ประชากรผู้สูงอายุไทยในปี พ.ศ.2559 มีจำนวน 10,783,380 คน คิดเป็นร้อยละ 16.5 ของประชากรทั้งประเทศ
และนับจากนี้ไปอีก 4 ปีข้างหน้าในปี พ.ศ.2564 คาดการณ์ว่าจะทะลุถึง 13,109,000 คน คิดเป็น ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ เรียกได้ว่าเป็นการก้าวสู่ สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์
เมื่อพิจารณาข้อมูลการสำรวจโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ.2557 พบผู้สูงอายุไทยมีตัวเลขอยู่ที่ 10,014,705 คน คิดเป็นร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งประเทศ แหล่งรายได้หลักในการดำรงชีวิตส่วนใหญ่มาจากบุตรร้อยละ 36.7 จากการทำงานด้วยตนเองร้อยละ 33.9 จากเบี้ยยังชีพร้อยละ 14.8 จากเงินบำเหน็จบำนาญร้อยละ 4.9
สภาพการณ์ทางสังคมเวลานี้ ชี้ให้เห็นถึงอัตราการเกิดน้อยลง วัยแรงงานที่กำลังลดลง รวมถึงค่านิยมที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้โอกาสที่ผู้สูงอายุจะได้รับการช่วยเหลือเกื้อหนุนดูแลจากบุตรหลานน้อยลงตามไปด้วย
หากผู้สูงอายุไม่ได้ทำงาน ไม่มีบำนาญ ไม่มีเงินออม และไม่มีรายได้ ย่อมสั่นคลอนต่อความมั่นคงในชีวิต
การประชุมสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติประจำปี 2560 เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นำมาซึ่งข้อสรุปเป็นมติใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย
...
1. การขยายโอกาสในการทำงานของแรงงานผู้สูงอายุนอกระบบเข้าสู่วิสาหกิจชุมชน โดยขอให้กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) พัฒนาศักยภาพศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) และกลุ่ม/ชมรมผู้สูงอายุ ให้เข้มแข็งและมีกิจกรรมต่อเนื่อง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ประสานเชื่อมโยงกับ ศพอส.อย่างใกล้ชิด เพื่อเอื้ออำนวยต่อการรวมกลุ่มแรงงานผู้สูงอายุเป็นวิสาหกิจชุมชน
2.การขยายอายุการทำงานของแรงงานในสถานประกอบการจากอายุ 55 ปีเป็น 60 ปี โดยขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องและมีมาตรการส่งเสริมสถานประกอบการขยายอายุการทำงานเป็น 60 ปี รวมถึงมีมาตรการพัฒนาทักษะอาชีพแรงงานผู้สูงวัย
3. การสร้างหลักประกันรายได้ยามสูงวัย โดยขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ทางความคิดผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนระดับประถมและมัธยมศึกษา กระจายความรู้สู่ชุมชนให้ตระหนักถึงการมีความรู้ทางการเงินและการออม เร่งผลักดันให้มี พ.ร.บ.จัดตั้งกลไกระดับชาติในรูปแบบคณะกรรมการนโยบายบำนาญแห่งชาติโดยเร็ว รณรงค์ให้ประชาชนโดย เฉพาะเยาวชนให้ความสำคัญกับการออม ขยายเวลาการทำงานของประชากรวัยทำงานเพื่อร่วมสร้างหลัก ประกันด้านรายได้ยามสูงวัย
มติดังกล่าวผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อชงต่อขอไฟเขียวจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆนี้ ให้ถือเป็นพันธะสัญญาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะอนุกรรมการจัดสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติ สะท้อนข้อมูลเพิ่มเติมว่า “สมัยก่อนคนมีลูก
มาก แต่เดี๋ยวนี้การมีบุตรน้อยลง ดังนั้น โอกาสที่พ่อแม่จะพึ่งพาลูกยามชราจึงมีสัดส่วนน้อยลงตามไปด้วย สถิติการสำรวจก็ชี้ให้เห็นถึงภาวะการพึ่งพิงบุตรหลานลดลงเรื่อยๆ และหันไปพึ่งตนเองหรือเบี้ยยังชีพเป็นหลัก ดังนั้น ความพยายามส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ เป็นพลังมากกว่าการเป็นภาระของสังคม เป็นโจทย์ใหญ่ที่สมัชชา ผู้สูงอายุพยายามผลักดันผ่านการบูรณาการร่วมกันของทุกฝ่าย โดยจะ ต้องเริ่มจากการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุรักษาสุขภาพเพื่อทำงานได้ การสร้างรายได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น และการมีจิตใจที่รู้คุณค่าของตนเอง”
ขณะที่ นายสมคิด สมศรี อธิบดี ผส. กล่าวว่า “เมื่อเดือน พ.ย.2559 รัฐบาลได้ออกเป็น มติ ครม.ในการดำเนิน 4 มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ 2.การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ 3.สินเชื่อที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และ 4.การบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ พร้อมให้ ผส.เป็นเจ้าภาพหลักขับเคลื่อนร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลายประเด็น ผส.ได้เดินหน้าอย่างต่อเนื่องแล้ว โดยเฉพาะการส่งเสริมให้
ผู้สูงอายุมีงานทำ ซึ่งมีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กำหนดเป้าหมายให้ผู้สูงอายุทั้งในและนอกระบบมีรายได้และมีงานทำเพิ่มขึ้น 39,000 อัตราในปี 2560 รวมถึงความร่วมมือผ่านรูปแบบประชารัฐ เช่น สภาอุตสาหกรรมที่พร้อมเชิญชวนสถานประกอบการรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน 10,000 อัตราในปี 2560 รวมถึงภาคธุรกิจเอกชนอื่นๆ ที่รัฐมีมาตรการจูงใจด้วยการลดหย่อนภาษี ขณะเดียวกัน ผส.มี ศพอส. 878 แห่งทั่วประเทศที่จะเป็นศูนย์ต้นแบบโดยร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่พัฒนาทักษะอาชีพพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านกิจกรรมต่างๆ รวมถึงชมรมผู้สูงอายุอีก 27,000 ชมรมทั่วประเทศ เป็นอีกพลังขับเคลื่อนสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ”
...
ทีมข่าวการพัฒนาสังคม เห็นด้วยอย่างยิ่ง กับการปลุกพลังผู้สูงอายุให้เห็นถึงคุณค่าของตนเอง ด้วยการทำงาน สร้างรายได้ พึ่งพิงตนเอง ภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนของภาคส่วนต่างๆ
ขณะเดียวกันสิ่งที่เราอดห่วงไม่ได้และน่าจะมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการดูแลใส่ใจและสร้างคุณค่าผู้สูงอายุ นั่นคือการใส่ใจกับอีกกลุ่มเป้าหมายสำคัญโดยต้องดำเนินการคู่ขนานกันไป ด้วยการสร้างการรับรู้ให้กับเด็กและเยาวชนได้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงวัย รวมไปถึงการตระหนักถึงสถานการณ์ด้านประชากรในปัจจุบันซึ่งจะส่งผลสู่อนาคต
เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเข้าสู่สังคมแต่ละช่วงวัยรวมถึงสังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณค่าและคุณภาพที่ยั่งยืน.
ทีมข่าวการพัฒนาสังคม