กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงานนิทรรศการ 5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทยและก้าวไปในทศวรรษที่ 6 ระหว่าง 19-20 สิงหาคม 2023 เวลา 10.30-19.30 น. ที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ณ เฮลิกซ์ การ์เด้น ชั้น 5 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ

13.30 น. เสาร์ 19 เปิดงานโดย ฯพณฯ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ตามด้วยเสวนา ‘ความมั่นคงทางอาหารภายใต้ปรากฏการณ์เอลนีโญ และโอกาสการค้าตลาดคาร์บอนเครดิตในการผลิตพืชของไทย’ โดยนายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีต รมว.และปลัดกระทรวงเกษตรฯ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ซีอีโอ บมจ.เวฟ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผอ.องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย นักวิชาการอิสระ

อาทิตย์ 20 มีเสวนา 2 รายการคือ ‘ทิศทางการนำเข้าปุ๋ย เคมีเกษตร และปัจจัยผลิตทางการเกษตรไทย’ และ ‘การส่งออกผักผลไม้ไทยแสนล้านสู่ตลาดโลก : เงื่อนไข กฎระเบียบ และแนวโน้มการส่งออก’ ท่านใดสนใจเชิญครับ

ปัจจุบันมีผู้คนสนใจการปลูกป่าและทำสวนเพื่อคาร์บอนเครดิต คนที่จะขายคาร์บอนเครดิตต้องมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ยืนต้นตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไป (รวมพื้นที่หลายโครงการได้) มีเอกสารสิทธิหรือได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีความรู้ในการพัฒนาโครงการการประเมินการกักเก็บคาร์บอนและจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ มีค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ประเมินภายนอกมาตรวจสอบความใช้ได้และข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของโครงการ การวัดปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ การนับจำนวนต้นไม้ การวัดขนาดต้นไม้ และการใช้เทคโนโลยีสำรวจระยะไกล Remote Sensing

...

ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 21 ของโลกใน ค.ศ.2019 มีปริมาณเท่ากับ 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าและคาดว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเท่ากับ 368 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายใน ค.ศ.2025 เพื่อให้ประเทศไทยถึงเป้าหมาย 1.ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ.2050 และ 2.การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นศูนย์ภายใน ค.ศ.2065
ตามที่เราเคยประกาศไว้

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต้องเร่งแปลงเป้าหมายที่ประกาศไว้ให้เป็นรูปธรรม เช่น ปรับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20-25 ไปเป็นร้อยละ 30-40 จากระดับปกติภายใน ค.ศ.2030

เรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี่สำคัญต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ในอนาคตผู้บริโภคโลกจะซื้อสินค้าและบริการของเรา ไม่ได้ซื้อเพราะเพียงแค่คุณภาพของสินค้าและบริการเท่านั้น แต่จะนำเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาพิจารณาด้วย ประเทศจะมั่งคั่งหรือยากจนอยู่ที่ความเข้าใจของผู้คนในเรื่องการปรับให้เป็นไปตามความต้องการตามที่ผู้บริโภคโลกต้องการ ถ้าเราปฏิบัติตามข้อกำหนดไม่ได้ สินค้า ของเราก็ขายไม่ออก

ถามว่าตอนนี้ภาคธุรกิจไทยตระหนักเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหน ขอตอบว่ายังไม่ตระหนักมาก แม้ว่าไทย จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงแค่ร้อยละ 1 ของปริมาณก๊าซฯ ที่ถูกปล่อยทั้งโลก แต่ตัวเลข Emissions หรือตัวเลขการปล่อยมลพิษในไทยกลับเพิ่มสูงขึ้นจาก ค.ศ.2000 มากถึงร้อยละ 53

ต่างประเทศมีการขายคาร์บอนเครดิตกันอย่างคึกคัก แต่ราคาคาร์บอนเครดิตไทยอยู่ในระดับต่ำ ถ้าเราพัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตไทยเทียบสากล รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและคาร์บอนแทร็กกิงก็จะเป็นประโยชน์ต่อตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ

เกษตรกรไทยปลูกไม้เกษตรเป็นจำนวนมาก หากเราช่วยกัน วางแผนอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมให้เกษตรกรไทยมีความรู้ความเข้าใจในคาร์บอนเครดิต เราสามารถปรับเมืองไทยให้เป็นประเทศ ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และขายคาร์บอนเครดิต พร้อมกับขายผลไม้ การปลูกต้นไม้โดยมีเป้าหมายทั้ง 2-3 อย่างที่กล่าวไปแล้วจะทำให้แผ่นดินไทยเขียวชอุ่มทั้งประเทศ

นี่คือการยิงปืนนัดเดียว นกตกลงมาทั้งฝูง.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ "เปิดฟ้าส่องโลก" เพิ่มเติม