ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก.
เป็นอดีตประธานสหกรณ์จุฬาหลอกให้ลงทุนแชร์ลอตเตอรี่อจ.บางคนถึงกับกู้เงินมาเล่น
โกงพันล้าน ตำรวจกองปราบฯออกหมายจับ รศ.ดร.สวัสดิ์ อดีตประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด (สอ.จฬ.)ตุ๋นเปื่อยออกอุบายให้เพื่อนอาจารย์จุฬาฯ ร่วมลงทุนซื้อโควตาลอตเตอรี่ แลกผลตอบแทนร้อยละ 1 ต่อเดือน ก่อนหอบเงินหนี มีเหยื่อหลงเชื่อกว่า 160 ราย ความเสียหายกว่า 1 พันล้านบาท แฉเป็นกลโกงทั่วไป หลอกเอาเงินมาหมุนจ่ายให้เหยื่อรายอื่นเพื่อสร้างเครดิต พบเบาะแสขณะนี้ยังอยู่ในประเทศ
อดีตประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด (สอ.จฬ.) โกงเงินบุคลากรทางการศึกษาของสถาบันนับพันล้าน เปิดเผยเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก.เรียกตำรวจในหน่วยงานที่สังกัด ประกอบด้วย บก. ปอท. บก.ป. บก.ปคบ. บก.ทท.เข้าร่วมประชุม ที่ห้อง ประชุมชิวปรีชา กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เพื่อเร่งรัดติดตามคดีฉ้อโกงต่างๆ หลายคดีที่เกิดขึ้น แพร่หลายในหลายท้องที่ โดย 1 ในนั้นมีคดีสมาชิก สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด (สอ.จฬ.) ที่ล้วนแล้วแต่เป็นอาจารย์ อดีตแพทย์ บุคลากรทางการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งที่ยังไม่เกษียณและเกษียณราชการไปแล้ว ทยอยเข้าแจ้งความพนักงานสอบสวน บก.ป. ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. ให้ดำเนินคดีกับ รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา อายุ 79 ปี อดีตประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด (สอ.จฬ.) หลังหลอกลวงชักชวนให้ผู้เสียหายนำเงินร่วมลงทุนในสหกรณ์ลอตเตอรี่ที่ตนเองตั้งขึ้นมา พร้อมเขียนใบถอนเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ให้ล่วงหน้า อ้างนำเงินไปซื้อโควตาลอตเตอรี่แลกกับค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จนถึงขณะนี้พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้เสียหายไปแล้วรวม 58 ปาก พบมูลค่าความเสียหายประมาณ 400 ล้านบาท กระทั่งเมื่อวันที่ 21 เม.ย.หลังจากที่ พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. เรียกประชุมสั่งการให้เร่งรัดจับกุมคดีลักษณะดังกล่าวอย่างเร่งด่วน พนักงานสอบสวน บก.ป. จึงเร่งรวบรวมหลักฐานเดินทางไปขอศาลอาญาออกหมายจับ รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา อายุ 79 ปี อดีตประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด (สอ.จฬ.) เลขที่ 989/2560 ลงวันที่ 21 เม.ย.60 ข้อหาฉ้อโกงประชาชน
...
ทั้งนี้ 1 ในคณะทำงานระบุด้วยว่า หลังรับแจ้งความตำรวจกองปราบฯ สืบสวนข้อมูลจนทราบแน่ชัดว่า รศ.ดร.สวัสดิ์ ไม่ได้นำเงินไปลงทุนซื้อโควตาลอตเตอรี่ตามที่กล่าวอ้าง ส่วนใหญ่นำเงินไปใช้จ่ายส่วนตัว พฤติการณ์จะเหมือนขบวนการโกงทั่วๆไป หลอกเหยื่อให้มาร่วมลงทุนแลกกับผลตอบแทนร้อยละ 1 ต่อเดือน ช่วงแรกผู้ต้องหาจะนำเงินที่ได้มาหมุนจ่ายผลตอบแทนคืนให้ทุกราย สร้างความน่าเชื่อถือว่าได้ผลตอบแทนจริง สุดท้ายเมื่อเหยื่อหลงเชื่อระดมเงินมาลงทุนจำนวนมาก ผู้ต้องหาจะหอบเงินหนีไม่สามารถตามตัวได้ จากการสืบสวนพบผู้ต้องหารายนี้ยังไม่หลบหนีออกนอกประเทศ อยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสกัดเส้นทางหลบหนีออกนอกประเทศและเร่งติดตามตัวมาดำเนินคดี ทั้งนี้ตำรวจพบข้อมูลมีผู้เสียหายนำเงินมาร่วมลงทุนกว่า 160 ราย แต่ละรายลงทุนขั้นต่ำสุด 1 ล้านบาท สูงสุดกว่า 70 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1 พันล้านบาท
รศ.ดร.หรรษา สงวนน้อย สมาชิก สอ.จฬ. 1 ในผู้เสียหาย กล่าวว่า เมื่อปี 58 มีญาติที่รู้จักกับ รศ.ดร.สวัสดิ์ชักชวนให้นำเงินใน สอ.จฬ. มาร่วมลงทุน ขณะนั้น รศ.ดร.สวัสดิ์เป็นประธานสหกรณ์ฯ สอ.จฬ.อยู่ และเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล จึงไว้ใจนำเงินจาก สอ.จฬ.มาร่วมลงทุน 1 ล้านบาท ได้รับผลตอบแทนร้อยละ 1 ต่อเดือน ช่วงแรกๆรับเงินปันผลทุกเดือน จึงเพิ่มเงินลงทุนเป็น 2 ล้านบาท และลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยกู้เงินจาก สอ.จฬ.ไปร่วมลงทุนอีกกว่า 3 ล้านบาท จนมียอดเงินที่ลงทุนไปกับ รศ.ดร.สวัสดิ์ รวม 19.2 ล้านบาท กระทั่งเดือน มี.ค.60 ทราบว่า รศ.ดร.สวัสดิ์หลบหนีไปไม่สามารถติดต่อได้ จึงรวมตัวไปแจ้งความที่ บก.ป.
“ดิฉันอยากให้ สอ.จฬ.ช่วยดำเนินการด้วย เพราะเหตุเกิดขึ้นขณะที่ รศ.ดร.สวัสดิ์ยังดำรงตำแหน่งประธาน สอ.จฬ. เงินที่ดิฉันนำไปลงทุนมีผลกับการดำเนินชีวิตมาก เป็นหนี้ สอ.จฬ. 3.2 ล้านบาท เพราะกู้มาลงทุน ต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 1.6 หมื่นบาท อยากให้ตำรวจตามตัว รศ.ดร.สวัสดิ์มาชดใช้หนี้ให้โดยเร็ว ทราบว่ามีเพื่อนสมาชิกบางคนไม่ยอมเปิดเผยตัวเพราะกลัวเสียชื่อเสียงและบางคนไม่อยากให้ครอบครัวรับรู้ถึงปัญหา” รศ.ดร.หรรษากล่าว
นพ.ประสาร จิมากร อดีตแพทย์ รพ.จุฬาฯ และสมาชิก สอ.จฬ. กล่าวว่า ได้รับการติดต่อจาก รศ.ดร.สวัสดิ์หลายครั้ง ชักชวนให้นำเงินมาร่วมลงทุนสหกรณ์ลอตเตอรี่ ประกอบกับเพื่อนๆบอกว่านำเงินไปลงทุนกับ รศ.ดร.สวัสดิ์แล้วได้ผลตอบแทนดี จึงนำเงินไปร่วมลงทุนในปี 58 หลายครั้ง รวมเป็นเงิน 15 ล้านบาท ช่วงแรกๆได้รับเงินปันผลทุกเดือน เพิ่งจะมีปัญหาเมื่อเดือน มี.ค.60 เพราะมีข่าว รศ.ดร.สวัสดิ์เบิกเงินหลบหนีไป
นายแม้น อมรสิทธิ์ ข้าราชการบำนาญ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในสมาชิก สอ.จฬ. กล่าวว่า นำเงินบำนาญ 5 ล้านบาท มาร่วมลงทุนกับ รศ.ดร. สวัสดิ์เพราะเป็นเพื่อนกันมา มีความไว้วางใจอย่างมาก ที่ผ่านมาเห็นเป็นคนดี เป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล เคยได้รับรางวัลนักสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และยังเคยเป็นประธาน สอ.จฬ. ติดต่อกันถึง 3 สมัย จึงมีความเชื่อถือ เลยนำเงินมาลงทุนด้วย อยากให้รัฐบาล และ คสช.เข้ามาช่วยเหลือปราบคนโกง ขณะนี้มีเยอะมาก อย่าให้คนโกงมาหลอกลวงประชาชน ขณะนี้ไปแจ้งเรื่องกับ ป.ป.ช. และตำรวจกองปราบฯแล้ว อยากให้เร่งรัดนำตัว รศ.ดร.สวัสดิ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องมาลงโทษ ชดใช้ค่าเสียหาย
อีกด้าน นายจุมพล พูลภัทรชีวิน ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด (สอ.จฬ.) เผยว่า กรณีมีสมาชิก สอ.จฬ.จำนวนหนึ่ง ร่วมลงทุนกับ รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา อดีตประธานกรรมการ สอ.จฬ. เป็นเรื่องส่วนบุคคล ทราบว่า รศ.ดร.สวัสดิ์ชักชวนเพื่อนและลูกศิษย์ที่เป็นสมาชิก สอ.จฬ. ร่วมลงทุนโควตาลอตเตอรี่และแบ่งเงินปันผลให้ ใช้วิธีเซ็นใบถอนเงินของ สอ.จฬ.ไว้ล่วงหน้า แล้วให้สมาชิกที่ร่วมลงทุนนำไปถอนเงินจากบัญชีของ รศ.ดร.สวัสดิ์ที่เปิดไว้กับ สอ.จฬ.ทุกเดือน กระทั่งเกิดเรื่อง รศ.ดร.สวัสดิ์หายตัวไปพร้อมกับเงินทั้งหมด แม้ว่า สอ.จฬ.จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง แต่พยายามช่วยเหลือสมาชิกที่เป็นผู้เสียหาย เนื่องจากบางคนทุ่มเงินไปมาก กู้เงินจาก สอ.จฬ.ด้วยการนำหุ้นกู้ของตนเองมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หากบุคคลเหล่านี้มาติดต่อก็จะยืดระยะเวลาผ่อนหรือลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนคืน รวมทั้งจัดหานักกฎหมายมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับคดี เป็นตัวกลางประสานกับตำรวจกองปราบฯ อำนวยความสะดวกด้านสถานที่ เพื่อให้ตำรวจมาสอบถามข้อมูลจากผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายบางคนอับอายไม่กล้าไปพบตำรวจ รวมทั้งบางรายไม่ได้บอกกับครอบครัว เป็นเรื่องน่าเห็นใจมาก ขณะนี้มีรายชื่อแจ้งไว้กับ สอ.จฬ.ประมาณ 30 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้เสียหายบางรายอับอายไม่อยากแจ้งความ แต่ตำรวจและฝ่ายกฎหมายแนะนำให้แจ้งความ เพราะหากตามตัว รศ.ดร.สวัสดิ์กลับมาได้ ก็จะดำเนินการยึดทรัพย์นำเงินมาคืน
...
เมื่อผู้สื่อข่าวถาม สอ.จฬ.จะได้รับผลกระทบจากกรณีนี้หรือไม่ นายจุมพลกล่าวว่า รศ.ดร.สวัสดิ์ ทำงานกับ สอ.จฬ.มานาน จึงเป็นผู้มีความน่าเชื่อถือ ขณะดำรงตำแหน่งประธานฯ นำเงิน สอ.จฬ. 1,431 ล้านบาท ไปฝากกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่ให้ดอกเบี้ยสูง เป็นการลงทุนอย่างหนึ่งของ สอ.จฬ. และเมื่อเกิดปัญหากับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น สอ.จฬ.ถือเป็นเจ้าหนี้ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ แต่อาจโชคดีกว่าเจ้าหนี้รายอื่นตรงที่ สอ.จฬ.มีโฉนดที่ดินของสำนักงานใหญ่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ คดีเมื่อถึงที่สุดต้องนำสินทรัพย์ขายทอดตลาด เราจะนำโฉนดดังกล่าวออกขายและนำเงินมาคืน สอ.จฬ.ก่อน ที่เหลือจะคืนให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ เพื่อนำไปให้เจ้าหนี้รายอื่น เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น สอ.จฬ.เป็นนิติบุคคล จึงไม่ได้รายงานให้อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทราบและไม่มีผลกระทบกับสถาบันแต่อย่างใด
สำหรับประวัติ รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา ผู้ได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์แห่งวงการสหกรณ์ออมทรัพย์ไทย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มรับราชการตำแหน่งอาจารย์ตรี ที่แผนกวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2503 ก่อนได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปศึกษาสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ จนจบปริญญาเอกสาขาเดียวกันที่ประเทศอังกฤษ เป็น 1 ในผู้ก่อตั้งภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมทั้งยังเป็น 1 ในผู้ก่อตั้งหน่วยทะเบียนกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักทะเบียนและประมวลผลในปัจจุบัน) ด้านประสบการณ์เกี่ยวกับงานสหกรณ์ เคยเป็นประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด (สอ.จฬ.) ประธานกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด และอื่นๆอีกหลายแห่ง จนได้รับรางวัลนักสหกรณ์แห่งชาติ สาขาบริหารและส่งเสริมพัฒนาสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรางวัลเชิดชูเกียรติยศสมาคมสมาพันธ์สหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตแห่งเอเชีย
...