีข้อมูลเหล่านี้ สนช.อาจจะโดนครหาว่าขาดความเป็นอิสระ ประชาชนคาดหวัง ฝาก กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. เรื่องการตีความการจัดการเลือกตั้ง 150 วัน ด้วยว่า ต้องทำให้ชัดเจนอย่าให้เกิดความคลุมเครือ ส่วนกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และที่มา ส.ว. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องรอให้ร่างกฎหมาย 2 ฉบับแรกนี้เสร็จก่อนถึงจะร่างได้ และความสำคัญของกฎหมาย 2 แรกฉบับนี้จะเป็นคำตอบของประชาชนเรื่องเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศ จะสามารถนำประเทศไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้หรือไม่
ฝากโจทย์ 4 ข้อปฏิรูปการเมือง
นายสุรชัยกล่าวว่า ขอฝากว่า การจะปฏิรูปการเมือง ต้องอาศัยกฎหมาย 2 ฉบับนี้ ต้องทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปบริสุทธิ์ ยุติธรรม การปฏิรูปการเมืองไม่อาจสำเร็จได้ หากไม่ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง กฎและกติกาเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ สุดท้ายแนวคิดของ กรธ.ที่ร่างกฎหมายลูกมาถูกต้องแล้วหรือยัง อยู่ที่สมาชิก สนช.จะต้องตรวจสอบ ส่วน กมธ.ที่พิจารณามีหน้าที่เพียงกลั่นกรองเท่านั้นเอง ซึ่งการเขียนกฎหมายทั้งหมดต้องตอบโจทย์การปฏิรูปด้านการเมือง 4 เรื่อง คือ 1.ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปบริสุทธิ์ 2.ทำอย่างไรที่จะพัฒนาพรรคการเมือง 3.ต้องมีกฎหมายส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และ 4.จะทำอย่างไรจะได้กฎหมายที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่ผูกขาดโดยนักการเมือง เป้าหมายเหล่านี้ต้องทำให้เกิดขึ้น ขอฝาก กมธ.ทั้ง 2 คณะดูเรื่องเหล่านี้ด้วย รวมทั้งหลักการของกฎหมายสองฉบับนี้จะต้องไม่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะไม่อยากเห็นขั้นตอนต้องมาสะดุดลง
ยังชั่งใจใช้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง
พล.อ.ศุภวุฒิ อุตมะ เลขานุการ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. สนช. กล่าวสรุปว่า ประเด็นในร่าง พ.ร.บ.กกต.ที่ค้างการพิจารณา คือ ประเด็นการยกเลิก กกต.จังหวัดแล้วให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน วิเคราะห์ว่าข้อดีของการกำหนดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง จะเป็นการปรับรูปแบบใหม่ ลดข้อครหาการใช้อำนาจที่ไม่เป็นกลางของ กกต.จังหวัด ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากขึ้น ลดเรื่องความใกล้ชิดของพื้นที่ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความเป็นอิสระ คล่องตัว ส่วนคุณสมบัติของผู้ตรวจการเลือกตั้งก็กำหนดไว้สูงช่วยถ่วงดุลอำนาจของผู้อำนวยการ กกต.จังหวัดด้วย แต่ข้อดีของ กกต.จังหวัด ก็จะเข้าใจพื้นที่มากกว่า ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่า อีกทั้ง กกต.จังหวัด มีความผูกพันในพื้นที่มากกว่าและผู้ตรวจการเลือกตั้งที่จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงเมื่อเทียบกับ กกต.จังหวัด
ก.ม.พรรคการเมืองยังไม่สะเด็ดน้ำ
ด้าน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวว่า เรื่องการจ่ายทุนประเดิมจัดตั้งพรรคการเมืองยังมีความเห็นที่หลากหลาย บางส่วนเห็นว่าไม่ควรมี เพราะจะเป็นการขวางกั้น ไม่ให้ผู้ยากไร้ได้จัดตั้งพรรคการเมือง แต่บางส่วนเห็นว่าควรจะมี เพราะพรรคการเมืองจะได้ไม่เป็นเครื่องมือของนายทุน ขณะที่การจ่ายค่าบำรุงสมาชิกพรรคการเมือง มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเช่นกัน แต่ในร่างกฎหมายลูกฉบับนี้กำหนดให้ต้องจ่ายค่าสมาชิก เพราะในอดีตสมาชิกและพรรคการเมืองไม่มีความสัมพันธ์ต่อกัน ไม่มีการดำเนินการกิจกรรมร่วมกันระหว่างสมาชิกและพรรคการเมือง จึงเกิดการสมัครสมาชิกซ้ำซ้อนในหลายพรรคการเมือง โดยในร่างนี้กำหนดให้จ่ายไม่น้อยกว่า 100 บาทต่อปี แต่บางส่วนเห็นควรให้จ่ายน้อยกว่า 100 บาทต่อปี หรือในปีแรกควรจะงดเว้นการเก็บค่าสมาชิก นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการปฏิรูปพรรคการเมืองที่เสนอให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนในการเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ด้วย
กกต.เล็งใช้ “อีอาร์เอ็ม” จัดเลือกตั้ง
เมื่อเวลา 10.30 น. ที่โรงแรมวี ราชเทวี นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง ร่วมอภิปรายหัวข้อ “มองการเลือกตั้งครั้งหน้าตามตารางต่างประเทศ” ในการประชุมเชิงปฏิบัติการของมูลนิธิองค์การกลางเพื่อประชาธิปไตย โดยกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการนำโปรแกรมบริหารจัดการความเสี่ยงในการเลือก หรืออีอาร์เอ็ม มาทดลองใช้ในการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2559 ที่มี 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การอบรมอาสาสมัคร การตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์ของอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ และการประเมินภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี ตนจึงจะเสนอให้ใช้โปรแกรมดังกล่าวในการเลือกตั้งปี 2561 ที่จะถึงด้วย โดยจะเพิ่มปัจจัยสำคัญเข้าในโปรแกรม เช่น ความเสี่ยงในการทุจริต จะจัดกลุ่มเขตเลือกตั้งที่เสี่ยง และจะจัดบุคลากรเพิ่มเติมในเขตนั้น เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง รวมทั้งการเสริมให้มีภาคประชาชนเข้าร่วมตรวจสอบความโปร่งใส โปรแกรมนี้ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม แต่จะจัดเข้ากับการอบรมในจังหวัดต่างๆ
เตรียมพร้อมตั้งรับทุกกระบวนท่า
นายสมชัยยังกล่าวถึงกรณีร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ว่า ต้องรอผลโหวตของ สนช. ในวันที่ 9 มิ.ย. หากโหวตผ่านจะทำให้นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วมต้องหลุดออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเคยเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่วนตนได้เตรียมเอกสารหลักฐานการทำงานภาคประชาสังคม ซึ่งรวบรวมได้กว่า 22 ปี ไว้เรียบร้อยแล้ว จึงคิดว่าน่าจะเพียงพอตามที่มีการกำหนดให้ผู้ที่จะเข้ารับการสรรหาต้องทำงานภาคประชาสังคมไม่น้อยกว่า 20 ปี และจะส่งเอกสารและหลักฐานให้คณะกรรมการสรรหาเพื่อพิจารณาคุณสมบัติ กกต.ว่าครบถ้วนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ ของกรรมการ ถ้าพอใจก็ทำงานต่อ หากไม่พอใจก็พ้นจากหน้าที่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีใครหลุดจากตำแหน่ง แต่องค์กรยังอยู่ คนใหม่ต้องมาเรียนรู้ศึกษางานคนเก่า เป็นเรื่องปกติ อย่าไปยึดติด ส่วนที่จะมีการยกเลิก กกต.จังหวัด กกต.รับได้ทุกวิธี แต่มองว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งก็มีจุดอ่อนบางเรื่อง ส่วน กกต.จังหวัดก็มีข้อดีข้อเสีย ไม่ว่าออกมาทางใด ก็เตรียมการไว้ทุกวิธีแล้ว
ยื่นสอบ “อรรชกา” แจ้งบัญชีเท็จ
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันที่ 22 พ.ค. เวลา 10.00 น.จะไปยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบนางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ เพราะเมื่อตรวจสอบการยื่นบัญชีทรัพย์สินของนางอรรชกา 3 กรณีได้แก่ เมื่อรับตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม พ้นตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม และรับตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ พบว่ามีการแสดงรายการเงินให้กู้ยืมแก่บริษัท รุ่งเรืองมหาเศรษฐี จำกัด จำนวน 39,333,333 บาท ทำให้เข้าใจได้ว่า บริษัทดังกล่าวมีนางอรรชกาแสดงเป็นเจ้าหนี้ในงบการเงินด้วยยอดเงินที่เท่ากันไว้ด้วย แต่จากการตรวจสอบข้อมูลของบริษัท รุ่งเรืองมหาเศรษฐี จำกัด จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่พบว่ามีการแสดงรายการกู้ยืมเงินจากนางอรรชกาในบัญชีการเงินของบริษัท โดยงบการเงินตั้งแต่ปี 2556-2559 มีนางฉฎา สีบุญเรือง เป็นกรรมการเพียงคนเดียว และเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดจากจำนวน 500,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท ยกเว้นเพียง 2 หุ้นที่เป็นบุคคลอื่นคนละ 1 หุ้น จึงต้องร้องขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่านางอรรชกาให้กู้ยืมแก่บริษัทจริงหรือไม่ เพราะงบการเงินของบริษัทไม่มีเงินดังกล่าว ถือเป็นการแจ้งเท็จต่อ ป.ป.ช. หรือไม่ โดยเทียบเคียงมาตรฐานกรณีที่ ป.ป.ช. เคยตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ในกรณีเดียวกันก่อนหน้านี้
ตามอัด สนช.ชงขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงและกังวลต่อการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาก จู่ๆเสนอให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้น 1% เพื่อหาเงินให้รัฐบาลบริหารงาน ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่สร้างความ เดือดร้อนแก่ผู้มีรายได้น้อย แทนที่จะเสนอให้รัฐบาลรัดเข็มขัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ลดงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ใช่พอรัฐบาลเสนอของบประมาณประจำปี ก็ผ่านกันแบบง่ายๆ 3 วาระ แทบไม่ศึกษารายละเอียดความจำเป็นหรือความคุ้มค่าการลงทุนแม้แต่น้อย ทำมาตลอด 4 ปีงบประมาณติดต่อกัน และการขึ้นเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็อนุมัติทำกันมาตลอด 3-4 ปี รวมทั้งยังเอาเวลาไปจัดสัมมนาต่างจังหวัด แทนที่จะเร่งยกร่างกฎหมายต่างๆที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้เสร็จโดยเร็ว ไม่อยากเห็นการยกร่างกฎหมายใช้วิธีมั่ว เอาง่ายเข้าว่า ผ่านความเห็นเพราะเชิญพวกเดียวกันมาสอบถามแล้ว สนช.ต้องไม่ลืมว่าทำหน้าที่เสมือนรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาฯ จะผ่านกฎหมายหรือมีมติอะไรทำได้ง่ายมากๆ แต่อย่าทำอะไรขัดรัฐธรรมนูญปี 60 เพราะฝ่ายนิติบัญญัติต้องรับผิดชอบเต็มๆ กับข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ย้าย สตช.ซบ ยธ.ไม่ตอบโจทย์ปฏิรูป
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนงานปฏิรูปกิจการตำรวจในคณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอรูปแบบการปฏิรูปตำรวจให้โอนย้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไปสังกัดกระทรวงยุติธรรมว่า การโอนย้ายตำรวจไปสังกัดหน่วยงานใด หรือกระทรวงใดก็ตาม ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาการทำงานของตำรวจได้ การโอนย้าย สตช.ไปสังกัดกระทรวงยุติธรรมไม่น่าจะตอบโจทย์ เพราะโครงสร้างการทำงานของตำรวจยังเหมือนเดิม การปฏิรูปตำรวจให้ได้ผลจริงจังควรคำนึงถึงการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจทั้งหมด ที่จะทำให้การบริหารงานการทำงานของตำรวจเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ที่สำคัญที่สุดการปฏิรูปตำรวจควรเอาประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นตัวตั้ง น่าเสียดายว่าเรื่องการปฏิรูปตำรวจควรเป็นเรื่องแรกๆที่ คสช.ควรทำตั้งแต่ปีแรกของการเข้ามามีอำนาจ เพราะมีทั้งอำนาจเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ มีงบประมาณ กำลังคน แต่ผ่านมา 3 ปี ก็ยังไร้การปฏิรูปอย่างจริงจัง จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าผิดหวังของ คสช.
“วิลาศ” จี้ มท.1 สอบสาวไส้ กปภ.
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า หลังจากที่ตนเปิดเผยข้อมูลการแต่งตั้งผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ว่ามีความไม่ชอบมาพากล และการทุจริตในหลายเรื่องในองค์กร กปภ. โดยต่อมานายธงชัย ระยะกุญชร ผอ.กองสื่อสารองค์กร และโฆษก กปภ.ตอบโต้ว่าไม่จริงนั้น ขอให้ฟ้องร้องได้เลย ตนยังพบพิรุธอีกหลายอย่าง เช่น การก่อสร้างโมบายแพลนท์ ซึ่งบริษัทก่อสร้างโมบายแพลนท์ได้พาคณะผู้บริหาร กปภ.กว่า 30 คน ไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะถือเป็นการรับของขวัญเกิน 3,000 บาท รวมถึงกรณีเกิดเหตุไฟไหม้ กปภ.เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ที่ กปภ.แถลงว่าไหม้ที่บริเวณชั้น 4 แต่กลับมีการเบิกงบปรับปรุงตั้งแต่ชั้น 1-4 และยังมีข้อสงสัยการจัดซื้อรถนิทรรศการจำนวน 11 คัน คันละ 3.8 ล้านบาทรวม 42 ล้านบาท ตกแต่งจนตอนนี้ไม่รู้ว่าสามารถต่อ พ.ร.บ.ได้หรือไม่ รวมถึงการซื้อรถจักรยานยนต์ ทีวี ให้ กปภ.ทั่วประเทศ ทั้งหมดนี้พบว่าซื้อในราคาที่สูงเกินจริงทั้งสิ้น จึงขอเรียกร้อง รมว.มหาดไทยตรวจสอบสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นใน กปภ.มากมาย ทั้งกรณีเรื่องร้องเรียน และรับผลประโยชน์ กรณีทุจริตซึ่งเสียหายกระทบถึงท่าน ทำไมไม่กล้าตรวจสอบ หรือเห็นดีเห็นงามไปด้วย
ข้องใจรถไฟฟ้าสีส้มไม่โปร่งใส
นายวิลาศกล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่ ครม.มีมติเมื่อเดือน เม.ย.2559 ให้ก่อสร้างงานโยธา รถไฟฟ้าสายสีส้มเส้นทางศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี วงเงิน 8.29 ล้านบาท ซึ่งต้องมีการประมูลบริษัทที่ปรึกษาในการก่อสร้างก่อน แล้วค่อยเปิดประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่โครงการนี้กลับพบว่ามีการประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างก่อน เปิดซองประมูลหาบริษัทที่ปรึกษา จนได้มา 3 บริษัท และในการประชุมคณะกรรมการ รฟม. เพื่อพิจารณาว่าจ้าง นายกรณินทร์ กาญจโนมัย ผู้แทนสำนักงบประมาณได้ทักท้วงกลางที่ประชุมบอร์ด รฟม.ว่า การประมูลไม่น่าจะถูกต้อง เพราะแพงกว่าราคากลางของสำนักงบฯ ไป 200 กว่าล้านบาท ต่อมาทั้ง 3 บริษัทยอมลดค่าจ้างลงมารวม 43 ล้านบาท บอร์ด รฟม.ก็ยอมและส่งจดหมายเวียนถึงกรรมการทุกคนในวันที่ 17 พ.ค.ให้ตอบกลับในวันที่ 18 พ.ค.ว่าตกลงหรือไม่ ตนสงสัยว่าเพราะอะไร ทั้ง 3 บริษัทจึงได้ลดค่าจ้างลงรวม 43 ล้านบาท ทั้งที่ผู้แทนสำนักงบฯ ทักท้วงว่าแพงเกินจริงกว่า 200 ล้านบาท และเหตุใดบอร์ดจึงใช้หนังสือเวียนแทนการประชุม นอกจากนี้ยังพบว่าในบริษัทที่ 1 ซึ่งรับปรึกษาโครงการมีบอร์ด รฟม. 1 คน มีชื่อเป็นอดีตประธานบริษัทที่ชนะการประมูล และบริษัทที่ 2 มีภรรยาของกรรมการบอร์ด รฟม. มีหุ้นสูงสุดในบริษัทนั้น ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
รัฐแจงคนหนุนสร้างโรงไฟฟ้าใต้
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. รับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการสร้างความรู้ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2560 จาก 3 เวที ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยมีผู้เข้าร่วม 3,485 คน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นถึงความจำเป็นที่ควรสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ รองลงมายังไม่แน่ใจ และมีส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วย ควรใช้การบริหารจัดการ เช่น รณรงค์การประหยัดไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน สำหรับข้อกังวลสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้แก่ กระบวนการขนส่งถ่านหิน วิธีการควบคุมมลพิษ การบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการท่องเที่ยว โดยเห็นว่าควรให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมติดตามในการผลิตไฟฟ้า และนายกฯกำชับกระทรวงพลังงานขยายการทำความเข้าใจไปยังทั่วประเทศด้วย