สัปดาห์ที่แล้ว เทนเซนต์โฮลดิ้ง บริษัทไอทียักษ์ใหญ่จีน เจ้าของแอพ “วีแชท” ที่มีผู้ใช้กว่า 880 ล้านคนทั่วโลก ซื้อหุ้น 5% จาก Tesla lnc. ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ Tesla มูลค่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 63,000 ล้านบาท เปิดประตูให้ เทสลา เข้าไปขยายตลาดใน จีน ที่มีกำลังซื้อมหาศาลในอนาคต

เทนเซนต์ ไม่เพียงเป็นเจ้าของ วีแชท ที่มีคนจีนใช้มากที่สุด ยังเป็นเจ้าของเว็บค้นหา soso.com อันดับ 3 ในจีนรองจาก ไป่ตู้ และ กูเกิล

นายอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ เทสลา กล่าวว่า เทนเซนต์ ไม่ได้เป็นเพียงผู้ลงทุนในเทสลา แต่ยังเป็นที่ปรึกษาของเทสลาด้วย นายมาร์ติน หลิว ประธานเทนเซนต์ แถลงว่า เทนเซนต์ลงทุนในเทสลา เพราะบริษัทมีวิสัยทัศน์เดียวกันในการสร้างอนาคตที่ดีสำหรับโลก การลงทุนในเทสลาครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดประตูให้เทสลาเข้าไปขยายธุรกิจในจีน รถยนต์ไฟฟ้าเทสลาได้รับความนิยมในฮ่องกงอยู่แล้ว การลงทุนครั้งนี้จะทำให้ เทนเซนต์ ลงทุนในธุรกิจ รถยนต์ไฟฟ้า และ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่บริษัทจีนกำลังให้ความสนใจมากขึ้น

ในงาน โซล มอเตอร์ โชว์ ที่ กรุงโซล เกาหลีใต้ สัปดาห์นี้ ฮุนได มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้ จะเปิดตัว รถยนต์ Fuel-cell SUV ต้นแบบ เป็นครั้งแรกในงานนี้ รถยนต์เอสยูวีเซลเชื้อเพลิงรุ่นใหม่นี้ สามารถวิ่งได้ไกลถึง 800 กม. จากการเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเพียงครั้งเดียว การเปิดตัวครั้งนี้ ฮุนได ประกาศว่า เพื่อชิงความเป็นผู้นำรถยนต์ Fuel-cell จาก โตโยต้า และ ฮอนด้า กลับคืนมา ฮุนไดจะเปิดจำหน่ายรถยนต์ Fuel–cell SUV รุ่นใหม่นี้ในปีหน้า ในช่วงที่ เกาหลีใต้ เป็นเจ้าภาพการแข่งขัน กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ที่ เมืองพย็องชัง ห่างจากกรุงโซลไป 180 กม.

รถยนต์เซลเชื้อเพลิง หรือ Fuel–cell เป็นรถยนต์ที่ใช้ ก๊าซไฮโดรเจนเหลว เป็นเชื้อเพลิง เมื่อสันดาปกับ ก๊าซออกซิเจน ในอากาศจะเปลี่ยนเป็น พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนรถยนต์ แล้วกลายเป็น “น้ำธรรมดา” ปล่อยออกไปจากท่อไอเสีย ถือเป็นเทคโนโลยีรถยนต์ขั้นสูงสุดในยุคนี้

...

ผมนำเรื่อง รถยนต์ไฟฟ้า สองเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า “ไทยเราคิดอย่างสากลไม่เป็น” อย่างที่ นายสก็อต มายน์แฮน ที่ปรึกษา สหภาพโทรคมนาคม (ITU) พูดถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ของไทยเมื่อวานนี้ เขายังพูดด้วยว่า “การร่างกฎหมาย ไม่ใช่คิดถึงความจริงในวันนี้ แต่ต้องมองอนาคต 5-10 ปีข้างหน้า”

มติ ครม. เพื่อ ส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อวันอังคารที่แล้ว สะท้อนถึงคำพูดของ สก็อต มายน์แฮน ได้เป็นอย่างดี ผมเชื่อว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ รู้อยู่เต็มอก รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต จะมีแต่ รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟได้ และ รถยนต์ Fuel-cell ถ้ารัฐบาล “คิดแบบสากล” เรื่องนี้ บีโอไอ ต้องส่งเสริมเฉพาะ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับ รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เท่านั้น เพื่อให้ประเทศไทยวิ่งทันโลกในอนาคต

แต่ มติ ครม. กลับส่งเสริมทั้ง แบตเตอรี่นิกเกิลไฮดราย (เทคโนโลยีเก่าที่กำลังตกยุคใช้กับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่และในอนาคตไม่ได้) และ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ลดภาษีให้เท่ากัน ถ้าคิดอย่างนี้ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน คงไม่มีทางเกิด ไม่มีบริษัทไหน ใครกล้าเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทยแน่นอน ต้นทุนแพงกว่ากันเยอะ

สุดท้าย ประเทศไทย คงจะได้แค่ โรงงานประกอบแบตเตอรี่ อย่างที่ คุณชาญชัย ตระการอุดมสุข ซีอีโอ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย ให้ความเห็น โรงงานผลิตแบตเตอรี่ (ที่บีโอไอส่งเสริม) อาจเป็นแค่การประกอบ แยกชิ้นส่วนแล้วนำเข้ามา แล้วประกอบเป็นแพ็กในเมืองไทย ไม่ได้ผลิตแบบเต็มเหมือนโรงงานที่ญี่ปุ่น เสียโอกาสไปอีกเป็นสิบปี.

“ลม เปลี่ยนทิศ”