มีเรื่องลองถามดูกันเล่นๆว่า รู้หรือไม่...โครงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่-สงกรานต์ของภาครัฐ หรือที่เรียกกันว่า 7 วันอันตรายมีกันมาแล้วกี่ปี

ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่ามีน้อยคนนักที่จะตอบถูก แต่ถ้าขอเปลี่ยนคำถามใหม่ว่าเหตุใดใช้แผน 7 วันอันตรายนานแล้วแต่ยอดอุบัติเหตุ เสียชีวิต และบาดเจ็บบนท้องถนนจึงไม่ลดลงสักที ยิ่งเชื่อสนิทใจกว่าเก่าว่า ไม่มีใครตอบได้แน่ เพราะขนาดกระทรวงคมนาคม ที่รับผิดชอบดูแลระบบขนส่งของประเทศยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพราะอะไร

ยิ่งย้อนไปดูสถิติของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วง 7 วันอันตราย ล่าสุดช่วงเทศกาลปีใหม่ 60 ก็ยิ่งน่าตกใจ เพราะตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2559-4 ม.ค.2560 มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 478 ศพ บาดเจ็บ 4,128 คน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว หากเจาะลงลึกไปนับเฉพาะรถโดยสารสาธารณะยิ่งพบว่าสร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินไม่น้อย โดยเฉพาะสถิติอุบัติเหตุของรถตู้ใน 5 ปีหลังเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว

ปี 55 เกิดอุบัติเหตุ 55 ครั้ง บาดเจ็บ 300 ราย ตาย 50 ศพ, ในปี 56 เกิด 55 ครั้ง แต่บาดเจ็บลดลงเหลือ 218 ราย เสียชีวิตเหลือ 35 ศพ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา สถิติความสูญเสียจากรถตู้ก็พุ่งทะยานโดยตลอด ปี 57 เกิดขึ้น 133 ครั้ง บาดเจ็บ 231 ราย ตาย 36 ศพ, ปี 58 เกิดเหลือ 98 ครั้ง แต่กลับมีความรุนแรงขึ้นทำให้ยอดบาดเจ็บเพิ่มเป็น 847 ราย หรือ 4 เท่าตัว และยอดตายเพิ่มขึ้น 3 เท่า ทะลุ 104 ศพ หรือจนกระทั่งล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว 2559 ยอดอุบัติเหตุยังเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 215 ครั้ง บาดเจ็บทะลุยอดหลักพันกว่า 1,102 ราย ตายทะลุ 103 ศพ

...

ส่งผลให้รัฐบาล “บิ๊กตู่-ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ทนไม่ไหวต้องประกาศให้การแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นวาระแห่งชาติ ใช้ทั้งไม้นวม ไม้แข็ง จนถึงกระทั่งใช้อำนาจพิเศษ ม.44 สังคายนากฎระเบียบกันยกใหญ่ โดยพุ่งเป้าไปที่รถตู้โดยสารสาธารณะเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นรถโดยสารที่ได้รับความนิยมจากประชาชนสูงสุด

เริ่มต้นจากเมื่อกลางปีที่แล้ว ขนส่งทางบกได้เริ่มใช้มาตรการจัดระเบียบ ไล่กวาดต้อนรถตู้โดยสารระหว่างจังหวัดจากเดิมที่กระจัดกระจายตามอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือตามแหล่งชุมชนใหญ่ๆ ให้กลับเข้าสู่สถานีขนส่งทั้งหมด วิ่งสายเหนือ-อีสาน ย้ายกลับหมอชิต, วิ่งสายใต้ย้ายไปสถานีขนส่งสายใต้, วิ่งสายตะวันออกไปขนส่งเอกมัย, ส่วนรถตู้วิ่งรับส่งระยะสั้นในกรุงเทพฯและปริมณฑลก็จัดที่ทางให้เป็นระเบียบกว่าเดิม เพื่อช่วยให้ภาครัฐออกไปตรวจสอบกำกับดูแลง่ายขึ้น ทั้งในส่วนของตัวรถ คนขับ

แต่แค่นั้นก็คงยังไม่สามารถแก้ปัญหารถตู้ได้ เพราะแค่ในต้นปีนี้เมื่อ 2 ม.ค.60 ที่ผ่านมา ก็เกิดอุบัติเหตุรถตู้ครั้งใหญ่ที่สร้างความเศร้าสลดใจแก่คนไทยไปทั่วประเทศ เมื่อรถตู้สายกรุงเทพฯ-จันทบุรี ขับข้ามเลนพุ่งชนประสานงารถกระบะย่างสดเสียชีวิต 25 ศพ

ส่งผลให้กระทรวงคมนาคมต้องระดมสมองกันยกใหญ่และเสนอให้นายกฯตัดสินใจใช้ ม.44 ฉบับที่ 14/2560 เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ออกมาแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

และถ้าหากจะโฟกัสชัดๆกันโดยเฉพาะมาตรการรถตู้โดยสารนั้นมีดังนี้ คือ สั่งให้รถตู้ทุกคันต้องติดตั้งจีพีเอส และตามติดรถโดยสารสาธารณะทุกคันผ่านศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบจีพีเอสของกรมการขนส่งทางบก รวมถึงศูนย์จีพีเอสของสำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ หากละเลยจะวิ่งไม่ได้ และถูกปรับหนักวันละไม่เกิน 5,000 บาท จนกว่าจะแก้ไขเสร็จ

นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารและผู้ประกอบการมีส่วนร่วมตรวจสอบพฤติกรรมของรถได้อีกด้วย โดยผ่านแอพพลิเคชั่น “DLT GPS” แบบเวลาสมจริง ขณะเดียวกันยังจัดชุดสายตรวจจับความเร็วรถโดยสารด้วยกล้องเลเซอร์ในเส้นทางสายหลักเข้า-ออกกรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาขับรถเร็วและคนขับหลับใน พร้อมกับกำหนดความเร็วในการขับรถต้องไม่เกิน 90 กม.ต่อชั่วโมง รวมถึงเวลาทำงานของพนักงานขับรถ จากเดิมที่กำหนดให้ทำงาน 8 ชั่วโมง เปลี่ยนเป็นกำหนดตามระยะเส้นทาง โดยรถ 1 คันจะวิ่งได้ไม่เกิน 600 กิโลเมตร และทุก 200 กิโลเมตร จะต้องหยุดพัก 30 นาที

...

และยังมีมาตรการสำคัญที่ถือเป็นการยกเครื่องมาตรฐานความปลอดภัยของตัวรถโดยสารสาธารณะ คือ สั่งให้รถตู้ทุกคัน (รวมถึงรถทุกประเภท) ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งและผู้โดยสารทุกคนต้องคาดด้วยไม่เช่นนั้นมีความผิดทั้งคนขับคนนั่ง ปรับ 5,000 บาท รวมถึงรถตู้ทุกคันต้องติดถังบรรจุก๊าซไม่เกินสมรรถนะของตัวรถ และปรับปรุงเบาะที่นั่งผู้โดยสารของรถตู้โดยสารให้เหลือไม่เกิน 13 ที่นั่ง จากปัจจุบันที่ยัดกันเข้าไปอย่างต่ำ 15 ที่นั่ง บางคันเพิ่มเบาะเสริมทะลุไปถึง 18 ที่นั่งก็มี นอกจากนั้นในมาตรการยังสั่งให้แก้ไขกลไกภายในรถให้ผู้โดยสารสามารถเปิดประตูหลังจากด้านในได้ยามรถเกิดอุบัติเหตุ

นอกจากนี้ใน ม.44 ยังสั่งเพิ่มความเข้มข้นการลงโทษเจ้าของรถผู้ประกอบการด้วย หากไม่ดูแลพนักงานขับรถให้ดี ฝ่าฝืนกระทำผิดเงื่อนไขต้องรับโทษตามกันไปด้วย เช่น บรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง ทิ้งผู้โดยสาร เก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด หรือปล่อยให้นำรถไปใช้แบบผิดตามกฎหมายอื่น ให้อำนาจกรมการขนส่งทางบกเพิกถอนการจดทะเบียนรถ ระงับใช้รถได้ทันทีสูงสุด 6 เดือน

และผู้ประกอบการต้องจัดทำสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ ตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถพร้อมทำบันทึกการตรวจสอบด้วย ขณะเดียวกันยังบังคับให้ผู้ประกอบการจัดให้มีประกันภัยเพิ่มจากประกันภัยภาคสมัครใจ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เพื่อคุ้มครองผู้โดยสารและบุคคลภายนอกเพิ่มเติม หากไม่ทำหรือแสดงหลักฐานไม่ครบถ้วนจะต่อภาษีหรือขยายอายุใบอนุญาตประกอบการไม่ได้ ตลอดจนในอนาคตจะเร่งมาตรการเปลี่ยนรถตู้ที่เป็นรถร่วม มาเป็นรถไมโครบัส 20 ที่นั่งให้ได้ภายในปี 62

ล่าสุดมาตรการต่างๆได้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจังแล้วเพื่อรองรับการเดินทางก่อนสงกรานต์ โดยกรมการขนส่งทางบกฐานะหน่วยงานดูแลตรง ได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดใหญ่ไฟกะพริบ...ออกตรวจแถว ความพร้อมรถโดยสารและคนขับตามที่สถานีขนส่งผู้โดยสารและจุดจอดรถ 212 แห่งทั่วประเทศ ตามมาตรการความปลอดภัยคมนาคม 7+7+7 ยอดล่าสุดวันที่ 5-10 เม.ย.พบรถโดยสารบกพร่องรวม 757 คัน ในจำนวนนี้สั่งฟันห้ามใช้รถ 2 คัน เพราะไม่มีจีพีเอส และเบาะที่นั่งขวางประตูฉุกเฉิน และสั่งเปลี่ยนรถ 38 คัน หลังพบกระจกร้าว, สภาพยางหมดสภาพ, ถังดับเพลิงไม่มี ด้านคนขับสั่งเปลี่ยนตัวทันที 7 ราย

...

มาตรการลดอุบัติเหตุในรถโดยสารครั้งนี้เรียกว่า รัฐบาลได้ทุ่มหมดหน้าตักเพื่อหวังลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะในรถโดยสารสาธารณะให้ได้ แต่จะสัมฤทธิผลมากน้อยแค่ไหน คงต้องรอดูติดตามดูในไม่ช้าได้คำตอบกัน.