กรมธุรกิจพลังงาน ยกเลิกแนวคิดเลิกขายโซฮอล์ 91 หลังปริมาณผลิตเอทานอลยังไม่แน่นอน หวั่นกระทบผู้ใช้ พบยอดใช้เบนซินไตรมาสแรกปีนี้ พุ่ง 3.1% อยู่ที่ 29.1 ล้านลิตร/วัน ส่วนดีเซล เพิ่ม 1.3% ที่ 65.3 ล้านลิตร/วัน...
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า ได้ยกเลิกแนวคิดการออกประกาศเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ในประเทศ ซึ่งเดิมจะให้มีผลบังคับใช้ต้นปี 61 หลังพบว่าปริมาณการผลิตเอทานอลที่จะนำมาผสมในน้ำมันเบนซินนั้นยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากผู้ค้าเอทานอลหันไปส่งออกวัตถุดิบกากน้ำตาล (โมลาส) ไปต่างประเทศ เพราะได้ราคาดีกว่า โดยไม่สนใจนโยบายรัฐที่ต้องการผลักดันให้เกิดการใช้เอทานอลในประเทศมากขึ้น ดังนั้นหากยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 คาดว่าจะมีผลกระทบต่อการใช้น้ำมันของประชาชน เพราะผู้บริโภคจะหันไปใช้แก๊สโซฮอล์ E20 มากขึ้น ส่งผลให้มีการใช้เอทานอลมากขึ้น
เบื้องต้นทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ. ) เตรียมนัดหารือกับผู้ประกอบการเอทานอลในสัปดาห์หน้า เพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหาปริมาณเอทานอลในอนาคต และเตรียมหามาตรการรองรับปัญหาในช่วงสิ้นเดือน เม.ย.นี้เช่นกัน เนื่องจากเป็นช่วงหมดฤดูหีบอ้อย ปริมาณโมลาสจะน้อยลงอีก
ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการใช้เอทานอลของไทยทั้งปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 4 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ไทยมีกำลังการผลิตเอทานอลรวมอยู่ที่ 5.5 ล้านลิตร/วัน แต่การผลิตจริงจะประสบปัญหาหากขาดวัตถุดิบโมลาส เพราะปัจจุบันการผลิตเอทานอลจากโมลาสมีเพียง 3.1 ล้านลิตร/วันเท่านั้น แต่เป็นจังหวะดีที่โรงงานเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลังเปิดใหม่ 2 โรงและโรงงานเอทานอลของบริษัทมิตรผลได้เพิ่มกำลังการผลิตขึ้น ทำให้มีปริมาณเอทานอลจากมันสำปะหลังมาเสริมระบบได้อีก 6.3 แสนลิตร/วัน
...
อย่างไรก็ตาม จะยังคงใช้มาตรการด้านราคาเป็นกลไกให้เกิดการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ในประเทศต่อไป แทนการออกกฎหมาย โดยขณะนี้ได้ขยับราคาแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 ให้มีราคาใกล้เคียงกันมากที่สุด เพื่อให้ผู้บริโภคหันไปใช้แก๊สโซฮอล์ 95 จนนำไปสู่การยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ในที่สุด
สำหรับปัจจุบันราคาแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 26.28 บาท/ลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 26.55 บาท/ลิตร และมาตรการต่อไปจะเพิ่มการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 แทนการใช้แก๊สโซฮอล์ 95 ด้วยการเพิ่มส่วนต่างราคาของแก๊สโซฮอล์ E20 และแก๊สโซฮอล์ 91 ให้ต่างกันมากกว่า 5% โดยมาตรการด้านราคาดังกล่าวเริ่มเห็นผลแล้ว โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่ายอดใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 10.7 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ยอดใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้น 9.1% มาอยู่ที่ 11.3 ล้านลิตร/วัน และแนวโน้มการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 จะลดลง 10% ต่อเดือน ทำให้เชื่อว่าการใช้กลไกราคาจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ต่อไป
ส่วนยอดการใช้น้ำมันช่วงไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มน้ำมันเบนซินใช้เพิ่มขึ้น 3.1% มาอยู่ที่ 29.1 ล้านลิตร/วัน โดยการใช้แก๊สโซฮอล์ E85 เพิ่มถึง 20.7% มาอยู่ที่ 1 ล้านลิตร/วัน เพราะรถยนต์ผลิตใหม่รองรับแก๊สโซฮอล์ E85 เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ส่วนการใช้น้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.3% มาอยู่ที่ 65.3 ล้านลิตร/วัน ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจและปริมาณรถยนต์ดีเซลมีเพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ด้านการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) พบว่าปรับลดลง 2.1% มาอยู่ที่ 16.1 ล้านกิโลกรัม/วัน โดยเป็นการลดลงในภาคครัวเรือน 0.7% ภาคขนส่งลดลง 8.9% และภาคปิโตรเคมีลดลง 0.4% ยกเว้นภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น 4.1% เพราะรัฐบาลส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ LPG ในการผลิตสินค้าเป็นหลัก ขณะที่ยอดการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ลดลง 14.3% เฉลี่ยอยู่ที่ 7 ล้านกิโลกรัม/วัน.