อุตสาหกรรมกุ้งบ้านเราเคยเป็นอุตสาหกรรมอันดับหนึ่ง ทำรายได้เข้าประเทศปีละเกือบแสนล้าน มีผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานกว่า 1 ล้านคน

แต่ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เกิดโรคระบาดในกุ้ง อุตสาหกรรมกุ้งไทยสูญเสียโอกาส-รายได้ จากการส่งออกไปแล้วถึง 500,000 ล้านบาท ซ้ำร้ายยังเจอวิกฤติโควิด-19 และวัตถุดิบอาหารสัตว์แพงมาซ้ำเติม

คนในอุตสาหกรรมกุ้งระบบจึงร่วมกับกรมประมงตั้งเป้าผลิตกุ้งให้ได้ 300,000 ตัน ในปี 2565 และขยับเป็น 400,000 ตัน ในปี 2566 แต่ล่าสุดดูเหมือนจะไม่เป็นไปตามเป้า

เมื่อสมาคมกุ้งไทยนำทีมคณะกรรมการ บริหาร สมาคม และชมรมต่างๆในอุตสาห กรรมกุ้งออกมายอมรับ ผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี 2565 โดยรวมอยู่ที่ 280,000 ตัน เท่ากับปีที่แล้ว เนื่องจากยังคงเผชิญปัญหาเรื่องโรค และสภาพอากาศไม่อำนวย

ในจำนวน 280,000 ตันนี้ เป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนบน 32% ภาคตะวันออก 25% ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามัน 21% ภาคกลาง 12% ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย 10%

ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11% ประเทศในกลุ่มอเมริกากลาง-อเมริกาใต้ผลิตกุ้งได้เพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับปีที่แล้วและปีที่ผ่านๆมา โดยเฉพาะเอกวาดอร์

ขณะที่ประเทศเอเชีย เวียดนาม ผลผลิตกุ้งลดลง ส่วนอินเดียเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น ขณะที่จีนผลิตกุ้งได้เพิ่มขึ้น หลังมีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมากขึ้น

สำหรับการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค.-ต.ค.ปีนี้ ปริมาณ 122,208 ตัน มูลค่า 42,812 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่ส่งออกปริมาณ 128,758 ตัน มูลค่า 39,251 ล้านบาท ปริมาณลดลง 5% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 9% ส่วนปี 2566 สมาคมกุ้งไทยคาดการณ์ว่า ไทยจะผลิตกุ้งได้ 300,000 ตัน เพิ่มขึ้น 7%

...

ในโอกาสการเลือกตั้งใกล้จะมาถึง สมาคมกุ้งไทยจึงเสนอไปยังพรรคการเมืองทุกพรรค ให้กำหนดเรื่องการแก้ปัญหากุ้งเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโรคกุ้ง การพลิกฟื้น พัฒนาสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมกุ้งไทย.

สะ-เล-เต