กระทรวงเกษตรฯ จัดทำโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) พร้อมยกตัวอย่าง "ลุงวาริน" ต่อยอดผลผลิตข้าวเป็นระบบ จนสามารถยกระดับชีวิต
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 65 โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) เป็นหนึ่งในนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเกิดความยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรม "ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี กรมการข้าว" จึงได้ดำเนินการพัฒนาต่อยอดอาชีพการทำนาช่วยเหลือเกษตรกร ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่น "คุณลุงวาริน" เกษตรกรปราดเปรื่อง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการรวบรวม วางแผน ผลผลิต อย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตตนเอง
นายวารินทร์ สังข์ปล้อง เกษตรกรปราดเปรื่อง ผู้ผลิตข้าว ต.เลม็ด อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เดิมเริ่มสานต่ออาชีพทำนาจากทางบ้าน เมื่อปี 2520 บนพื้นที่ 20 ไร่ ซึ่งปลูกพันธุ์ข้าวหอมไชยาเป็นหลัก แล้วขยายมาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี และข้าวหอมมะลิ 105 ตามลำดับ เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2554 เนื่องจากมองเห็นว่า ข้าวไรซ์เบอร์รีเป็นที่ต้องการของตลาด และผู้บริโภค ที่เริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น จึงศึกษาหาข้อมูลการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี ตลอดจนลงมือปลูกอย่างใส่ใจ จนสามารถสร้างแบรนด์สินค้าข้าวบรรจุถุง "ตราลุงริน" ให้กับตนเองได้
กว่า 20 ปี จากอดีตการทำนาที่ผ่านมาเคยประสบปัญหากับสภาวะข้าวราคาตกต่ำ จากการผลิตข้าว จำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งไม่สามารถกำหนดราคาขาย ได้กำไรน้อย จึงตัดสินใจวางแผนผลิตข้าวเพื่อจำหน่ายด้วยตนเอง จึงส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้น ต่างจากการจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง จึงทำมาเรื่อยๆ นานกว่า 6 ปี เป็นปราชญ์ตัวอย่างในการปฏิบัติให้กับกลุ่มพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านได้เห็นผลสำเร็จจากการพึ่งพาตนเองได้ จึงเกิดการรวมกลุ่มสมาชิกเกษตรกรผู้ผลิตข้าวจำนวนกว่า 20 ราย มาร่วมผลิตข้าวให้กับตน
...
โดยตนมีหน้าที่นำเมล็ดพันธุ์ข้าว แต่ละสายพันธุ์แจกจ่ายให้กับสมาชิก เพื่อทำการปลูก เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวกข 43 ข้าวหอมมะลิฯ และระบบภายในกลุ่ม ได้มีข้อตกลงการจำหน่ายที่เป็นธรรม ให้กับสมาชิกภายในกลุ่มผู้ผลิต โดยนำมาจำหน่ายให้กับตน สามารถกำหนดราคาซื้อเท่าไรก็ได้ เพื่อนำผลผลิตของกลุ่ม สู่การแปรรูปข้าวสารจำหน่ายต่อไป ซึ่งข้าวทุ่งไชยาปลูกได้เพียง ปีละ 2 ครั้ง ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. และเก็บเกี่ยว ช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. หลังจากนั้น พักนาทิ้งไว้ ระยะ 3 เดือน เพื่อป้องกันโรคแมลงต่างๆ และเริ่มทำต่อ ในช่วงเดือนพ.ย. - เม.ย. ต้องมีการวางแผนในช่วงการเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกัน แยกแยะตามสายพันธุ์ เพื่อให้ได้รับผลผลิตที่เท่าเทียมกัน อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานีเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
ด้าน นายสันติภาพ ทองอุ่น หัวหน้ากลุ่มถ่ายทอดวิทยาการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ลุงวาริน ได้ผลิตข้าว และเสริมสร้างพัฒนาผลผลิตข้าว ต่อยอดด้านการตลาดอย่างดีเยี่ยม ซึ่งในอดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการพัฒนามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ใช้สื่อออนไลน์ ใช้นวัตกรรม มาช่วยขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการผลิตข้าวของตนเอง ให้ออกไปสู่ตลาดอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันชีวิตของลุงรินและสมาชิก มีความกินดี อยู่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้.