• ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มดิจิทัลส่วนใหญ่ ฉกฉวย ‘ช่องว่าง’ ของกฎหมายภาษีฉบับโบราณ ที่จะจัดเก็บภาษีเข้าคลังก็ต่อเมื่อมีการก่อตั้งนิติบุคคลในประเทศเท่านั้น รายได้จากประเทศปลายทางจึงไหลสู่กระเป๋าแพลตฟอร์มออนไลน์โดยไม่ต้องเสียภาษีให้กับประเทศที่เป็นแหล่งรายได้
  • ประเทศไทยเป็นหนึ่งในอีกหลายประเทศ ที่จะเริ่มเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติ หรือที่เรียกว่า 'ภาษี อี-เซอร์วิส' ซึ่งจัดเก็บในลักษณะเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • เป็นไปได้อย่างมากว่า บริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลจะผลักภาระภาษีมายังผู้บริโภค แต่ในระยะยาว การเก็บภาษีดังกล่าว น่าจะช่วยสร้างความเป็นธรรมด้านภาษี ระหว่างบริษัทเทคโนโลยีในไทยและบริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดให้มาสู้อยู่บนสนามเดียวกัน

หากเมื่อ 20 ปีก่อน ผมคงถูกกล่าวหาว่าเสียสติ หากประกาศว่าจะก่อตั้งบริษัทในประเทศไทย แต่จะให้บริการประชาชนทั่วโลกผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต สร้างรายได้ผ่านการขายโฆษณา โดยมีเงินไหลมาเทมาจากทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ทวีปแอฟริกา รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่ปัจจุบัน บริษัทรูปแบบดังกล่าว กลายเป็นรูปแบบที่ใครๆ ก็รู้จัก ส่วนใหญ่ถือกำเนิดในซิลิคอลวัลเลย์ สหรัฐอเมริกา

โมเดลธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล เกิดและเติบโตจากหลากหลายปัจจัย ทั้งอินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้นและราคาถูกลง เช่นเดียวกับโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้นทุนธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศที่ต่ำลง รวมถึงการถือกำเนิดของสมาร์ทโฟน ธุรกิจหลายแห่งที่ปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงต่างก็ล้มหายตายจาก เราอาจเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากเทคโนโลยีดิจิทัล (digital disruption)

กระทั่งภาคเอกชนยังปรับตัวไม่ทัน ก็คงไม่ต้องพูดถึงภาครัฐ ที่การเปลี่ยนแปลงมักจะเชื่องช้าเป็นเต่าคลาน เหล่าแพลตฟอร์มดิจิทัลฉกฉวย ‘ช่องว่าง’ จากกฎหมายภาษีฉบับโบร่ำโบราณที่จะจัดเก็บภาษีเข้าคลังก็ต่อเมื่อมีการก่อตั้งนิติบุคคลในประเทศเท่านั้น รายได้จึงไหลเป็นเทน้ำเทท่าเข้าสู่เหล่าแพลตฟอร์มออนไลน์โดยไม่ต้องเสียภาษีสักแดงให้กับประเทศที่เป็นแหล่งรายได้ โดยไหลเข้าสู่บริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศสวนสวรรค์ของเหล่าผู้ที่ต้องการหลบเลี่ยงภาษี (tax haven)

หากใครใช้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ลองสังเกตที่ใบเสร็จรับเงิน จะพบว่าเรากำลังจ่ายให้กับบริษัทที่ตั้งอยู่ ณ ประเทศชื่อไม่คุ้นหู ซึ่งมักไม่ใช่สำนักงานใหญ่ นั่นหมายความว่า รัฐบาลที่ยังคงใช้กฎหมายภาษีฉบับไม่อัปเดต เช่น ประเทศไทยก่อนมีภาษีอี-เซอร์วิส ก็ได้แต่มองเงินจากกระเป๋าคนในชาติลอยออกไป โดยไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างที่ควรจะเป็น

กลุ่มประเทศที่แสดงความไม่พอใจต่อโครงสร้างที่บิดเบี้ยวดังกล่าวคือสหภาพยุโรป นำโดยฝรั่งเศสซึ่งต้องการจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มดิจิทัล จนกลายเป็นการปะทะกับพันธมิตรซึ่งเป็น ‘เจ้าบ้าน’ ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ถึงขั้นที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ขู่ว่า พร้อมจะใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้ นำไปสู่การไกล่เกลี่ยในห้องประชุมระดับพหุภาคีหลายครั้ง ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2562 แต่ก็ยังไร้ข้อสรุป

คำถามสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องการคำตอบคือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลเกิดขึ้นที่ใด การเก็บภาษีควรเก็บที่ไหน และใครควรได้รับเงินภาษีเหล่านั้น

...

ภาษีดิจิทัลที่มาพร้อมกับโรคระบาด

ขณะที่ยังไม่ได้ผลสรุปจากการประชุม ก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน นั่นคือการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้สหรัฐอเมริกาของเลื่อนการประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนด

แต่การระบาดของโควิด-19 กลับกลายเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้หลายประเทศตัดสินใจเดินหน้าจัดเก็บภาษีดิจิทัลโดยไม่รอผลการประชุม เพราะรายได้ภาครัฐหดหายจากเศรษฐกิจชะลอตัว การระบาดทำให้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลไหลบ่าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงความต้องการเงินอย่างเร่งด่วนของทุกรัฐบาล เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจที่เจ็บหนักจากโควิด-19

ฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศที่จุดประเด็นดังกล่าว ก็เริ่มส่งใบเรียกเก็บภาษีบริการดิจิทัลจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ในอัตรา 3 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทุกยูโรที่จ่ายจากกระเป๋าสตางค์ชาวฝรั่งเศส เช่นเดียวกับ อังกฤษ อิตาลี ออสเตรีย และอีกหลายประเทศในสหภาพยุโรป ที่เรียกเก็บภาษีในลักษณะเดียวกัน

เมื่อสหภาพยุโรปกล้ากระตุกหนวดเสือ ประเทศอื่นๆ ก็เดินหน้าตาม ทั้งญี่ปุ่น บราซิล อินเดีย รวมถึงเหล่าประเทศอาเซียนทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ต่างก็บังคับใช้กฎหมายภาษีดิจิทัลของตนเอง โดยมีเงื่อนไขและอัตราภาษีที่แตกต่างกันไป

ส่วนประเทศไทยก็ประกาศเริ่มจัดเก็บภาษีจากบริการออนไลน์ หรือภาษีอี-เซอร์วิสภายในปี 2564 นี้ โดยใช้เงื่อนไขเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คือ ธุรกิจดิจิทัลที่มีรายได้ในประเทศไทยเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7 เปอร์เซ็นต์

นี่คือก้าวใหม่ของแวดวงภาษีที่มีสัญญาณชัดเจนว่า ในอนาคต ผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษี อาจเปลี่ยนจากการอิง ‘กายภาพ’ คือ ต้องมีหลักแหล่งตัวตนหรือสถานประกอบการอยู่ในประเทศที่สร้างรายได้ สู่การอิงตาม ‘บทบาททางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญ’ (Significant Economic Presence) ที่แม้ตอนนี้จะยังไม่มีนิยามของคำดังกล่าวที่เป็นสากล แต่เมื่อหลายประเทศเดินหน้าจัดเก็บภาษีดิจิทัล เราก็คงได้เห็นผู้เสียผลประโยชน์หลักอย่างสหรัฐอเมริกาขยับตัวเป็นเจ้าภาพกลับมานั่งประชุมต่อเพื่อหาข้อยุติที่ทุกฝ่ายพอใจ

ใครได้-ใครเสียจากภาษี อี-เซอร์วิส

แน่นอนครับว่า ผู้ได้ประโยชน์จากภาษี อี-เซอร์วิส ย่อมเป็นรัฐบาลที่คาดว่าจะเก็บภาษีได้มากขึ้นถึง 3,000 ล้านบาท แต่เงินภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์นั้นมาจากไหน จะมาจากกระเป๋าของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หรือเปล่า เรื่องนี้เราอาจต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อน

ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีทางอ้อมที่ผู้ให้บริการสามารถผลักภาระภาษีให้ผู้บริโภคได้อย่างสบายๆ เช่นจากเดิมเปิดให้สมัครสมาชิกในราคาเดือนละ 100 บาท เมื่อรัฐบาลไทยต้องการเก็บภาษี 7 เปอร์เซ็นต์ บริษัทก็สามารถเพิ่มราคาสมาชิกเพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น ส่วนจะเพิ่มมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความอ่อนไหวต่อราคาของผู้บริโภค การแข่งขันในตลาด และทางเลือกของสินค้าทดแทน

เชื่อว่าหลายคนคงเดาได้ว่า บริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหลายย่อมผลักภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ไปยังผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการบังคับเก็บภาษีดิจิทัลของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เหตุผลก็ตรงไปตรงมา เพราะยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิล กูเกิล แอมะซอน และเน็ตฟลิกซ์ แทบจะไร้คู่แข่งที่พอฟัดพอเหวี่ยงในตลาด และหากมองหาบริการทางเลือกของเจ้าอื่นที่เทียบเท่าก็ไม่มี สุดท้าย เงินภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้เพิ่ม ก็มาจากกระเป๋าสตางค์ประชาชน ไม่ใช่เหล่าบริษัทข้ามชาติอย่างที่หลายคนเข้าใจ
แม้ว่าผู้บริโภคดูจะเสียผลประโยชน์จากภาษี อี-เซอร์วิส ในระยะสั้น แต่ในระยะยาว การเก็บภาษีดังกล่าวช่วยสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน (level playing field) ในด้านภาษีระหว่างบริษัทเทคโนโลยีในไทยและบริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดให้มาสู้อยู่บนสนามเดียวกัน อย่างไรก็ดี เราก็ไม่ควรคาดหวังเกินไปว่าการลดช่องว่าง 7 เปอร์เซ็นต์นี้จะทำให้บริษัทไทยแข่งขันได้แบบพอฟัดพอเหวี่ยง เพราะบริษัทต่างชาติยังถือการ์ดความได้เปรียบบนมืออีกหลายใบ

แน่นอนว่าภาษี อี-เซอร์วิส เป็นสิ่งที่รัฐควรเดินหน้าเพื่อไม่ให้น้อยหน้ารัฐบาลอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ต่างเริ่มจัดเก็บภาษีนี้แล้ว แต่ขณะเดียวกัน รัฐก็ไม่ควรภาคภูมิใจกับเม็ดเงินภาษีที่เก็บได้เพราะทุกบาททุกสตางค์ก็ยังมาจากคนไทย หน้าที่ของรัฐคือการตีโจทย์ว่า ในอนาคต รัฐบาลจะออกแบบการจัดเก็บภาษีบริการดิจิทัลในลักษณะนี้อย่างไรให้สมน้ำสมเนื้อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามจากเวทีเจรจาระดับโลกอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฯ เพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศหรือแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติผ่านการลงมติเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา โดยคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ภายในปี พ.ศ. 2564

ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ต้องเตรียมเงินในกระเป๋าไว้ให้ดี เพราะถ้ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้เมื่อไร ก็ค่อนข้างแน่นอนว่า จะต้องเสียค่าใช้จ่ายบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์

...