ธปท.หวั่นค่าเงินบาทผันผวน สั่งสกัดทุกเส้นทางสู้วิกฤติโลก

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในที่ประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ว่าการธนาคารกลางภูมิภาคนี้ได้แสดงความเป็นห่วงการอ่อนค่าของเงินสหรัฐฯ และความผันผวนที่สูงขึ้นของเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยมีผลจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศหลัก รวมทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ รวมทั้งนโยบายการเมืองในประเทศยุโรป โดยที่ผ่านมาค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

“ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงเป็นหลัก แต่หากเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค ค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นในระดับกลาง โดยตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 19 เม.ย.60 ค่าเงินบาทแข็งขึ้น 4.2% เทียบกับเงินดอลลาร์ไต้หวันที่แข็งค่าขึ้น 6.1% ค่าเงินโคเรียน วอนที่แข็งค่าขึ้น 5.1% และค่าเงินรูเปีย อินโดนีเซียแข็งค่าขึ้น 5.1% ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้น และอาจจะเคลื่อนไหวได้ทั้งอ่อนค่าและแข็งค่าตามการไหลเข้า-ออกของเงินทุนระหว่างประเทศที่เข้าเร็วและออกเร็วตามสถานการณ์ต่างประเทศที่คาดเดาได้ยากมากขึ้น”

นายวิรไทกล่าวว่า ธปท.ได้ติดตามดูแลค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่อง แต่การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนนั้น จะต้องไปไม่ทวนกระแส หรือการเปลี่ยนแปลงมุมมองของเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย และเมื่อไรการเคลื่อนย้ายเงินทุนดังกล่าวการเคลื่อนไหวผิดปกติหรือมีผลกระทบต่อตลาดการเงินของไทยมากหรือเร็วเกินไป ก็เป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่จะเข้าไปดูแลทุนเคลื่อนย้ายเหล่านั้น โดย ธปท.มีเครื่องมือและมาตรการเตรียมไว้ในทุกสถานการณ์ และไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้

...

“ในกรณีเงินทุนบางประเภทที่ไหลเข้าไทยอย่างน่ากังวล ธปท.ได้มีมาตรการออกไปในช่วงก่อนหน้า ด้วยการลดวงเงินการออกพันธบัตร ธปท.ระยะสั้น ในเดือน เม.ย.ลงประมาณ 80,000 ล้านบาท ช่วยลดการเข้ามาของเงินทุนต่างชาติระยะสั้นๆได้บ้าง เพราะเริ่มเห็นการเข้ามาลงทุนในพันธบัตรระยะยาวของ ธปท.เพิ่มขึ้น ซึ่งมาตรการนี้เป็นมาตรการแรกๆ เพราะ ธปท.ยังมีมาตรการเพิ่มขึ้นได้ตามสถานการณ์ความผันผวนของค่าเงิน ถือเป็นการส่งสัญญาณให้ชัดว่า เรา “ไม่ชอบ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ดอลลาร์อ่อนค่ามาก จากเหตุการณ์ความไม่แน่นอนของโลก และเห็นว่าไทยเป็นแหล่งหลบภัยของเงินทุน เพราะเงินเหล่านี้สร้างความผันผวน ซึ่งไม่ดีต่อเศรษฐกิจไทย”.