อุตสาหกรรมผลิตน้ำปลาและภาคประมง เข้มงวดเรื่องมาตรฐานการใช้เกลือทะเลที่ผ่านกระบวนผลิตได้คุณภาพมาตรฐานความสะอาดมากขึ้น ทำให้การใช้เกลือทะเลที่ผลิตในบ้านเราน้อยลง ซ้ำร้ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังมีการนำเข้าเกลือจากเพื่อนบ้านมาใช้แทน ส่งผลเกลือทะเลที่เกษตรกรไทยผลิตเกิดภาวะล้นตลาด ปีละหลายหมื่นตัน ราคาลดลงอย่างฮวบฮาบ จากปี 2553 ราคาอยู่ที่เกวียนละ 3,000-4,000 บาท ปี 2559 ราคาหล่นไปอยู่ที่ 700 บาท ชาวนาเกลือแทบไม่เหลือกำไร
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า เพื่อรักษาอาชีพการทำนาเกลือ และแก้ปัญหาไม่ให้ราคาเกลือทะเลตกต่ำไปมากกว่านี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และสภาหอการค้า จัดโครงการสร้างระบบตลาดพัฒนาคุณภาพเกลือทะเลขึ้น โดยขอกู้เงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 52.5 ล้านบาท ให้กลุ่มสหกรณ์กู้เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตเกลือให้มีความสะอาดและได้มาตรฐานตามที่ผู้ประกอบการร้องขอ
...
“เราดึงหอการค้าเข้ามาร่วมโครงการ เพื่อจะเชื่อมโยงผู้ผลิตเกลือกับโรงงานผลิตน้ำปลา ดองผัก ผลไม้ รวมภาคประมง ให้สามารถรู้ถึงความต้องการเกลือของแต่ละอุตสาหกรรม และจะได้กระจายเกลือไปยังแหล่งอุตสาหกรรมต่างๆโดยไม่ให้ทับซ้อน ลดต้นทุนการขนส่ง และทำให้เกษตรกรเกิดความเคยชินกับระบบตลาด ได้เรียนรู้และนำเทคโนโลยีใหม่ๆพัฒนาให้เกลือมีคุณภาพ มาตรฐาน อาทิ การนำเครื่องลดความชื้น เครื่องโม่เกลือเข้ามาใช้ เพื่อให้เม็ดเกลือมีขนาดเหมาะสมกับการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพราะในอดีตที่ผ่านมาเกลือที่ออกจากนาเกลือมีขนาดใหญ่เกิน”
ดร.วิณะโรจน์ บอกอีกว่า หลังจากสภาหอการค้า เข้ามาช่วยเหลือ ทำให้ตลาด เกลือกว้างขึ้น เกิดการเชื่อมโยง ได้หลากหลาย โดยล่าสุดสหกรณ์ สภาหอการค้า และเกษตรกรกลุ่มทำนาเกลือ ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพเกลือทะเล ได้เจรจาติดต่อเชื่อมโยงกับสหกรณ์ทางภาคเหนือในการนำเกลือไปทำผักดอง และติดต่อโรงงานแปรรูปผลไม้ในจังหวัดระยองและจันทบุรี เพื่อทำเกลือไปใช้ในการแปรรูปผลไม้ด้วยเช่นกัน.