อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ยังคงเป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองของไทยที่บรรดา CEO ใหญ่ๆ ทั้งไทย และเทศ ต่างให้ความสำคัญกับแนวคิด และทิศทางการนำพาประเทศไทยไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ และอาจใหญ่กว่าที่เคยเป็นมา
เห็นได้จากงาน Forbes Global CEO ครั้งที่ 22 ที่มี CEO จากบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมาก รวมทั้งบรรดาเจ้าสัว และ นายธนาคารมากมาย ต่างเข้าแสดงความยินดีกับเขา
หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องทุกข้อใน 6 ข้อด้วยกันที่กล่าวหาว่า เขาเข้าไปอยู่เบื้องหลังการนำเสนอนโนยายของรัฐบาลนายกฯแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว ไปจนถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครอง ซึ่งคำร้องทั้งหมด ศาลไม่พบพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอจะให้ ทักษิณ กระทำการเช่นว่า
บนเวทีที่ สตีฟ ฟอร์บส์ ประธาน และบรรณาธิการของ Forbes Media เชิญเขาร่วมสนทนาในแบบ one-on-one ถึงวิสัยทัศน์เมื่อค่ำวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา
อดีตนายกฯทักษิณ ก็ประกาศสนับสนุนรัฐบาลในการ “ลดอัตราภาษี”เพื่อดึงต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย พร้อมๆ กับผลักดัน การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลฮับในภูมิภาค เช่นเดียวกับที่ ประธานาธิบดีคนที่ 47 โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะทำให้สหรัฐฯอเมริกา เป็นศูนย์กลางดิจิทัลฮับของโลก ด้วยการเน้นไปที่การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์(AI) และการเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ควบคู่กันไป
แนวคิดที่สนับสนุนการปฏิรูประบบภาษีอย่างครอบคลุมในทุกกิจกรรมทางธุรกิจของประเทศไทย และต่างชาตินี้ จะต้องยืนอยู่บนกลไกที่จะบรรเทาภาระให้กับผู้เสียภาษีไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือ ต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการคืนภาษีให้กับผู้มีรายได้น้อยผ่านนโยบายภาษีเงินได้แบบติดลบ หรือ Negative Income Tax
...
เมื่อพิจารณาแล้ว พบว่า อัตราการจัดเก็บภาษีรายได้ของไทยอยู่ในระดับสูงถึง 35% เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับสิงคโปร์ ที่มีการจัดเก็บภาษีรายได้อยู่ที่ 17% ประเทศไทย จึงควรปรับลดภาษีรายได้ตัวนี้ลง
Negative Income Tax หรือ ภาษีเงินได้แบบติดลบ คืออะไร? คำตอบคือ เครื่องมือที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จัดเป็นนโยบายให้เงินช่วยเหลือบุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณท์ที่กฏหมายกำหนด ได้แก่ เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำ และอัตราการชดเชย ซึ่งโดยปกติจะต้องเข้าระบบภาษี และยื่นภาษีเงินได้เหมือนผู้มีรายได้ทั่วไป
แต่กลับด้านกันกับภาษีเงินได้แบบปกติทั่วไปที่จัดเก็บจากผู้มีรายได้สูงถึงเกณฑ์ที่กฏหมายกำหนดให้ต้องเสียภาษี ในระบบภาษีเงินได้แบบติดลบนี้ มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สมควรได้รับได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย และครอบคลุมที่สุดเพราะเป็นสวัสดิการแบบเจาะจง (Targeting) ช่วยประหยัดงบประมาณได้มากกว่า การดำเนินโครงการสวัสดิการแบบถ้วนหน้า(Universal)...
บางโครงการที่ใช้งบประมาณสูง แต่อาจได้ประสิทธิภาพไม่เต็มที่ เพราะงบประมาณถูกจัดสรรให้บุคคลที่ไม่ได้มีรายได้น้อยจริงๆ หรือไม่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ(Inclusion Error)
ในระยะยาว Negative Income Tax ยังสามารถเพิ่มจำนวนคนให้เข้าสู่ระบบภาษีได้มากขึ้น เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยก็มีแรงจูงใจจะเข้าระบบภาษี และยื่นภาษีเพื่อรับเงินช่วยเหลือ
หากในอนาคต กลุ่มบุคคลเหล่านี้ มีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นจนถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้ว ก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ทันที เพราะอยู่ในระบบภาษีแต่แรกอยู่แล้ว
แนวคิดนี้ สนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่อดีตนายกฯทักษิณยืนยันว่า จำเป็นต้องเร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว เพราะหนี้สินครัวเรือนของไทยในปีนี้ อยู่ที่ 90.7% ของ GDP หรือคิดเป็นวงเงิน 15-16 ล้านล้านบาท
แม้จะอยู่ในการควบคุมให้ชะลอตัวลงบ้าง แต่ตราบใดที่รายได้ต่ำกว่ารายจ่าย และรัฐไม่ให้การช่วยด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆ ทางด้านการเงิน และการคลัง คนไทยจะยิ่งอยู่ในสภาพชักหน้าไม่ถึงหลังต่อไป และ ปัญหาจะลุกลามบานปลายต่อไปถึงความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย
ทักษิณ ซึ่งประกาศระหว่างการหาเสียงช่วยผู้สมัครของพรรคที่จังหวัดอุดรธานี ย้ำกับพี่น้องที่ไปฟังการปราศรัยว่า ต่อจากนี้ไป เขา จะ ส.ท.ร.กับเรื่องทุกเรื่องที่เขาเห็นว่า เป็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน เขาจะ ส.ท.ร.กับเรื่องใดบ้าง จับตาดูกันอย่ากระพริบ