นักโบราณคดีฝรั่งเศสขุดพบภาชนะดินเผา ชุมชนเก่าแก่กว่า 2,000 ปี ก่อนยุคประวัติศาสตร์ ที่สถานีรถไฟบ้านวังด้วน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เส้นทางอารยธรรมข้ามคาบสมุทรประจวบ-มะริด เล็งส่งห้องแล็บเพื่อตรวจหาอายุที่แท้จริง...

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2560 ดร.เบอร์เรนิซ เบลลิน่า (Dr.Bérénice Bellina) นักวิจัย ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส The National Center for Scientific Research (France) นำคณะนักวิจัยโบราณคดี ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันถิ่นฐานไทย ศึกษาวิจัยชุมชนโบราณอายุกว่า 2,000 ปี ก่อนยุคประวัติศาสตร์ ที่บริเวณสถานีรถไฟวังด้วน หมู่ 9 บ้านห้วยทราย ต.ห้วยทราย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กระจายตัวตามเนินต่างๆ ที่เคยเป็นขอบชายฝั่งชะวากทะเลในอดีต รอบบึงวังด้วน และเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟวังด้วน เป็นลักษณะชั้นดินที่มีภาชนะดินเผาซ้อนทับกัน 2 ชั้น แสดงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม โดยชั้นล่างเป็นภาชนะดินเผาแบบเนื้อหยาบ มีลายเชือกทาบและขวานหินขัด ส่วนชั้นบนมีภารชนะดินเผาแบบเนื้อละเอียด และเครื่องเคลือบจีน แสดงให้เห็นว่าพื้นที่รอบบึงวังด้วน มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีตมาก่อนสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลาย

บริเวณสถานีรถไฟวังด้วนนี้ เป็นแหล่งโบราณคดีกลางแจ้งที่หาได้ยาก แถบคาบสมุทรตอนบน หรือ Upper Penninsula ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การพบหลักฐาน ขั้นตอนการทำภาชนะ เป็นสิ่งยืนยันการก่อตั้งชุมชนในยุคนั้น สำหรับเครื่องปั้นดินเผา เตรียมนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เพื่อทราบอายุที่แท้จริง

...

นายทิวา ศุภจรรยา ผู้อำนวยการสถาบันถิ่นฐานไทย กล่าวว่า โบราณวัตถุที่เป็นภาชนะมีรูอยู่ที่ด้านล่าง เป็นเรื่องแปลกและไม่เคยเจอมาก่อน สันนิษฐานได้ว่า มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ รู้จักการปลูกพืชหรือดอกไม้ในกระถาง มีความเจริญในการทำกสิกรรม รวมถึง การติดต่อค้าขายกับภูมิภาคส่วนอื่นทั่วโลก ซึ่งบริเวณจุดนี้ ถือเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรมะริด-ประจวบ เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณของมนุษย์ที่เชื่อมโยง 2 ฝั่งคาบสมุทร และมีการเดินทางจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตก การศึกษาของนักวิจัยชาวฝรั่งเศสในครั้งนี้ พบว่าบริเวณสถานีรถไฟวังด้วน เป็นชุมชนโบราณที่มีร่องรอยของอารยธรรมที่ความสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งในโลก เพราะเป็นพื้นที่ริมทะเล ซึ่งหาได้ยาก

ผู้อำนวยการสถาบันถิ่นฐานไทย กล่าวด้วยว่า ในอนาคตอยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นชุมชนโบราณก่อนยุคประวัติศาสตร์ มีการขุดพบภาชนะเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมาก เศษชิ้นส่วนภาชนะ เช่น ไหสี่หูเคลือบผิว ภาชนะดินเผาเนื้อหยาบลายเชือกคาด ภาชนะดินเผาเนื้อละเอียด และเครื่องเคลือบจีน ขวานหินขัด ชิ้นส่วนหินบด จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติศาสตร์และอารยธรรมของมนุษย์ เนื่องจากโครงการรถไฟรางคู่ที่จะเกิดขึ้น จึงควรขุดค้นและเก็บวัตถุโบราณให้มากขึ้นก่อนที่พื้นที่จะเสียหาย.