คำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่งตั้ง คณะกรรมการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบด้วย พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.เป็นประธานกรรมการ พล.อ.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล ผช.ผบ.ทบ.เป็นรองประธานพร้อมด้วย ปลัดกระทรวงพลังงาน รองปลัดมหาดไทย รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ ผอ.สำนักนโยบายและแผนพลังงาน ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผู้แทนอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้แทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ผู้แทน ผบ.ทร. แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองเสนาธิการทหารบก แม่ทัพน้อยที่ 4 และผู้แทนสำนักนโยบายและแผนพลังงาน รวมแล้ว 17 คนมีหน้าที่สร้างความรู้ความเข้าใจและรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการตั้งคณะทำงานลงไปศึกษาถึงผลกระทบในการสร้างโรงไฟฟ้าที่ กระบี่และเทพา แต่ถูกคัดค้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจนต้องยกเลิกไปหลายเวที

ความล่าช้าในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองแห่งตามแผนพลังงานของประเทศที่กำหนดไว้ มีผลกระทบกับ นโยบายเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ แน่นอน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่จะกระทบกับความเชื่อมั่นการลงทุนและต้นทุนที่สูงขึ้น นอกจากผลกระทบกับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นโดยอัตโนมัติ

ก่อนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองแห่ง ได้ทำการสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งมีการสอบถามความต้องการของชาวบ้านในบริเวณที่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งทุกอย่างก็ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานและชาวบ้านในพื้นที่เองก็ไม่มีปัญหา

ต้องยอมรับว่า ภาคใต้มีความสุ่มเสี่ยงด้านความมั่นคงในระบบไฟฟ้า เนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าประมาณ 2,700 เมกะวัตต์ ต่อวัน ขณะที่ โรงไฟฟ้าหลัก ที่สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง มีเพียง 2,406 เมกะวัตต์ จึงต้องใช้ไฟฟ้าจาก ภาคกลาง ไปสนับสนุนประมาณวันละ 200-600 เมกะวัตต์

...

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าหลักในภาคใต้ คือ โรงไฟฟ้าจะนะ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีกำลังผลิตที่ 1,476 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขนอม ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีกำลังผลิต 930 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าสำรอง อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา ผลิตได้ 240 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบางลาง ผลิตได้ 72 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าเอกชนชีวมวล ผลิตได้ 29 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าบ้านสันติ ผลิตได้ 1 เมกะวัตต์ ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง

ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้สูงขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 4-5 ของปริมาณการใช้ไฟ ในปัจจุบันการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้ขยับไปที่ 3,089 เมกะวัตต์ ค่าไฟฟ้าผันแปรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกเดือน ราคาค่าไฟต่อหน่วยอยู่ที่ประมาณ 3.78 บาท ในขณะที่เวียดนาม ลาว เมียนมา อินโดนีเซีย อยู่ที่ระหว่าง 1.99-2.86 บาทต่อหน่วย มาเลเซียมีแหล่งก๊าซธรรมชาติมากกว่าบ้านเราอยู่ที่ 3.37 บาทต่อหน่วย ในเมื่อแผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศยังคลุมเครือ

ใครจะกล้ามาลงทุนให้เมื่อยตุ้ม.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th