สบทช.6 ร่วมกับอาสาสมัครนักดำน้ำ 30 ชีวิต ช่วยกันขนย้ายต้นกัลปังหา เข้าปลูกในกองปะการังเทียม บริเวณเกาะไม้ท่อน ชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แนวปะการัง...

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ท่าเทียบเรือศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต นายเกษม สุขวารี ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการย้ายปลูกกัลปังหา โดยการมีส่วนร่วม ซึ่งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 (สบทช.6) จัดขึ้น เพื่อนำกัลปังหาที่เพาะขยายพันธุ์ไว้ลงไปปลูกยังพื้นที่เกาะไม้ท่อน อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมีนายสุชาติ รัตนเรืองศรี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กล่าวรายงาน

ทั้งนี้ได้มี ทัพเรือภาคที่ 3 และผู้แทนจากสำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (สงขลา) ร่วมมอบกัลปังหาให้แก่ตัวแทนอาสาสมัครนักดำน้ำ ทั้งภาครัฐและเอกชน 30 คนที่จะลงทำหน้าที่ขนย้ายและปลูกจำนวน 250 ต้นที่ได้จัดเตรียมไว้พร้อมอุปกรณ์ดำน้ำและเสบียงอาหารลงเรือ 3 ลำ โดยจะนำต้นกัลปังหาผูกยึดติดกับแท่งปะการังเทียมในกองปะการังเทียม เพื่อให้ต้นกัลปังหาเจริญเติบโตและเกาะติดแท่งปะการังเทียม เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล ซึ่งต้นกัลปังหาที่นำไปปลูกนั้นเป็นต้นขนาดประมาณ 1 ปี ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำกิ่งพันธุ์มาจากหลายพื้นที่ ทั้งท่าเรือและโป๊ะที่มีการรื้อก่อสร้างใหม่ในจังหวัด โดยนำมาทำการเพาะขยายพันธุ์ไว้บริเวณหน้าท่าเทียบเรือและทำการดูแลจนพร้อมสำหรับนำไปเพาะปลูก

นายสุชาติ รัตนเรืองศรี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กล่าวว่า ถึงแม้โครงการดังกล่าวจะได้จัดทำต่อเนื่องมาหลายปี แต่ในปีนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต และทัพเรือภาคที่ 3 ที่ร่วมเปิดโครงการ และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ กลุ่มอาสาสมัครนักดำน้ำซึ่ง ไม่ว่าจะเก็บขยะหรือปลูกปะการัง กัลปังหา กลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้จะมาร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีเยาวชนจาก 2 โรงเรียนในจังหวัดที่มาร่วม ซึ่งเป็นการปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนรู้จักกับทรัพยากรทางทะเลที่มีคุณค่า ให้รู้จักหวงแหนไว้เพื่ออนาคต

...

"สำหรับสถานการณ์ของกัลปังหาในปัจจุบัน พบว่ามีกัลปังหาตามธรรมชาติน้อยลง เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ผลกระทบจากเรืออวนลาก อวนรุน และที่สำคัญยังพบว่ายังคงมีการลักลอบตัด เพื่อนำไปจำหน่ายในลักษณะต่างๆ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากยังมีราคาสูง ตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหมื่นบาท โดยผู้นิยมเอาไปเป็นเครื่องประดับ เครื่องรางและยาตามความเชื่อ ทั้งที่ทราบว่ากัลปังหาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และที่ผ่านมา สบทช.6 เคยจับกุมได้ พบว่ากลุ่มผู้ลักลอบนั้นจะเป็นหรือใช้เป็นคนในพื้นที่ ซึ่งรู้จักการหลบหลีกการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ในการลักลอบตัดเก็บมาพักไว้ตามออเดอร์ก่อนจะมีการเคลื่อนย้ายในช่วงเวลากลางคืน จึงยากที่จะตรวจสอบจับกุมได้ จึงฝากถึงประชาชนช่วยแจ้งเจ้าหน้าที่หากพบเห็นการกระทำความผิด" นายสุชาติกล่าว

เครดิตจาก ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล