ท่ามกลางควันไฟสงครามรัสเซีย-ยูเครน...22 เมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอินโดนีเซียประกาศห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ และน้ำมันปาล์มที่กลั่นเป็นน้ำมันพืช

ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกไต่ขึ้นจาก กก.ละ 50 บาท เป็น 56 บาทในเวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียว และน้ำมันปาล์มขวดฉวยโอกาสขึ้นราคากันอย่างสนุกสนาน ตามห้างติดป้ายห้ามซื้อเกินครอบครัวละ 6 ขวดเหมือนว่าจะไม่มีน้ำมันปาล์มมาวางขาย บ้างก็ว่าราคาจะพุ่งไปมากกว่านี้ จนแม่ค้าพ่อขายปาดเหงื่อกันเป็นแถว

ส่วนชาวสวนปาล์มนั้นแฮปปี้เพราะทำเอาราคาปาล์มทะลายขยับขึ้นจาก กก.ละ 11 บาท ไปแตะแถว 12 บาท

แต่สถานการณ์นี้จะคงอยู่ไปนานเท่าใด ต้องถามกูรูด้านการจัดการปาล์มน้ำมัน

“ต้องมองก่อนว่าทำไมประธานาธิบดีอินโดนีเซียถึงต้องประกาศเช่นนั้น อ้างว่าคนอินโดฯกินน้ำมันพืชแพงเกินไปจากผลพวงของสงครามรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้น้ำมันทานตะวันขาดแคลนในยุโรปและอินเดีย จนต้องหันมาซื้อน้ำมันปาล์มไปรับประทานมากขึ้น อินโดฯส่งออกมากเกิน ราคาน้ำมันพืชในอินโดฯ ก็พุ่งขึ้น จึงห้ามส่งออก เก็บไว้ให้คนในประเทศบริโภคในราคาที่ถูก

...

แต่เหตุผลที่แท้จริงนั้นเป็นเรื่องทางการเมือง เนื่องจากก่อนหน้านั้นเกิดการจลาจล ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงที่หน้ารัฐสภา จากปัญหาข้าวยากหมากแพง ค่าเงินตกและภาวะเงินเฟ้อที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ อย่าลืมว่าอินโดนีเซียมีประชากร 270 ล้านคน แต่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวแค่ 70% ของคนไทย ดังนั้น คนอินโดฯจึงเดือดร้อนกว่าเรามาก จนมีการประท้วงและเกิดการจลาจล การตัดสินใจจึงมาจากแรงจูงใจทางการเมืองและการหาเสียง”

ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ค่อยๆ วิเคราะห์สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และบอกเตือนคนไทยอย่าตื่นตระหนกจนเกินไป และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแย่งซื้อหรือกักตุนน้ำมันปาล์มเลย พร้อมกับให้ข้อมูลชวนให้คิด

อินโดฯผลิตน้ำมันปาล์มได้เฉลี่ยเดือนละ 3.8 ล้านตัน ในขณะที่ไทยผลิตได้ปีละ 3 ล้านตัน และคนอินโดฯ บริโภคน้ำมันปาล์มและใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆเดือนละ 1.5 ล้านตัน

ดังนั้น เมื่อห้ามส่งออกผลผลิตส่วนเกินก็จะเกิดขึ้นทันทีเฉลี่ยเดือนละ 2.3 ล้านตัน แต่เนื่อง จากช่วงนี้ผลผลิตของอินโดฯยังออกมาไม่เต็มที่ จึงน่าจะมีผลผลิตส่วนเกินประมาณเดือนละ 1.5 ล้านตัน และอินโดฯมีแท็งก์เก็บน้ำมันปาล์มไว้ได้ไม่นานนัก เพราะหากเก็บไว้นานจะเกิดการเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็ว ค่าความเป็นกรดจะเพิ่มขึ้นจนคุณภาพต่ำกว่าตามมาตรฐานส่งออกและจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของตนเอง

“การห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มจะทำให้อินโดนีเซียสูญเสียรายได้มูลค่าแสนล้านบาทต่อเดือน นั่นจะยิ่งทำให้เกิดการขาดดุลการค้า และค่าเงินยิ่งอ่อนลงไปอีก ส่งผลให้ข้าวยากหมากแพงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจการเงินก็จะไม่หมุนเวียน ขาดสภาพคล่องไปอย่างน้อยเดือนละนับแสนล้านบาท เมื่อส่งออกไม่ได้ และเก็บไว้จนสต๊อกเต็ม โรงงานปาล์มจะไม่สามารถซื้อปาล์มทะลายจากชาวสวนได้ ราคาปาล์มจะตก ชาวสวนหลายสิบล้านคนจะเดือดร้อน และออกมาประท้วงรัฐบาล เพราะอย่าลืมว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของเกษตรกรในอินโดนีเซีย”

ดร.บุรินทร์จึงฟันธงได้เลยว่า อินโดฯคงจะอั้นการส่งออกได้ไม่เกิน 1 เดือน และพลันที่อั้นไม่อยู่ จะเกิดการระบายสต๊อกออกมาอย่างมากมายหลายล้านตัน ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกจะร่วงลงอย่างรวดเร็ว ถึงเวลานั้นไม่ว่าจะมาเลเซียและไทยต่างได้รับผลกระทบทันที

นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่กำลังจะคืบคลานเข้ามาในไม่ช้าไม่นาน และจะตรงกับช่วงที่ประเทศไทยเรามีผลผลิตปาล์มน้ำมันออกมาในระดับที่สูงสุดในรอบปีด้วย

...

นี่คือเหตุผลที่กูรูด้านการจัดการปาล์มน้ำมันถึงได้บอกว่าไม่ต้องกักตุนและไม่ต้องกลัวไม่มีน้ำมันปาล์มใช้

แต่ที่น่าห่วงคือ ช่วงนี้เราต้องหาทางระบายสต๊อกรับผลผลิตที่ออกมามากขึ้นอยู่ แต่การส่งออกไปชนกับอินโดฯไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ถ้าจะส่งออก ต้องรีบส่งออกให้ได้มากในช่วงนี้ ไม่งั้นเตรียมรับมือผลปาล์มราคาร่วงไว้ให้ดีและชาวสวนก็ต้องทำใจ

ยกเว้นจะมีตัวช่วย อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน หากการรบหนักหน่วงและยังยืดเยื้อ จะเป็นตัวช่วยให้น้ำมันปาล์มยังมีความต้องการสูง บรรเทาผลกระทบจากอินโดฯระบายสต๊อกได้บ้าง...แต่หากสงครามเบาบางลง ไม่ยืดเยื้อก็คงไม่มีตัวช่วย และวิกฤติราคาปาล์มตกต่ำจะมาเยือน เหมือนพายุมาหลังฟ้าสวยนั่นเอง.

ชาติชาย ศิริพัฒน์