ความเหลื่อมล้ำทาง ด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรวมถึง การศึกษาของประเทศ เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจากการวิจัยพบว่า มาตรฐานการศึกษาของไทย ยังไม่สอดคล้องที่จะนำไปสู่ยุคดิจิทัลซึ่ง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดการสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม ให้เป็น 1 ใน 6 ยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เอาไว้แล้ว
ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การกำกับดูแลของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ จึงได้กำหนดความสำคัญในด้านการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และถือเป็นนโยบายเร่งด่วนโดยการตั้งโครงการโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน หรือ โรงเรียนไอซียู ขึ้นมา
โครงการโรงเรียนไอซียู เป็นโครงการสนองพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ไขปัญหาโรงเรียนที่ขาดโอกาส เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ สำหรับแนวทางในการดำเนินโครงการนั้นมุ่งให้ความช่วยเหลือและพัฒนาโรงเรียนที่ขาดความพร้อมและต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ตามสภาพปัญหาของโรงเรียน
โดยพิจารณาจากวิกฤติทั้ง 6 ด้านคือ ด้านกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาคารเรียน ห้องเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน ความทันสมัย ด้านคุณภาพ คือมาตรฐานการศึกษาที่จะต้องยกระดับให้เป็นสากล ด้านบุคลากร ครูผู้สอน ประสิทธิภาพในการเรียนการสอน ด้านบริหารจัดการ จัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการ การอบรมและพัฒนา ด้านโอกาสทางการศึกษา ฐานะของครูและนักเรียน สุดท้ายคือ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ในบริเวณใกล้ที่ตั้งโรงเรียน ปัญหายาเสพติด อบายมุข เป็นต้น
โรงเรียนไอซียูไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นโรงเรียนที่อยู่ในเมืองหรือชนบท ปัญหาที่พบมากที่สุดคือ ปัญหาด้านกายภาพ การขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน ความทันสมัยในการเรียนรู้ ซึ่งได้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในโรงเรียนขนาดเล็กถึงกว่า 15,000 แห่ง
...
จุดเด่นของโครงการคือการดำเนินนโยบายจาก ล่างขึ้นบน ไม่ใช่เป็นการสั่งงานตามความต้องการของส่วนกลางอย่างเดียว เพราะโรงเรียนแต่ละแห่งก็มีปัญหาที่แตกต่างกันไป
การตัดเสื้อไซส์เดียวกันเพื่อให้คนทั้งประเทศใส่คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด
อีกประเด็นคือ การเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน จากบุคคลภายนอก สถาบันการศึกษา ชุมชน ผู้ปกครอง รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่จะเข้าไปแก้ปัญหา ฟื้นฟูและพัฒนาโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง โดยเฉพาะคุณภาพการเรียนการสอนที่จะต้องมีความยั่งยืนต่อเนื่อง
การขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนไอซียู เป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลชุดนี้จะให้เป็นผลงานชิ้นโบแดงด้านการศึกษาและยกระดับการศึกษาของประเทศไปสู่มาตรฐานสากล สร้างโอกาส ความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เตรียมความพร้อมที่จะเป็นไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th