เจ้าของเสียงเพลง “กับข้าวเพชฌฆาต” เปิดบ้านสอนเพลงพื้นบ้าน หวังสืบสานมรดกพื้นบ้านสุพรรณบุรีไว้ให้ลูกหลาน
แม่เพลงพื้นบ้าน ขวัญจิต ศรีประจันต์ หรือนางเกลียว เสร็จกิจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง ปี พ.ศ.2539 ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 9 หมู่ที่ 1 ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เล่าถึงความเป็นมาของการเปิดบ้านฝึกเยาวชนว่า “อยากให้เด็กๆสมัยนี้ได้รู้เอาไว้ แต่มันก็ยากนะ ต้องเตาะแตะกันไป เวลาฝึกฝนของเด็กๆก็ไม่มากนัก คือเรานำเด็กมาเข้าค่าย มาเรียนรู้ ให้แนวทางที่ชัดเจนไป อย่างที่เรารู้กันว่า ธรรมชาติของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ได้มากบ้าง น้อยบ้างก็ว่ากันไป หวังเพียงว่าจะได้ความรู้ติดตัวไป บางคนเติบโตไปเป็นครู ถ้าเขาไปทำขึ้นอีก เขาก็จะต่อเป็นรุ่นๆไป”
ลักษณะของเด็กรุ่นใหม่ แม่ขวัญจิตบอกว่า “เท่าที่สังเกตเห็นมักจะเสียงเบา พลังเสียงไม่หนักแน่น แต่ช่างเถอะ...แม้จะเบาไปบ้างก็ขอให้ดำรงรักษาไว้ซึ่งเพลงพื้นบ้านสุพรรณบุรีของเรา ลองมองไปข้างๆ บ้านเรา เพลงเหย่ยเมืองกาญจน์นั่นก็ค่อยเรียวๆลงไปแล้ว น่าเสียดาย แม้จะรู้ว่ามันเป็นไปตามยุคสมัยก็เถอะ”
การเรียนรู้ของเด็กๆ “ในระดับประถม มัธยม เราก็พยายามวางรากฐานเอาไว้ เมื่อเติบโตขึ้นมาระดับมหาวิทยาลัย อยู่ที่ว่าเขาชอบไหม เขาตัดสินใจเองได้แล้ว ถ้าชอบก็ลงสมัครกันมาเรียนรู้ได้ แม้ไม่มีค่ายแม่ก็สอนให้”
ค่ายฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน “แต่ละครั้งอาจจะได้เพชรบ้าง เพราะแต่ละคนต่างก็มีพื้นฐานกันมา”
การฝึกเริ่มด้วย “ให้ครูร้องให้ฟังไปรอบหนึ่ง แล้วก็บอกลูกๆ เลียนเสียงสูง เสียงต่ำ แล้วให้กลอนเด็กๆลองร้องดู จริงๆเวลา 7 วันน้อยเกินไป บางคนอาจจะได้แค่ตั้งเสียงถูก แต่เดี๋ยวนี้มีเครื่องมืออัดเสียง เด็กๆที่สนใจจริงสามารถอัดเสียงไปฝึกหัดและพัฒนาต่อยอดได้ ไม่เหมือนสมัยแม่หัด แทบจะต้องจำเอาอย่างเดียว”
...
ลึกๆในใจของแม่เพลงเมืองสุพรรณฯ “อยากได้ครูมาฝึกหัดมากกว่า ได้ครูแล้ว ให้ครูเอาไปต่อยอดได้ อย่างเมื่อปี พ.ศ.2535 มีครูมาฝึก เดี๋ยวนี้เหลือ 2-3 คน แต่เขาก็สามารถสอนลูกศิษย์ไปได้มาก” การพัฒนาเด็กหรือครูไปสู่การเป็นแม่เพลงมืออาชีพนั้น แม่ขวัญจิตบอกว่า “ต้องฟังเสียงทีละคนก่อนว่าเสียงเป็นอย่างไร บางคนเสียงเบา บางคนเสียงหนักแน่น บางคนเสียงลึก เราต้องดูว่าเด็กปอดใหญ่ไหม ถ้าได้ระดับนั้น เราจะเน้นพัฒนาให้เต็มที่เพราะเสียงได้ระดับต้องการแล้ว แต่ถ้าเสียงเบา เราก็ให้เขารู้เรื่องทางเพลงไว้ก่อน เราต้องดูทีละคน ดูทุนเสียงแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร”
ดังนั้น “บางคนใจรักแต่เสียงไม่ได้ เราอาจจะให้เขาไปเป็นลูกคู่ หรือร้องเพลงตลกๆ ที่ไม่เน้นเสียงไพเราะก็ได้”
ตลอดเวลาอันยาวนานที่ฝึกมา แม่ขวัญจิตบอกว่า นักศึกษาที่เรียนไปบางคนก็สามารถไปต่อยอดได้เป็นอย่างดี บางคนก็นำเอาไปแปลง แม่อยากให้รักษา “อัตลักษณ์” ของบรรพชนเอาไว้ เพราะเป็นมรดกพื้นบ้านที่สืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
แม่อยากจะบอกคนรุ่นใหม่ว่า “คนที่เรียนไป อย่างไรก็ได้พื้นความรู้ วันไหนที่ไม่มีแม่อยู่แล้ว ถ้าจำเป็นต้องสอนเพลงพื้นบ้านก็จะได้แนวทางที่แม่สอนไว้ แม่อยากให้รักษาคุณภาพเอาไว้ เพราะบางกลุ่มเอาไปทำกัน เอาไปแปรกันจนดูไม่ออกเลยว่าเป็นเพลงพื้นบ้านเรา”
และบอกว่า “แม่เห็นใจครูที่สอนนะ ท่านต้องทนเหนื่อย เนื่องจากโรงเรียนมักไม่มีชั่วโมง ไม่มีตารางสอนให้ครูเหมือนวิชาทั่วๆไป เมื่อจะสอนก็ต้องหาเวลา การหัดเบื้องต้นนั้นมีความจำเป็นมาก ถ้ามีพื้นฐานไว้เมื่อเติบใหญ่ก็จะปฏิบัติได้ง่าย”
การนำเพลงพื้นบ้านเข้าไปสอนในสถาบัน “เรื่องนี้พูดกันมาก และพูดกันมานานแล้ว แต่ยังทำไม่ได้ ตราบใดที่เขาไม่ปรับตารางให้ก็ทำไม่ได้ มีบางโรงเรียนเท่านั้นที่ผู้อำนวยการเอาด้วย ให้ไปสอนพื้นฐานให้กับเด็กๆ”
ความสำคัญและความทันสมัยของเพลงพื้นบ้านในโลกปัจจุบัน “ถ้าจะบอกว่ามีความสำคัญก็ได้ ถ้าจะบอกว่าไม่มีความสำคัญก็ได้ แล้วแต่คนจะมอง แต่ที่เราทำกันอยู่เพราะเป็นสมบัติของชาติที่ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดสุพรรณฯเท่านั้น จังหวัดอื่นๆเขาก็มีและอยากเก็บไว้เป็นมรดกพื้นบ้าน”
เพื่อไม่ให้เพลงพื้นบ้านหายไป แม่ขวัญจิตบอกว่า ยินดีฝึกสอนให้กับเด็กๆ ครูและผู้สนใจทั่วไป บางคนก็มานั่งๆนอนๆที่บ้านเพื่อเรียนรู้ บางคนเมื่อผ่านการฝึกฝนไปแล้ว แม้เจอที่ไหนก็เข้ามาถาม เข้ามาเรียนรู้ แม่ก็ยินดี “แม้จะดูเรี่ยราดไปบ้าง แต่แม่ก็ตั้งใจ”
หนึ่งในกิจกรรมฝึกเพลงพื้นบ้านที่บ้านแม่ขวัญจิตคือ ค่าย “เพาะกล้าพันธุ์เก่งเพลงพื้นบ้าน” ฝึกสอนกันมาเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว โดยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ แกนหลักคือ ผศ.บัวผัน สุพรรณยศ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และยังมีอาจารย์เอนก นาวิกมูล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพลงพื้นบ้าน คอยให้คำปรึกษา
อาจารย์บัวผันบอกว่า ค่าย “เพาะกล้าพันธุ์เก่งฯ” รุ่นที่ 4 นี้ มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพลงพื้นบ้าน 5 ประเภท คือ 1.เพลงหน้าเกี่ยว เช่น เพลงสงฟาง เพลงพานฟาง 2.เพลงในลานนวดข้าว ได้แก่ เพลงเต้นกำ 3.เพลงในเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ เพลงพวงมาลัย เพลงคล้องช้าง 4.เพลงในหน้าน้ำ ได้แก่ เพลงเรือ และ 5.เพลงที่เป็นการแสดงพื้นบ้าน ได้แก่ เพลงฉ่อย อีแซว เป็นต้น
การคัดเลือกเยาวชนเข้ามาร่วมโครงการ คณะกรรมการกำหนดคุณสมบัติผู้ผ่านการคัดเลือก เช่น ต้องมีจิตสำนึกรักและแสดงถึงความภูมิใจในภูมิปัญญาของชาวบ้าน และจะมุ่งมั่นเรียนรู้เพลงพื้นบ้านและอุทิศตนเพื่อสร้างสรรค์และสืบสานเพลงพื้นบ้านตลอดไป
เยาวชนผ่านการคัดเลือกมา 40 คน แต่เมื่อถึงวันจริงติดภารกิจ 2 คน จึงเข้าค่ายได้ 38 คน
...
ค่ายเพาะกล้าพันธุ์เก่งฯใช้เวลา 6 วัน ฝึกหัดที่บ้านแม่ขวัญจิต จากนั้นเข้าประกวดที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เขตตลิ่งชัน กทม. ในวันที่ 2 มีนาคม 2560 ผู้ชนะจะได้ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษารวม 100,000 บาท
สำหรับงบประมาณหลักนอกจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยแล้ว ยังมาจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และยังมีองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ ให้ความร่วมมือ แม้กระทั่งเจ้าอาวาสวัดที่เห็นความสำคัญเพลงพื้นบ้าน
การฝึกสอน นอกจากแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์และคณะแล้ว ยังมีครูเพลงชาวสุพรรณฯและใกล้เคียงมาร่วมฝึกสอนอีกหลายคน
สำหรับค่ายนี้ “เด็กร้องเพลงพื้นบ้านเป็นมาแล้วเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่ต่อยอด”
จุดประสงค์ที่จะให้เด็กได้จากโครงการ “ความรู้ไม่มากเท่าแรงบันดาลใจและคุณธรรมที่เราอยากได้ ดังนั้นเราจึงเน้นปลูกคุณค่าอันดีงาม ในจิตใจเขา ให้มีความรักในศิลปะอย่างแท้จริง และเคารพครูบาอาจารย์ เพราะความรักครูศิษย์มันเหนี่ยวนำได้ดีและถาวร เพราะเป็นความรักที่บริสุทธิ์”
มุมมองเยาวชนที่เข้าโครงการอย่างน้องข้าวหอม หรือ น.ส.ชนาธินาถ รูปสม นักเรียนชั้น ม.4 จากโรงเรียนบางหลวงวิทยา อ.บางเลน จ.นครปฐม เธอบอกว่า เริ่มสนใจเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่เรียนชั้นประถม เพราะพี่สาวมาเข้าค่ายและนำหนังสือคู่มือกลับไป เธอจึงหยิบมาฝึกร้อง และอยากทำได้บ้าง โชคดีที่พี่สาวช่วยสอนให้
เมื่อถามว่าชอบเพลงพื้นบ้านเพราะอะไร ข้าวหอมตอบว่า เนื้อหาตลก ขบขันดี ฟังแล้วไม่เครียด สนุกสนาน หลังจากฝึกด้วยตนเองมาประมาณ 2-3 ปี จึงสมัครเข้ามาฝึกอบรม ตั้งใจว่าจะนำความรู้ไปสอนรุ่นน้องๆ
ความสำคัญของเพลงพื้นบ้าน น้องข้าวหอมบอกว่า “ใครจะเห็นความสำคัญหรือไม่ก็ตาม แต่หนูอยากให้อนุรักษ์ไว้ เพราะเป็นมรดกของคนรุ่นก่อนที่ควรค่ากับการรักษาไว้”.
...