วันผู้ลี้ภัยโลก ตรงกับวันที่ 20 มิถุนายนของทุกปี กำหนดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2001 เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี อนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย 1951 กฎหมายที่กำหนดการทำงานขั้นพื้นฐานของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) ลงนามและให้สัตยาบันโดย 146 รัฐภาคี

อ้างอิงจากอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยปี 1951 คำนิยามโดยสรุปของผู้ลี้ภัยคือ

‘ผู้อยู่นอกอาณาเขตรัฐแห่งสัญชาติของตน และด้วยความหวาดกลัวซึ่งมีมูลอันจะกล่าวอ้างได้ว่าจะได้รับการประหัตประหารด้วยเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ว่าทางสังคมหรือทางด้านความคิดทางการเมืองก็ตาม และด้วยเหตุแห่งความกลัวนั้นจึงไม่สมัครใจที่จะขอความคุ้มครองจากรัฐแห่งสัญชาติดังกล่าว หรือผู้ใดที่เป็นบุคคลไร้สัญชาติที่อยู่นอกอาณาเขตรัฐที่เดิมมีถิ่นฐานพำนักประจำ แต่ไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะเดินทางกลับไปด้วยเหตุแห่งความหลาดกลัวที่กล่าวมาข้างต้น’

และอนุสัญญายังกำหนดสถานะผู้ลี้ภัยและรัฐภาคีว่า

‘รัฐภาคีผู้ทำสัญญาจะไม่ขับไล่หรือส่งกลับ (ผลักดัน) ผู้ลี้ภัยไม่ว่าจะโดยลักษณะใดๆ ไปยังชายเขตแห่งดินแดน ซึ่ง ณ ที่นั้นชีวิตหรืออิสรภาพของผู้ลี้ภัยอาจได้รับการคุกคามด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าทางสังคมหรือความคิดด้านการเมือง’

ตรงตามความหมาย ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ ‘หนีภัย’ ออกมา การกลับเข้าไปอาจหมายถึงการสูญเสียชีวิต ถูกฆ่า มีความตายเป็นปลายทาง จึงไม่สามารถกลับไปยังประเทศบ้านเกิดได้


สถิติผู้ลี้ภัย

จากรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) เมื่อปลายปี 2020 เปิดเผยว่า จำนวนผู้คนที่ต้องหนีและถูกบังคับผลักไสออกจากบ้านของตน ทั้งจากการไล่ล่า หนีความรุนแรง การละเมิดสิทธิ์ มีมากถึง 82.4 ล้าน ซึ่งถือว่าสูงมากในรอบทศวรรษหลังสุด

...

68 เปอร์เซ็นต์ของผู้ลี้ภัยทั่วโลกมีที่มาจาก 5 ประเทศ

  • ซีเรีย 6.7 ล้าน
  • เวเนซุเอลา 4 ล้าน
  • อัฟกานิสถาน 2.6 ล้าน
  • ซูดานใต้ 2.2 ล้าน
  • เมียนมา 1.1 ล้าน

ผู้ลี้ภัย 35 ล้านคน หรือประมาณ 42 เปอร์เซ็นต์ของผู้ลี้ภัยทั้งหมดในโลกมีอายุต่ำกว่า 18 ปี และค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2018-2020 ของเด็กที่เกิดมาระหว่างการลี้ภัยคือราว 290,000-340,000 ต่อปี

ผู้ลี้ภัยเพียง 285,400 คนเท่านั้นที่มีโอกาสได้เดินทางกลับบ้านเกิดในปี 2020 ขณะที่ 4.2 ล้านคนต้องอยู่กับสถานะคนไร้รัฐ กระจัดกระจายไปใน 94 ประเทศ

ในความเป็นจริง เหตุของการลี้ภัย หนีตาย มีหลากหลาย เช่น หนีสงคราม หนีความอดอยาก หนีการไล่ล่าจากความเห็นทางการเมือง และการถูกกล่าวหาตีตราว่าเป็นภัยต่อมาตุภูมิ

การลี้ภัย คือ การออกจากประเทศหนึ่งไปสู่ดินแดนใหม่ ทั้งถูกขึ้นทะเบียนถูกต้อง และเป็นผู้ขอลี้ภัย (asylum seeker) ยังไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ การเคลื่อนย้ายถิ่นของผู้คนจำนวนมากเพื่อหนีอันตรายระดับประเทศย่อมส่งผลต่อปลายทางรองรับการกระสานซ่านเซ็นของชีวิตนับล้าน ไม่ว่าจะเป็นรัฐภาคีที่ขอลี้ภัย หรือประเทศที่สาม เพื่อตั้งรกรากใหม่

ขณะที่อีกหลายกรณีลี้ภัยเป็นเรื่องของบุคคล ทว่ามีเหตุผลรองรับสะเทือนสังคม ทั้งเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ท้าทายรัฐมหาอำนาจ กบฏของมาตภูมิ และถูกขับไล่และไล่ล่า เพราะเป็นปฏิปักษ์ด้านแนวคิดทางการเมือง

นี่คือตัวอย่างการลี้ภัยบางส่วนที่มีเรื่องราวและประเด็นน่าสนใจมากกว่าแค่การหนีเพื่อเอาชีวิตรอด-หนีออกจากแผ่นดินที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านของตัวเอง

โรมัน โปรตาเซวิช: นักข่าวเบลารุส ลี้ภัยและถูกไฮแจ็คโดยรัฐบาลเผด็จการ

รัฐบาลเบลารุสกลายเป็นที่โจษจันไปทั่วโลก จากกรณีการจับกุม โรมัน โปรตาเซวิช (Roman Protasevich) นักข่าววัย 26 ปี ที่ลี้ภัยไปตั้งสำนักข่าวที่ประเทศโปแลนด์ ระหว่างที่เขาโดยสารเครื่องบินไปยังประเทศกรีซ เที่ยวบิน FR4978 ของสายการบิน Ryanair และเข้าสู่น่านฟ้าเบลารุส มีเครื่องบินรบสองลำแล่นประกบ ประกาศให้เครื่องบินพาณิชย์ดังกล่าวทราบว่าต้องลงจอดฉุกเฉิน เพราะมีระเบิดอยู่บนเครื่องบิน

ทันทีที่ล้อแตะสนามบินในเบลารุส เจ้าหน้าที่จำนวนมากต้อนผู้โดยสารลงจากเครื่องบิน และเข้าจับกุมตัว โรมัน โปรตาเซวิช รวมถึง โซเฟีย ซาเพกา (Sofia Sapega) แฟนสาววัย 23 ปี ส่วนระเบิดที่ว่าก็ไม่มีอยู่ตั้งแต่แรก แต่เป็นเพียงอุบายบังคับให้เครื่องบินลงจอดในเบลารุส นับเป็นการชิงตัวกลางอากาศแบบที่ไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนเคยสั่งการเปิดเผยแบบนี้มาก่อน

ผู้สั่งการชิงตัวผู้ลี้ภัยครั้งนี้คือ ประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก (Alexander Lukashenko) ผู้นำเบลารุสที่อยู่ในตำแหน่งมานานกว่า 27 ปี และมีฉายาว่า ‘เผด็จการคนสุดท้ายแห่งยุโรป’

เหตุผลที่เกิดการจับกุมโปรตาเซวิชกลางอากาศ เกิดจากการทำข่าวเปิดโปงการทุจริตและใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาลลูคาเชนโก นำเสนอข่าวที่มีท่าทีต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง รวมถึงเขียนบทความเรื่องการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 ที่เต็มไปด้วยข้อกังขาของประธานาธิบดีรายนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองร้อนระอุจากการลงถนนประท้วงของประชาชน

โรมัน โปรตาเซวิช เป็นที่ต้องการของรัฐบาลมาโดยตลอด และมีชื่ออยู่ในบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายของเบลารุส ทว่าเขาหนีรอดเพราะขอลี้ภัยไปอยู่โปแลนด์ตั้งแต่ปี 2019 และแวะเวียนไปพักอยู่ที่ลิทัวเนียเพื่อติดต่อกับชาวเบลารุสในประเทศ โปรตาเซวิชยังคงทำข่าวโจมตีรัฐบาลของลูคาเชนโกเสมอ กระทั่งถูกจับกุมขณะอยู่บนเครื่องบินเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2021

การเคลื่อนไหวที่น่าอับอายของรัฐบาลเบลารุส ส่งผลให้หลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ประกาศสนับสนุนผู้ประท้วงในเบลารุส และคว่ำบาตรเพราะละเมิดข้อตกลงทางการบินระหว่างประเทศ แต่ตอนนี้ชะตากรรมของ โรมัน โปรตาเซวิช ยังคงอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง เขาอาจถูกข้อหาปลุกระดม ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงในสังคม ถูกนำตัวไปปรับทัศนคติ มีโทษไม่ต่ำกว่า 12 ปี

...

นาธาน หลอ: แกนนำผู้ชุมนุมฮ่องกง กับการตั้งถิ่นฐานครั้งใหม่ในอังกฤษ

การประท้วงของประชาชนชาวฮ่องกงจำนวนมาก ต่อรัฐบาลของตนเองที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีน ส่งผลให้เกิดการปะทะและจับกุมนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยจำนวนมาก ชื่อที่คุ้นหูคือ โจชัว หว่อง (Joshua Wong) แอกเนส โจว (Agnes Chow) และ นาธาน หลอ (Nathan Law) ที่เวลานี้หนึ่งคนได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ อีกหนึ่งคนยังคงถูกคุมขัง และอีกคนต้องลี้ภัยไปต่างแดน

ในบรรดานักเคลื่อนไหวทั้ง 3 คน นาธาน หลอ มีอายุมากที่สุด และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเดโมซิสโต (Demosisto Party) เขากับเพื่อนๆ เคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมหลายครั้งฐานสร้างความวุ่นวาย จัดการชุมนุมแบบผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นแกนนำประท้วงรัฐบาลที่สามารถยึดถนนสายหลักในฮ่องกงนาน 79 วัน เรียกกันว่า ‘การปฏิวัติร่ม’ (Umbrella Movement) เมื่อปี 2014

ปี 2016 นาธาน เข้าสู่โลกการเมืองแบบเต็มตัวด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย กลายเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ฮ่องกง ทว่าสมาชิกฝ่ายรัฐบาลจำนวนมากคัดค้านการดำรงตำแหน่งของเขา โดยเฉพาะจากการแสดงอารยะขัดขืนรัฐบาลจีน ด้วยการปีนรูปปั้นโกลเด้นโบฮิเนีย สแควร์ (Golden Bauhinia Square) ของขวัญที่จีนมอบให้ เพื่อแสดงความยินดีที่ทั้งสองดินแดนได้กลับมารวมกันเป็นหนึ่งอีกครั้ง เวลาเดียวกับที่ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง เดินทางมาเยือนฮ่องกง

สุดท้าย นาธาน หลอ จำต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกนิติบัญญัติในวันที่ 14 กรกฎาคม 2017 หลังจากนั้น รัฐบาลจีนเริ่มเข้มงวดกับฮ่องกงมากขึ้น และเตรียมใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่รุนแรง ท่าทีดังกล่าวส่งผลให้นักเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งเริ่มคิดถึงการลี้ภัย รวมถึง นาธาน หลอ ตัดสินใจออกจากฮ่องกงหนึ่งวันหลังแกนนำและสมาชิกพรรคเดโมซิสโตประกาศยุบพรรค

เวลานี้เขาต้องเดินทางออกจากบ้านเกิดไปทำเรื่องขอลี้ภัยอยู่อังกฤษ ยืนยันว่าการกลับฮ่องกงคือเรื่องที่อันตราย เต็มไปด้วยความอยุติธรรมที่ไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากรัฐบาลฮ่องกงละเมิดอธิปไตยของประชาชน

...

คาร์เลส ปุยจ์เดอมองต์: ผู้ประกาศเอกราชกาตาลุญญา กบฏของสเปน

แคว้นกาตาลุญญา อาจไม่ใช่เมืองที่คนไทยคุ้นเคยนัก แต่สำหรับชาวสเปน แคว้นดังกล่าวถือเป็นเมืองอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวที่สำคัญต่อประเทศ มีเมืองเอกคือบาร์เซโลนา เศรษฐกิจของกาตาลุญญาคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีประเทศ

ถึงอย่างนั้น เมืองยังต้องเผชิญปัญหาการว่างงานและความขัดแย้งต่อรัฐบาลกลาง เนื่องจากผู้คนในแคว้นกาตาลุญญามีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากชาวสเปนพื้นที่อื่น ชาวกาตาลันมีภาษาเป็นของตัวเอง มีสภาท้องถิ่นที่มีแนวคิดชาตินิยมเข้มข้น และต้องการแยกตัวออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของสเปน

คาร์เลส ปุยจ์เดอมองต์ (Carles Puigdemont) เป็นอดีตนักข่าวและบรรณาธิการที่ผันตัวมาเป็นนักการเมือง ในปี 2011 เขาได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเมืองคิโรน่า (Girona) และได้เป็นสมาชิกรัฐสภาแคว้นกาตาลุญญา จนกระทั่งปี 2016 จะได้รับเลือกเป็นผู้นำแคว้น เข้ารับการสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญและประมุขแห่งสเปน

สภาท้องถิ่นแคว้นกาตาลุญญา พยายามหลายครั้งที่จะทำประชามติเพื่อให้ประชาชนโหวตว่าต้องการอยู่กับสเปนต่อไป หรือต้องการแยกตัวออกมาเป็นเอกราช ท่ามกลางการคัดค้านของรัฐบาลสเปน

ผลประชามติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2017 กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ต้องการให้กาตาลุญญาเป็นเอกราชจากสเปน ด้านการประชุมสภาฯ พรรครัฐบาลมีมติเสียงข้างมาก 70 ต่อ 10 และงดออกเสียง 2 เสียง จากทั้งหมด 135 เสียง ส่งผลให้ คาร์เลส ปุยจ์เดอมองต์ ประกาศให้กาตาลุญญาเป็นเอกราช สถาปนาแคว้นเป็น สาธารณรัฐกาลาลุญญา ก่อนพยายามชี้แจงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การก่อรัฐประหาร โดยไม่สนใจคำสั่งของนายกรัฐมนตรีสเปน มาริอาโน ราฮอย (Mariano Rajoy) ที่สั่งยุบสภาแห่งชาติกาตาลุญญา และปลดปุยจ์เดอมองต์ออกจากผู้นำแคว้น

สหภาพยุโรป (EU) และ คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับเอกราชของแคว้นกาตาลุญญา ส่วนกระทรวงต่างประเทศจำนวนมากทั้ง สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ต่างยืนยันชัดเจนว่าไม่รองรับรัฐดังกล่าวด้วยประการทั้งปวง

รัฐบาลสเปนยื่นฟ้องศาลต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการประกาศเอกราชในข้อหากบฏ ยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกในสังคม ฝ่าฝืนอำนาจรัฐ ส่งผลให้ปุยจ์เดอมองต์ไม่สามารถลงเลือกตั้งได้อีกต่อไป เขากับเพื่อนร่วมอุดมการณ์บางส่วนทำเรื่องขอลี้ภัยและเดินทางไปยังประเทศเบลเยียม

ในปี 2018 มีรายงานว่า คาร์เลส ปุยจ์เดอมองต์ ถูกจับกุมตัวที่เยอรมนี และเตรียมส่งตัวข้ามแดนกลับมายังสเปน ชาวกาตาลันที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบเดียวกับปุยเดอมองต์ จึงรวมตัวออกมาชุมนุมประท้วงก่อนถูกสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง และมีผู้บาดเจ็บจากการปะทะจำนวนมาก

...

จูเลียน อัสซานจ์: เจ้าพ่อวิกิลีกส์ 7 ปีของการลี้ภัยในสถานทูต

จูเลียน อัสซานจ์ (Julian Assange) นักหนังสือพิมพ์ชาวออสเตรเลีย วัย 49 ปี ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ (WikiLeaks) ในปี 2006 เขามีชื่อเสียงก้องโลกจากการนำเอกสารลับของรัฐบาลและกองทัพสหรัฐฯ ออกมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ของตัวเองในปี 2010 หนึ่งในข้อมูลสำคัญคือคลิปวิดีโอทหารอเมริกันบนเฮลิคอปเตอร์กราดยิงพลเรือนอิรักเสียชีวิต 18 ราย

สหรัฐฯ ต้องการนำตัวอัสซานจ์มาดำเนินคดีใน 18 ข้อหา จากการเผยแพร่เอกสารลับด้านการทหารในอัฟกานิสถานและอิรักกว่า 500,000 แฟ้ม ทางเว็บไซต์วิกิลีกส์ หากอัสซานจ์ถูกตัดสินว่ามีความผิดในสหรัฐฯ อาจโดนลงโทษจำคุกสูงสุด 175 ปี

จูเลียน อัสซานจ์ ถูกควบคุมตัวในอังกฤษ เนื่องจากทางการสวีเดนออกหมายจับในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศในปี 2010 ก่อนจะขอลี้ภัยที่สถานทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอนนานถึง 7 ปี จนกระทั่งปี 2019 รัฐบาลเอกวาดอร์เพิกถอนสัญชาติของอัสซานจ์ โดยให้เหตุผลว่าเขาละเมิดข้อตกลงนานาชาติอยู่บ่อยครั้ง และถูกเจ้าหน้าที่อังกฤษควบคุมตัวอีกครั้ง

ล่าสุดในปี 2021 ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ แสดงความเป็นกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนและปัญหาด้านมนุษยธรรม กับการส่งตัวไปดำเนินคดีที่สหรัฐฯ ด้วยอัสซานจ์กำลังป่วยเรื้อรังจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งรับเชื้อจากผู้ต้องขังในเรือนจำทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน และมีพยานเผยว่า อัสซานจ์มีประวัติซึมเศร้าที่อาจเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายหากส่งตัวไปขังในเรือนจำที่สหรัฐฯ เช่นเดียวกับผู้พิพากษาศาลอาญากลางในกรุงลอนดอนที่มองว่าอาการของเขาแย่ลงจากเดิมมาก

เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน: ผู้เปิดโปงเครือข่ายสอดแนม ภัยความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา

ชื่อของ เอ็ดเวิร์ด โจเซฟ สโนว์เดน (Edward Joseph Snowden) อดีตนักวิเคราะห์ฝ่ายคอมพิวเตอร์ของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Security Agency: NSA) กลายเป็นที่พูดถึงทั่วโลกในช่วงปี 2013 กับการจารกรรมข้อมูลลับสุดยอดของสหรัฐฯ ออกมาให้ประชาชนได้เห็นว่ารัฐบาลได้แอบสอดส่องการเคลื่อนไหวของประชาชนมาพักใหญ่แล้ว

สโนว์เดนสร้างความตื่นตะลึงให้แก่โลก ด้วยการนำรายละเอียดโครงการสอดส่องอินเทอร์เน็ตพริซึม (Prism) และโครงการเมตาดาตา (Metadata) มาให้กับหนังสือพิมพ์ The Guardian กับ Washinton Post เพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชน โครงการทั้งสองจะเอื้อให้สำนักงานข่าวกรองกลาง (CIA) และสำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) จารกรรมข้อมูลส่วนตัวของอเมริกันชนผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อาทิ กูเกิล, ไมโครซอฟต์, ยาฮู, แอปเปิล, สไกป์ หรือ ยูทูบ ด้วยการเข้าถึงห้องแชต แฮกกล้องคอมพิวเตอร์ ดักฟังโทรศัพท์ของประชาชนมากกว่า 10 ล้านคน

เมื่อถูกแฉ รัฐบาลสหรัฐฯ ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่าเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่การสืบสวนในการจับกุมผู้ก่อการร้าย คลังข้อมูลจำนวนมหาศาลช่วยสกัดกั้นการเข้ามาของผู้ก่อการร้าย ทว่าประชาชนมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ละเมิดเสรีภาพและการแสดงความคิดเห็นอย่างร้ายแรง

การกระทำของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ถือว่าฝ่าฝืนความมั่นคงของรัฐ ฝ่าฝืนความมั่นคงของ NSA และทำให้เขากลายเป็นอาชญากรที่สหรัฐฯ ต้องการตัว

ก่อนจะเปิดโปงรัฐบาล สโนว์เดนได้หาลู่ทางหลบหนีล่วงหน้า แรกเริ่มเขาลาพักร้อนอยู่ในฮาวาย ก่อนจะขึ้นเครื่องบินไปฮ่องกงพร้อมสำเนาลับฉบับสุดท้าย ขณะเดียวกันทางการสหรัฐฯ ได้ยื่นคำขอให้ฮ่องกงส่งตัวสโนว์เดนกลับประเทศในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายของสโนว์เดนไม่ใช่ฮ่องกง แต่คือเอกวาดอร์ที่ให้สิทธิ์ผู้ลี้ภัยแก่เขา

หลังอยู่ฮ่องกงได้ช่วงหนึ่ง เขาเดินทางไปยังรัสเซีย เพียงไม่กี่วันก่อนทางการสหรัฐฯ จะยกเลิกหนังสือเดินทางของเขา ระหว่างอยู่ที่รัสเซีย เขาไม่สามารถเดินทางโดยเครื่งบินแบบไร้หนังสือเดินทางได้ จึงต้องผ่านประเทศคิวบาเพื่อไปสู่เอกวาดอร์ อย่างไรก็ตาม รัสเซียได้เสนอให้สโนว์เดนสามารถลี้ภัยอยู่ต่อได้

ผู้ผลัดถิ่นจากซีเรีย: เริ่มต้นจากอาหรับสปริง สู่ดินแดนแห่งสงครามและความตาย

เป็นเวลาเกือบสิบปี ที่ชาวซีเรียกว่าครึ่งประเทศต้องถูกบังคับให้ออกจากบ้าน เพราะสงคราม การละเมิดสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางเสียงกระสุนปืนตามถนนหนทาง และความตาย ทำให้ผู้คนต้องหนีตายออกจากภูมิลำเนาของตัวเองมากกว่า 6.1 ล้านคน

จุดแตกหักที่ทำให้เกิดสงคราม มาจากการชุมนุมประท้วงประธานาธิบดีซีเรีย บาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) ไม่สามารถบริหารประเทศให้เดินหน้าต่อไป ซีเรียช่วงปี 2010-2011 เต็มไปด้วยปัญหาทุจริต อัตราว่างงานสูง ไร้เสรีภาพทางการแสดงออก

เดือนมีนาคม 2011 ผลจากคลื่นปฏิวัติอาหรับสปริง ทำให้ประชาชนจำนวนมากลุกขึ้นประท้วงรัฐบาล เรียกร้องประชาธิปไตย ควบคู่กับกองกำลังติดอาวุธทั้งชนกลุ่มน้อย และกลุ่มลัทธิความเชื่อ ที่รุกคืบเข้ามาเรื่อยๆ รัฐบาลจึงตัดสินใจปราบปรามประชาชนและกองกำลังติดอาวุธอย่างรุนแรง

จากการปราบผู้ประท้วงเข้าสู่สงครามกลางเมือง การสู้รบพรากชีวิตชาวซีเรียมากกว่า 350,000 ราย สูญหายนับแสนราย และมีผู้ต้องพิการเพราะสงครามกว่า 1.5 ล้านคน

ความขัดแย้งทางการเมือง แนวคิด ผลประโยชน์ และศาสนา ส่งผลให้เกิดกลุ่มน้อยใหญ่แยกย่อยได้หลากหลาย ทั้งการปะทะของกองกำลังมุสลิมติดอาวุธนิกายซุนนี กับมุสลิมนิกายอะลาวิต ไปจนถึงกลุ่มก่อการร้ายอย่างไอเอส, อัลกออิดะห์ รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในดินแดนซีเรียที่กำลังเกิดความวุ่นวาย ส่งผลให้ย่านพักอาศัยกลายเป็นพื้นที่สาดกระสุนปืน ประชาชนต้องออกจากบ้าน อยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัด

ข้อมูลจาก UNHCR ระบุว่า มีชาวซีเรียหลายแสนคนกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก และยังมีชาวซีเรียอีก 6.7 ล้านคนที่พลัดถิ่นอยู่ในประเทศตัวเอง จากสถิติปี 2020 พบว่า ตุรกีมีผู้ลี้ภัยมากที่สุดในโลกราว 4.1 ล้าน ซึ่ง 3.7 ล้านคน หนีสงครามมาจากซีเรีย

แม้ตอนนี้รัฐบาลจะสามารถยึดพื้นที่ส่วนใหญ่กลับคืนมาได้ ทว่าซีเรียต้องเจอกับการระบาดของโควิด-19 สถานการณ์ย่ำแย่ยิ่งกว่าเก่า เศรษฐกิจของประเทศเกิดการชะงักงัน อัตราการว่างงานสูงขึ้น โรคระบาดก็ยังคงอยู่ การเดินทางหนีความลำบากไปยังต่างแดนถูกระงับไว้ชั่วคราว บางส่วนที่ลี้ภัยออกมาก่อนหน้านี้ และต้องการกลับไปใช้ชีวิตในประเทศก็ไม่สามารถเดินทางเข้าได้ทันที

โรฮีนจา: กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกกวาดล้างโดยกองทัพเมียนมา

ประเด็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮีนจาในเมียนมา คือปัญหาที่โลกถกเถียงกันมานานหลายปี ชาวโรฮีนจากว่า 1.1 ล้านคน โดยเฉพาะในรัฐยะไข่ ต้องหนีออกจากบ้าน เพราะถูกกองทัพเมียนมากวาดล้างครั้งใหญ่

ฝั่งโรฮีนจายืนยันว่าตนอยู่บนแผ่นดินมาหลายชั่วอายุคน ส่วนรัฐบาลกับกองทัพมองว่าโรฮีนจาเข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมาย ไม่ใช่พลเมือง ส่งผลให้ไม่ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานจากรัฐ ทั้งด้านการแพทย์ การศึกษา หรือการเลือกตั้ง รวมถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการนับถือศาสนา นับเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกต่อไม่ติด

หลายปีที่ผ่านมา เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มติดอาวุธโรฮีนจากับทหารเมียนมาหลายครั้ง ประชาชนจำนวนมากต้องหนีออกจากบ้าน ส่วนใหญ่ตัดสินใจเดินทางข้ามชายแดนไปยังบังกลาเทศที่มีพรมแดนติดกับรัฐยะไข่ รวมแล้วกว่า 800,000 คน

ตอนนี้บังกลาเทศที่รับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาไปจำนวนมาก ต้องพบปัญหาใหญ่ เนื่องจากผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ตัดสินใจอยู่แบบระยะยาว ประกอบกับความแออัดของค่ายจากการมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งผู้อพยพมาเพิ่ม รวมถึงเด็กเกิดใหม่วันละประมาณ 60 คน ส่งผลให้บังกลาเทศเริ่มไม่สามารถรับผู้ลี้ภัยโรฮีนจาได้มากเหมือนช่วงแรก และจำเป็นต้องแบ่งผู้ลี้ภัยไปอยู่บนเกาะ

ชาวโรฮีนจาส่วนใหญ่ยังคงยืนยันไม่อยากกลับไปยังเมียนมา ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งการก่อรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความวุ่นวายทางการเมืองที่ลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมือง และความไม่แน่นอนเรื่องสัญชาติ ที่หากกลับไปอาจจะเป็นบุคคลที่รัฐไม่ได้มอบสวัสดิการใดๆ เหมือนเคย

ผู้ลี้ภัยอัฟกัน: 40 ปีใจกลางพื้นที่สงคราม โซเวียต ตาลีบัน และสหรัฐอเมริกา

ต้นปี 2021 ชาวอัฟกันในอินโดนีเซีย 13 คน ตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง หลังไม่สามารถตั้งรกรากในดินแดนใหม่ เนื่องจากอินโดนีเซียไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาผู้ลี้ภัย

ปัจจุบัน ชาวอัฟกันพลัดถิ่นคาดว่ามีจำนวนถึง 6 ล้านคน เฉพาะที่ลงทะเบียนกับ UNHCR ประมาณ 2.6 ล้านคน กระจายอยู่ใน 78 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในปากีสถานและอิหร่าน เป็นชนชาติผู้ลี้ภัยที่มากเป็นอันดับ 3 รองจากซีเรียและเวเนซุเอลา

การพลัดถิ่นของชาวอัฟกันเกิดจากสงครามบนแผ่นดินอัฟกานิสถานตลอดกว่า 40 ปีที่ผ่านมา บางส่วนได้เดินทางกลับบ้านเกิด ถูกส่งกลับ และมีไม่น้อยยังติดอยู่กับสถานภาพลี้ภัยยาวนาน เพื่อแสวงหาที่ตั้งรกรากในประเทศใหม่

การหนีตายออกจากประเทศระลอกแรกเกิดขึ้นช่วงสงครามเย็น ปี 1979 เมื่อโซเวียตบุกเข้าสู่อัฟกานิสถาน ดินแดนสำคัญของตะวันออกกลาง เพื่อสนับสนุนกองทัพของรัฐบาลอัฟกานิสถานสู้รบกับมูจาฮีดีน (Mujahideen) กองกำลังกบฏหลายชนเผ่า

เมื่อกองทัพอัฟกานิสถานมีตัวช่วยคือโซเวียต ด้านมูจาฮีดีนก็ไม่แพ้กัน เพราะหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ฝ่ายตรงข้ามของโซเวียตยุคสงครามเย็น ได้แทรกซึมเข้าไปช่วยเหลือมูจาฮีดีนอย่างลับๆ รวมถึงการสนับสนุนอาวุธจรวด FIM-92 Stinger ไว้ต่อสู้กับอากาศยานโซเวียต

สงครามครั้งนี้กินเวลายาวนานเกือบ 10 ปี ยุติหลังโซเวียตภายใต้การนำของ มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ถอนทหารเสร็จสิ้นในปี 1989 การสู้รบครั้งนี้ทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพราว 2 ล้านคนลี้ภัยสงครามออกนอกประเทศ โดยอิหร่านและปากีสถานเป็นจุดหมายแรกๆ ขณะที่ชาวซิกข์และชาวฮินดูมุ่งหน้าสู่อินเดีย

ความโชคร้ายซ้ำซ้อนคือสงครามกลางเมืองระหว่างปี 1992-1996 เมื่อมูจาฮีดีนเข้ายึดกรุงคาบูล ชาวอัฟกันต้องหนีอีกครั้ง จากนั้นก็เข้าสู่ยุคของตาลีบัน ความรุนแรงยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง

กระทั่งหลังเหตุการณ์ 9/11 ในปี 2001 สหรัฐฯ โดยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ตัดสินใจบุกเข้าอัฟกานิสถาน ทำสงครามกับตาลีบัน และตามล่า โอซามา บิน ลาเดน

การรุกคืบเข้ามาของสหรัฐฯทำให้ตาลีบันสูญเสียฐานที่มั่น ช่วงเดียวกันนั้นด้วยความช่วยเหลือของสหประชาชาติ นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ผู้ลี้ภัยที่ครั้งหนึ่งเคยต้องหนีตายเกือบ 6 ล้านคน ได้เดินทางกลับบ้านเกิด ทว่าหลายปีต่อมา เมื่อสงครามยังดำเนินต่อเนื่อง ชาวอัฟกันส่วนหนึ่งมุ่งหน้าสู่ตุรกีเพื่อใช้เป็นทางผ่านสู่ยุโรป ขณะที่อีกหลายล้านคนยังคงกระจัดกระจายพลัดถิ่นอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งเป็นผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ และขอสถานะลี้ภัย

เป็นเวลา 20 ปีจากวันเริ่มต้นสงครามของสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน และเป็นเวลา 10 ปีจากวันที่ โอซามา บิน ลาเดน ถูกสังหาร ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศเริ่มกระบวนการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในวันที่ 1 พฤษภาคม 2021 และจะสิ้นสุดในวันที่ 11 กันยายนปีนี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ 9/11

ผู้ลี้ภัยซูดานใต้: สงคราม ความอดอยาก หนีตายจากชาติเอกราชล่าสุดของโลก

วันที่ 9 กรกฎาคม 2011 ประเทศซูดานใต้ประกาศแยกตัวจากซูดาน ดูจากแผนที่โลก ซูดานใต้คือประเทศเอกราชชาติล่าสุด

ก่อนหน้านั้น ซูดาน เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและอียิปต์ จนถึงปี 1956 จากนั้นเป็นหลายสิบปีที่ซูดานต้องตกอยู่ในช่วงสงครามกลางเมือง นับเฉพาะช่วงปี 1983-2005 มีผู้เสียชีวิตราว 2 ล้านราย อีก 4 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยสงคราม โดยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดาฟูร์ที่เริ่มต้นในปี 2003 มีผู้เสียชีวิต 300,000 ราย

ปี 2005 กบฏฝ่ายใต้ในนามขบวนการปลดปล่อยประชาชนซูดาน (Sudan People's Liberation Movement: SPLM) ที่สู้รบกับรัฐบาลมายาวนาน ทำข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลซูดานของประธานาธิบดี โอมาร์ อัล-บาเชียร์ (Omar al-Bashir) โดยจะให้ภาคใต้ของประเทศทำประชามติภายใน 6 ปี เพื่อแบ่งแยกดินแดนเป็นเอกราช

เดิมที ภาคใต้ของซูดานนั้นขาดการพัฒนาในหลายๆ ด้าน มีความขัดแย้งในกลุ่มกว่า 50 ชนเผ่า แม้แหล่งทรัพยากรน้ำมันซึ่งเคยเป็นรายได้หลักของประเทศจะอยู่ในภาคใต้ แต่โรงกลั่นและท่อส่งอยู่ในภาคเหนือ ทำให้เกิดการเจรจาผลประโยชน์หลายครั้ง

ในประชามติปี 2011 ประชาชนจากภาคใต้ 99 เปอร์เซ็นต์ต้องการแบ่งแยกดินแดนออกมา ซูดานใต้จึงเป็นเอกราชนับแต่นั้น แต่ข้อตกลงเรื่องพรมแดนที่ยังไม่ลงตัวก็ทำให้เกิดความขัดแย้งเรื่อยมา และการเมืองในซูดานใต้เองก็ไม่เคยสงบ เพราะการแย่งชิงอำนาจผู้นำของหลายชนเผ่า นำไปสู่การสู้รบไม่จบสิ้น

ตลอดระยะเวลาของสงครามและความแร้นแค้น ผู้ลี้ภัยชาวซูดานใต้จนกลายเป็นวิกฤติใหญ่ที่สุดในแอฟริกา ในเวลาเพียง 10 เดือน มีการลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้านกว่า 1.6 ล้านคน โดยกว่าครึ่งหนึ่งอพยพมายังประเทศยูกันดา ในปี 2017 ค่ายผู้ลี้ภัยซูดานใต้ Bidibidi Settlement คือศูนย์อพยพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนที่ปีถัดมาจะเสียตำแหน่งให้ค่ายผู้ลี้ภัยโรฮีนจา

ปัจจุบันผู้ลี้ภัยซูดานใต้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก มีจำนวนประมาณ 2.2 ล้านคน 63 เปอร์เซ็นต์ในนั้นอายุไม่ถึง 18 ปี ปัจจัยการอพยพย้ายถิ่นครั้งใหญ่ คือ การสู้รบ ทารุณกรรมทางเพศ ประสบภัยธรรมชาติ และขาดแคลนอาหาร

นอกจากยูกันดา ชาวซูดานใต้ยังลี้ภัยไปประเทศใกล้เคียง เช่น เคนยา เอธิโอเปีย และซูดาน จนถึงมีนาคม 2021 ผู้ลี้ภัยซูดานใต้ในประเทศซูดานมีทั้งหมดประมาณ 772,918 คน ลงทะเบียนกับ UNHCR แล้ว 458,689 คน

ผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทย: ภัยความมั่นคง เห็นต่างทางการเมือง และข้อหาคดี 112 หลังยุค คสช.

หลังการยึดอำนาจของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ผู้เห็นต่างทางการเมืองและนักกิจกรรมหลายคนถูกเรียกให้ไปรายงานตัว ด้วยเหตุผลเช่น ต่อต้านการรัฐประหาร ยืนตรงข้ามอำนาจรัฐ และวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย

ยุคสมัยของ คสช. คือจุดเริ่มต้นของกระแสการหลบหนีและลี้ภัยทางการเมืองออกจากประเทศ รายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อ 22 พฤษภาคม 2563 เปิดเผยว่า มีประชาชนอย่างน้อย 104 คนตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศหลังรัฐประหารเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ด้วยเหตุผลไม่ต้องการเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช., ถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ทหารหรือบุคคลอื่น, ถูกออกหมายจับในคดี ม.112 และคดีเกี่ยวข้องกับอาวุธ

จากจำนวนทั้งหมด บางส่วนเดินทางไปลี้ภัยแถบยุโรป เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, จรัล ดิษฐาอภิชัย, วัฒน์ วรรลยางกูร, ศรัณย์ ฉุยฉาย อยู่ที่ฝรั่งเศส ด้าน ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ลี้ภัยและเป็นอาจารย์ที่ญี่ปุ่น

อันตรายถึงชีวิตของผู้ลี้ภัยมักเกิดในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะผู้สูญหายตามรายชื่อข้างต้น และเมื่อ 12 กรกฎาคม 2562 สมาชิกวงไฟเย็น ซึ่งอยู่ในประเทศลาว ได้รับข้อความข่มขู่ว่าจะถูกจับตาย สำนักข่าวบีบีซีไทยระบุว่า พบเอกสารที่ไฟเย็นอ้างว่าเป็นเอกสารการขอตัวผู้ลี้ภัยที่ทางการไทยส่งมายังทางการของประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงระบุตำแหน่งบ้านที่อาศัยอยู่ด้วยภาพถ่ายดาวเทียม

จากนั้นกระแส #SaveFaiyen #อย่าฆ่าไฟเย็น ผุดขึ้นในโซเชียลมีเดีย ก่อนที่ 2 สิงหาคม ด้วยความช่วยเหลือของ โครงการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยนานาชาติ (International Refugee Assistance: IRAP) สมาชิกวงไฟเย็นจึงได้เดินทางออกจากลาวและเข้าสู่กระบวนการขอสถานะผู้ลี้ภัยที่ฝรั่งเศส

แต่ใช่ว่าสถานการณ์ผู้ลี้ภัยของไทยจะพ้นภัยและหนีตายได้สำเร็จ เพราะมีอย่างน้อย 9 คนสูญหายและเสียชีวิตแม้อยู่ในพื้นที่ประเทศอื่น คือ ดีเจซุนโฮ-อิทธิพล สุขแป้น, โกตี๋-วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ลุงสนามหลวง-ชูชีพ ชีวสุทธิ์, สยาม ธีรวุฒิ, กฤษณะ ทัพไทย, วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์วิทธิ์ และ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ กับ ไกรเดช ลือเลิศ ซึ่งพบศพในแม่น้ำโขง ปลายปี 2561.