บัณฑูร ล่ำซำ
ป่าต้นน้ำน่าน...ปัญหาเรื้อรัง “เมืองน่าน” ที่เปรียบเสมือนสัญญาณชีพปิ่มๆอยู่ในห้องไอซียูรอวันหมดลมหายใจ ด้วยขาดการเหลียวแลจาก “ภาครัฐ” มานานแสนนาน
การตัดไม้ทำลายป่ายังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางปฏิกิริยาการแก้ปัญหาจากภาครัฐยังคงสงบนิ่ง
“การปลูกป่า” กับ “การแก้ปัญหา” ป่าต้นน้ำน่านเป็นคนละเรื่องเดียวกัน...ต้นทางปัญหายังไม่ได้ตกลง “การจัดสรรที่ดิน” ทำกินให้ถูกต้อง...ความเป็นไปได้ต่างๆ กระทั่งนำไปสู่การคลี่คลายปัญหายังไม่มี
บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย หัวเรือใหญ่คนสำคัญปฏิบัติการ “รักษ์ป่าน่าน” บอกว่า ปัญหาป่าต้นน้ำน่านเป็นสมการคณิตศาสตร์ที่แก้ได้ยากยิ่ง ต้องใช้แว่นขยายส่องดูทุกซอกมุม...ไม่มีจังหวัดไหนในประเทศไทยถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งจังหวัด
“ประกาศแล้วทำให้เกิดข้อจำกัดมากมาย แค่เดินท่อน้ำไปใช้ประโยชน์ยังชีพยังยากลำบากทำไม่ได้ง่ายๆ...เสมือนคนอยู่ในพื้นที่ ตั้งรกรากดั้งเดิมถูกกรอบกฎหมายขีดวงจำกัดให้อยู่แบบโดดเดี่ยว”
จังหวัด “น่าน” พื้นที่ใหญ่พอสมควร ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ป่าสงวนจริงๆฉายภาพดาวเทียมให้เห็นไม่ค่อยเป็นป่าเสียแล้ว จะโล้นโล่งอยู่ไม่น้อย ถูกแผ้วถางกินพื้นที่เข้าไปเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์
...
ประเด็นน่าสนใจ...ความเร็วในการสูญเสียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิบปีที่ผ่านมามีป่าหายไปราว 2.5 แสนไร่ต่อปี...ด้วยการทำไร่ข้าวโพด พืชที่ บัณฑูร ใช้คำว่า “พืชเฮงซวย” ยิ่งทำยิ่งได้ผลประโยชน์ ป่าก็ยิ่งถูกรุกเร็วขึ้นทันตาเห็น
“ผลประโยชน์จากพืชเฮงซวยไม่ใช่ทำแล้วร่ำรวยเป็นเศรษฐีทันตา แต่ทำแล้วเรียกว่าดีกว่าไม่มีอะไรทำ...ชาวบ้านยังมีรายได้ มีเงินซื้อมอเตอร์ไซค์ โทรศัพท์มือถือ”
เหตุผลที่หนีจากพืชเฮงซวยไม่ได้ เพราะ “ข้าวโพด” มีวงจรบริหารจัดการครบวงจร จัดให้หมดทุกอย่าง ให้เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา แถมมีคนให้เครดิต ชาวบ้านทำอย่างเดียว...แค่หาที่หยอดเมล็ด มีคนให้ปุ๋ย
ที่สำคัญ...ตอนจบก็ยังมี “พ่อค้า” มารับซื้อถึงที่ แรกๆกำไรที่ได้ก็เป็นกอบเป็นกำขั้นหนึ่ง แต่มาตอนหลังราคาก็ตกลงมาเยอะ ทำแทบตาย...ถ้าคิดค่าแรงตัวเองด้วยก็อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย
ทั้งชีวิตชาวบ้านทำกันมาอย่างนี้ ไม่มีความรู้อะไร...ก็ต้องสู้ทนทำกันต่อไปอยู่อย่างนี้ จะเบนเข็มไปทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ รอบ 10 ปีที่ผ่านมากระบวนการปลูกข้าวโพดพืชเฮงซวยจึงถูกส่งไม้ต่อกันอย่างฝังรากหยั่งลึกให้ไม่ต้องคิดที่จะเรียนรู้ที่จะทำอย่างอื่น ทำเป็นแค่...หยอดเมล็ดข้าวโพดที่คลุกด้วยยาฆ่าแมลงแล้วเรียบร้อยเท่านั้น
“คนปลูกตายผ่อนส่ง คนใช้สอยน้ำ...ชะยาฆ่าแมลงไหลลงมาตามน้ำก็ตายผ่อนส่งไปด้วยกัน”
ความทับซ้อนปัญหา โจทย์ “ป่าน่าน” จึงตีไม่แตกด้วยไม่ได้มองความเป็นจริง ทว่า...โจทย์ที่ใหญ่ที่สุดก็คือ “ความล้มเหลวของ” รัฐบาลท้องถิ่น
ว่ากันว่า...ในระบบมหาดไทยน่านเป็นจังหวัดปลายแถว ใครที่ได้มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดน่านถือว่ามีสองวันที่ร้องไห้ วันแรกที่รู้ว่าได้มารับตำแหน่งกับวันที่ต้องมาอยู่ที่นี่...เท็จจริงประการใดคงต้องรอผู้รู้มาตอบ
“ระบบสร้างมาอย่างนี้ ทุกอย่างที่ทำก็เหมือนถูกปล่อยปละละเลย ทรัพยากร ความสนใจ ใส่ใจ ทุกข์สุข...รัฐบาลไม่สนใจ มหาดไทยไม่สนใจ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่สนใจ”
ลองสำรวจดูก็ได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่คิดถึงเมืองน่าน ไปดูเรื่องอะไร...ไม่ใช่เรื่องป่าไม้ ที่ว่าป่าจังหวัดน่านเป็น “ป่าต้นน้ำ” ของประเทศไทย หากแต่สนใจว่าเป็นแค่เมืองท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง
ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ นี่คือโจทย์สำคัญทาง...รัฐศาสตร์
ขยับความคิดต่อไปอีกหน่อย แล้วอะไรล่ะที่พิสูจน์ความล้มเหลวในเชิงรัฐศาสตร์?
บัณฑูร เน้นน้ำเสียงบอกว่า นับตั้งแต่เปลี่ยนระบอบการปกครอง พุทธศักราช 2475 ระบบมหาดไทย 80 ปี...ไปก็ไปไม่ถึง เครื่องบินก็เพิ่งมีไม่กี่ปีนี้เอง...ไม่เคยมีนายกฯไปลงพื้นที่เมืองน่านแบบเพื่อปฏิบัติราชการเลย กระทั่งเดือนตุลาคมปีที่แล้วขอท่านนายกฯขึ้นมาน่านสักวันหนึ่ง...ไปเห็นหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างที่นั่น
ต้องบันทึกไว้ว่า...พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ลงพื้นที่
...
พบกับชุมชนผู้นำตำบล 99 แห่ง กินข้าวกลางวันทนฟังปัญหาเงื่อนปมที่สั่งสม รัฐมนตรีมหาดไทย เกษตร ทรัพยากรธรรมชาติ ท่องเที่ยว อาจารย์วิษณุร่วมล้อมวงฟังปัญหา
พุ่งเป้าจี้หัวใจเรื่องกติกาการจัดสรรที่ดิน ประกาศเขตป่าสงวนโดยครอบลงมาในพื้นที่ชุมชน ผล...ทำให้ทุกคนกระดิกตัวไม่ได้ ภาครัฐก็ยื่นมือเข้ามาช่วยไม่ได้ด้วยผิดกฎหมาย ไม่จับ...ไม่ห้าม ขณะที่ชาวบ้านก็ทำอะไรไม่ได้ “คนที่เห็นปัญหาตั้งแต่ต้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีรับสั่งในวันรพี พระบรมราโชวาท 2516 กฎหมายมีไว้เพื่อความสุขสงบของประชาชน...”
สาระสำคัญมีว่า...“กฎหมายกับความเป็นอยู่จริงอาจขัดกันได้ กฎหมายมีช่องโหว่มาก...การตราพระราชบัญญัติป่าสงวนที่ผ่านมาปัญหามันเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐนั่งเก้าอี้ขีดบนแผนที่ว่าตรงไหนเป็นป่าสงวน โดยไม่ลงพื้นที่ดูว่าเป็นอย่างไร ความจริงก็คือมีราษฎรเขาอาศัยอยู่ในป่าแห่งนั้นมาหลายชั่วอายุคนแล้ว อยู่ๆก็ไปตราเป็นกฎหมาย ไปชี้ว่าเป็นป่าสงวน กลายเป็นว่าราษฎรบุกรุกป่าสงวน แน่นอนว่าถ้าดูตามกฎหมายราษฎรก็ผิดเพราะว่าตรามาเป็นกฎหมายโดยชอบธรรม แต่ว่าถ้าธรรมชาติแล้ว คนที่ทำผิดกฎหมายคือเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปขีดเส้นว่าป่าที่ราษฎรอยู่เป็นป่าสงวน เพราะว่าราษฎรเขาอยู่มาก่อน เขามีสิทธิในทางเป็นมนุษย์ ความหมายก็คือ ทางราชการนั่นแหละไปรุกรานบุกรุกราษฎร ไม่ใช่ราษฎรบุกรุกกฎหมายบ้านเมือง”
ปัญหาคนอยู่กับป่าสงวนก็เลยคาราคาซังทั้งประเทศไทยสร้างความวุ่นวายเรื้อรังเช่นนี้ “คนอยู่กับป่า” ไม่ได้...แต่ก็ถอยไม่ได้ ทางออกก็เสนอท่านนายกรัฐมนตรีตรงๆว่า ต้องมีวิธีที่จะหาทางออกได้อย่างถูกต้อง ออกอย่างไม่ผิดกฎหมาย ป่าสงวนน่านทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์...ถูกตัดทอนบุกรุกไปเรื่อยๆ เหลือแค่ 72 เปอร์เซ็นต์
...
และ...ในอีก 28 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ เรามาตกลงกติการ่วมกันใหม่ขอเป็นป่า 18 เปอร์เซ็นต์ และแม้จะยังเป็นป่าอยู่ตามกฎหมาย แต่ก็ยอมให้พื้นที่ 10 เปอร์เซ็นต์ มาใช้ประโยชน์ได้ไหม ที่เหลือ...ก็มาหาวิธีปลูกอะไรที่มีความหมายมากกว่าข้าวโพดจะได้ไหม
“...ที่ดินที่น้อยลงก็มาจัดสรร เจรจากันมหาศาลว่าจะแบ่งกันใหม่ยังไง ที่เหลือที่ต้องถอยออกมาจากที่บุกรุกแผ้วถางกันไปแล้ว...ก็ต้องฟื้นคืนกลับให้เป็นป่า บริหารจัดการกันใหม่
72 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเป็นป่าไม้ในวันนี้ ตัวเลข 18 กับ 10 ตั้งขึ้นมาเอง ...รัฐบาลรับได้ไหม ขอคืน 18 อีก 10 หยวนๆปลูกอะไรกันไป พลเอกอนุพงษ์ตอบทันทีว่ารัฐบาลทำได้ พอคุยกันได้”
หากคลี่คลายการจัดสรรที่ดินทำกินของชาวบ้านให้ถูกกฎหมายได้ปัญหาสำคัญอีกข้อมีว่าถ้ารายได้ต่อไร่ต่อคนไม่ถึงจุดที่จะเลี้ยงชีวิตของมนุษย์ที่พึ่งพื้นที่ตรงนั้นได้...ก็ “แพ้” ตัวนี้เป็นคณิตศาสตร์ที่ไม่มีใครอยากจะแตะ เพราะเป็นเรื่องของการทำมาหากินซึ่งยากมาก...จะต้องไปหาทางที่จะช่วย ในพื้นที่ที่จำกัดนี้ปลูกอะไรที่ได้ดีกว่านี้ไหม
...
ตั้งหวังว่าจะเดินไปถึงจุดนั้นให้ได้ แล้วก็จะเป็นมหกรรมของ “การบริหารราชการแผ่นดิน” ซึ่งยังต้องโยกเอาองค์ความรู้ในระบบทุนนิยมเข้ามาใช้ในจังหวัดนี้ให้มาก เพื่อให้คนเหล่านี้สร้างมูลค่าให้กับพืชผลของตัวเองได้ หากไม่ได้ราคาด้วยน้ำมือตนเอง พึ่งพาตนเองได้ ความยั่งยืนก็ไม่เกิด
ไม่อย่างนั้น...เวลาพืชผลสินค้าการเกษตรตกต่ำ คนจะดิ้นตายอยู่หน้าทำเนียบฯ รัฐบาลก็ต้องเข้ามาสนับสนุน ช่วยเหลือ...ต้องแจกเหมือนกัน จะไปว่าใครได้...ประเทศเราก็วนอยู่อย่างนี้
ปัญหาคนกับป่าเมืองน่าน...รัฐต้องกล้าชนกับปัญหา ยิ่งเป็นเรื่องดี...ถูกต้อง ก็ต้องเร่งทำ.