กระทรวงเกษตรฯ-พาณิชย์ชุลมุน!อุดหนุนราคา

เกษตรฯเป็นปลื้ม สินค้าเกษตรไทยราคาพุ่ง กระเทียมแตะโลละ 27 บาท ราคายาง ปาล์ม กุ้ง สูงขึ้นยกแผง ดันดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่ม 8.15% ดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่ม 29.90% มองแนวโน้มจะพุ่งต่อ ขณะที่ “พาณิชย์” มองสวนทางหวั่นราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เร่งรัดเปิดโครงการ “ประชารัฐอุ้มสินค้าเกษตร”

วานนี้ (25 เม.ย.) น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงราคาสินค้าเกษตรล่าสุดว่า ปัจจุบันราคากระเทียมที่เกษตรกรขายได้ไตรมาสที่ 1 ปี 60 (ม.ค. - มี.ค.) เฉลี่ยอยู่ที่ 27 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เพิ่มขึ้น 89% เมื่อเปรียบกับไตรมาส 1 ปี 59 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 14 บาทต่อ กก. เนื่องจากกระเทียมมีคุณภาพ และมาตรการเข้มงวดด้านศุลกากรมากขึ้น ทั้งการวางมาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้า และการกำหนดราคาประเมินเสียภาษีนำเข้าให้ใกล้เคียงกับราคาขายในประเทศ เพื่อป้องกันปัญหากระเทียมล้นตลาด อย่างไรก็ตามผลผลิตกระเทียมจะเก็บเกี่ยวหมดภายในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่หอมแดง พริกขี้หนูสวน ถั่วเขียวมีผลผลิตเพิ่มขึ้นมากส่งผลทำให้ราคาลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 59 โดยราคาหอมแดงที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 20 บาทต่อ กก.

ลดลง 20% เมื่อเปรียบกับไตรมาส 1 ปี 59 เฉลี่ยอยู่ที่ 25 บาทต่อ กก. เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้น และเป็นช่วงที่ออกสู่ตลาดมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ราคายังสูงกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเฉลี่ย 13.71 บาทต่อ กก. ทั้งนี้ ผลผลิตจะเก็บเกี่ยวหมดภายในเดือน พ.ค. และคาดว่าราคาจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนพริกขี้หนูสวน ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 78 บาทต่อ กก. ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ราคายังสูงกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกรซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 20 บาทต่อ กก. ขณะที่ถั่วเขียว ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 22 บาทต่อ กก. ซึ่งสูงกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกรซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 19.30 บาทต่อ กก.

...

นอกจากนี้ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา เดือน มี.ค.60 เพิ่มขึ้น 8.15% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากเข้าสู่ช่วงต้นยางผลัดใบทำให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดน้อยลง ปาล์มน้ำมัน ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่อง และกุ้งขาวแวนนาไม ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย

ขณะที่สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง เนื่องจากผู้นำเข้าจากประเทศจีนชะลอการรับซื้อ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ราคาลดลงเนื่องจากปริมาณออกสู่ท้องตลาดเพิ่มขึ้น และไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการบริโภคลดลงเนื่องจากปิดภาคเรียน

สำหรับในเดือน เม.ย. 60 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. 59 โดยสินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา อ้อยโรงงาน ไก่เนื้อ และกุ้งขาวแวนนาไม ขณะที่ภาพรวมดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือน มี.ค.60 เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค.59 ประมาณ 29.90% เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตและดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น และคาดว่าเดือน เม.ย. 60 รายได้ของเกษตรกรจะขยายตัวเพิ่มขึ้น

วันเดียวกัน นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ใช้นโยบายประชารัฐในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสินค้าเกษตร และผู้ผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) ในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ เพื่อช่วยดูแลราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำ ช่วยระบายผลผลิตจากแหล่งผลิตออกสู่ตลาด และช่วยผู้ผลิตสินค้าโอทอปให้สามารถขายสินค้าของตนเอง และมีรายได้สูงขึ้น

ทั้งนี้ ล่าสุดได้รับแจ้งจากพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอนว่าสามารถผลักดันนโยบายประชารัฐ โดยผลักดันให้ภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท อโกรไทย ยูเนี่ยน จำกัด และบริษัทตะวันพืชผล จำกัด ลงนามในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับกลุ่มเกษตรกรไร้สารพิษบ้านห้วยโป้ง เพื่อทำสัญญาซื้อขายกระเทียม 60 ตัน มูลค่า 6.15 ล้านบาท ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ทันที มีตลาดรองรับ นอกจากนี้ ยังได้เชิญบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ผู้บริหารท็อปส์ มาร์เก็ต มาเจรจาซื้อขายสินค้าโอทอป 5 ดาวจากกลุ่มผู้ผลิตในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยสามารถผลักดันให้มีการนำเข้าไปจำหน่ายในห้างได้ในหลายผลิตภัณฑ์

“เป็นความตั้งใจของกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรทุกกลุ่ม ให้ขายผลผลิตได้ในราคาที่คุ้มต้นทุน และมีรายได้เลี้ยงชีพ ซึ่งกระทรวงจะยังคงใช้โมเดลประชารัฐในการดึงภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยรับซื้อผลผลิตสินค้าเกษตรต่อไปเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกร และยังถือเป็นการวางแผนรับมือผลผลิตสินค้าเกษตรล่วงหน้าให้มีตลาดรองรับ ทำให้ไม่มีปัญหาผลผลิตขายไม่ได้ และมีปัญหาราคาตกต่ำ”.