ขณะที่การคมนาคมขนส่งทางรางมีความสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทย คาดกันว่าประเทศไทยจะมีความต้องการบุคลากรระบบขนส่งทางรางราว 24,000 คน ซึ่งมีทั้งวิศวกร ช่างเทคนิคและสาขาอื่นๆ จึงมีคำถามว่าจะผลิตและพัฒนาบุคลากรระบบรางเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ กับโครงการขนส่งทางราง 10 สายที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในขณะนี้ และจะแล้วเสร็จในปี 2561–2565
ได้แก่ สายสีน้ำเงิน ท่าพระ-บางซื่อ, สายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ, สายสีแดง รังสิต-บางซื่อ, สายสีเขียว หมอชิต-คูคต, สายสีแดงเข้ม รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ (รังสิต), สายสีแดงอ่อน (ชานเมือง) บางซื่อ-หัวหมาก,สายสีแดงเชื่อมแอร์พอร์ตลิงค์ ดอนเมือง-พญาไท, สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี, สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี, สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง
ผศ.ดร.มนต์ศักดิ์ พิมสาร ประธานหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สจล. ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรด้านวิศวกรรมขนส่งทางรางส่วนใหญ่อยู่ในระดับวิศวกรทั่วไป เรายังขาดแคลนทั้งระดับผู้เชี่ยวชาญและช่างเทคนิคด้านการบำรุงรักษาระบบรางและการจัดการระบบราง
...
สนง.คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) คาดการณ์ความต้องการบุคลากรระบบรางเพื่อรองรับรถไฟ 10 สาย ในระหว่างปี 2558-2565 ว่า มีจำนวนรวม 24,000คน แบ่งเป็นวิศวกร 4,500 คน ช่างเทคนิค 9,100 คน และเจ้าหน้าที่อื่นๆอีก 10,400 คน
ทั้งนี้ ประเทศไทยน่าจะผลิตได้เพียงพอ จากการพัฒนาบุคลากรในความร่วมมือของ 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ, ภาคผู้ประกอบการเดินรถไฟ, ภาคการศึกษาและสถาบันวิจัย โดยแบ่งเป็นการผลิตบุคลากรใหม่ เช่น หลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางรางในระดับปริญญาตรี, หลักสูตรอนุปริญญาช่างเทคนิค, การฝึกอบรมพัฒนา โดยผู้ประกอบการขนส่งทางรางและผู้เชี่ยวชาญจากในและต่างประเทศ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีความต้องการ 8,000 ตำแหน่งเพื่อรองรับภารกิจ
โดยยังไม่รวมโครงการรถไฟไทย-จีน ประสานพลังประชารัฐและภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย 7 แห่ง และเครือข่ายวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่างๆเร่งผลิตวิศวกร ผู้ช่วยวิศวกร และช่างเทคนิคระบบราง เตรียมความพร้อมบุคลากรอย่างเพียงพอที่จะรองรับระบบขนส่งทางราง เช่น รถไฟฟ้า 10 สายรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางมาตรฐาน
ในส่วนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมขนส่งทางราง เป็นแห่งแรกของไทยและอาเซียน เมื่อปีการศึกษา พ.ศ.2556 ซึ่งได้เปิดรับนักศึกษามาแล้วทั้งหมด 4 รุ่น มีนักศึกษารวม 150 คน และในปีการศึกษา 2560 จะเปิดรับ 40 คน โดยมุ่งเน้นเทคโนโลยีและการจัดการการขนส่งทางราง องค์ประกอบและการออกแบบระบบรางรถไฟ การตัดรางรถไฟ การซ่อมบำรุงรถไฟ การควบคุมการจราจรของรถไฟและระบบอาณัติสัญญาณ (Rail Signaling) และการวางแผนงานระบบขนส่งทางราง
ประชาชนคนกรุงเทพฯหวังว่า การพัฒนาคุณภาพระบบรางให้ทัดเทียมนานาประเทศและรองรับวิถีใหม่ไทยแลนด์ 4.0 จะนำมาซึ่งการเดินรถอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับความปลอดภัย บริการที่ทันสมัยและสะดวกสบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนการซ่อมบำรุงและป้องกันอุบัติเหตุด้วย.