- เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้ธนาคารมีโฉมหน้าที่ทันสมัย แต่หัวใจของการทำธุรกิจ ที่แสวงหากำไรจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยแม้แต่น้อย
- ก้าวต่อไปของธนาคาร คือการให้บริการอย่างไร้ตัวตน หรือเทรนด์ ‘การธนาคารล่องหน’ (invisible banking) ซึ่งหมายถึงเราจะใช้บริการธนาคารโดยที่เราไม่รู้ตัว
- บริษัทเทคโนโลยีพยายามเข้ามาทดแทนตัวกลางอย่างธนาคาร โดยเสนอทางเลือกทั้งผลตอบแทนที่สูงกว่าหรือค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า เช่น ระบบการชำระเงินที่คิดค่าบริการเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ นับว่าน้อยมากหากเทียบกับค่าธรรมเนียมธนาคารในอัตราประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์
- สิ่งที่น่ากังวลสำหรับธนาคาร ไม่ใช่สกุลเงินเข้ารหัสที่ไร้ผู้ควบคุมอย่างบิตคอยน์ แต่เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง
“บริการธนาคารเป็นสิ่งจำเป็น ส่วนธนาคารนั้นไม่ใช่”
วาทะดังกล่าวเป็นของ บิล เกตส์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ แต่หลายคนอาจแปลกใจหากรู้ว่าเขาแสดงความเห็นนี้ตั้งแต่ปี 1998 ช่วงเวลาที่อินเทอร์เน็ตยังเชื่องช้า โทรศัพท์มือถือไม่ใช่สิ่งแพร่หลาย และโลกยังไม่รู้จักอุตสาหกรรมฟินเทค จึงยากจะจินตนาการว่าคำกล่าวของเขาจะกลายเป็นความจริงได้อย่างไร
จนปัจจุบัน หลายคนก็ยังจินตนาการไม่ออกว่า โลกที่ไร้ธนาคารพาณิชย์จะหน้าตาเป็นเช่นไร เพราะไม่ว่าหันไปทางไหนในเมืองใหญ่ เราก็ยังเห็นสาขาธนาคารอยู่แทบทุกหัวมุมถนน ซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกกลายๆ ว่า ธนาคารยังคงมีบทบาทสำคัญ คนจำนวนไม่น้อยยังต้องไปรอทำธุรกรรมที่ธนาคารเป็นประจำ ไม่ต่างจากซื้ออาหารเข้าบ้าน บริษัทอาศัยธนาคารเพื่อจ่ายเงินเดือน ชำระเงินคู่ค้าและสารพัดเจ้าหนี้ สาขาธนาคารยังเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ของชีวิตใครหลายคนในวันที่ตัดสินใจลงหลักปักฐานกู้เงินมาซื้อบ้าน หรือขอสินเชื่อเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย
นับตั้งแต่มนุษยชาติรู้จักเงินตรา ไม่ว่าจะอยู่ในรูปเปลือกหอย โลหะ ทองคำ ธนบัตร หรือเงินดิจิทัล ประชาชนก็แสวงหาบริการเพื่อฝากเงินเหล่านั้นอย่างปลอดภัย ผู้จัดการธนาคารทุกยุคทุกสมัยก็ทราบดีว่า เงินฝากเหล่านั้นจะไม่ถูกถอนออกไปพร้อมกันในวันเดียว นั่นหมายความว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ธนาคารจะต้องเก็บเงินทั้งหมดไว้กับตัว และสามารถปล่อยสินเชื่อบางส่วนเพื่อสร้างรายได้ดอกเบี้ย
ระบบมาตรฐานเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า "การเก็บเงินสดสำรองบางส่วน" (fractional reserves) ซึ่งธนาคารยังคงยึดถือจวบจนปัจจุบัน แต่ระบบนี้ก็มีจุดอ่อน เพราะทำให้ธนาคารพาณิชย์กลายเป็นสถาบันที่ไร้ความมั่นคงตามธรรมชาติ พร้อมจะพังทลายทุกเมื่อหากเจอกับพิษเศรษฐกิจที่ทำให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระจำนวนมาก หรือผู้ฝากตัดสินใจมาถอนเงินพร้อมกัน
วิกฤติการเงินนำมาซึ่งกฎเกณฑ์การกำกับดูแลฉบับใหม่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงให้กับสถาบันการเงิน โฉมหน้าธนาคารเปลี่ยนแปลงไปมากหากเทียบกับสองศตวรรษก่อน เทคโนโลยีใหม่ๆ เปิดโอกาสให้ทำธุรกรรมอย่างรวดเร็วโดยแทบไม่เสียค่าธรรมเนียม เงินสดถูกลดบทบาทในชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับตราสารทางการเงินอย่างเช็คที่กลายเป็นเรื่องล้าสมัย ธนาคารทั่วโลกยกระดับสู่การเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยในปีที่ผ่านมาธนาคารที่ใหญ่ที่สุด 1,000 แห่งทั่วโลกมีสินทรัพย์รวมกันถึง 128 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งมากกว่าจีดีพีของทุกประเทศทั่วโลกรวมกันเสียอีก
เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้ธนาคารมีประสิทธิภาพสูงขึ้นพร้อมโฉมหน้าที่ทันสมัย แต่ความจริงแล้วหัวใจของการทำธุรกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยแม้แต่น้อยจากวันแรกของสถาบันการเงิน คือการแสวงหากำไรจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ธนาคารกำลังเผชิญกับคู่แข่งจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ความท้าทายใหม่ในแวดวงการลงทุนและการจัดหาเงิน การมาถึงของสกุลเงินเข้ารหัส รวมถึงภัยคุกคามที่หลายคนอาจมองข้ามนั่นคือเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยรัฐ
นี่คือการ ‘ดิสรัปชัน’ (disruption) ที่อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์เป็นธุรกิจ ‘เกินจำเป็น’ ในอนาคต
...
ธนาคารล่องหน
ก่อนการมาถึงของอินเทอร์เน็ต ธนาคารทุกสีทุกแบรนด์ต่างเร่งขยายสาขาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ ลูกค้าต่างต้องแวะเวียนมาธนาคารเพื่อทำธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นออมเงิน ลงทุน หรือขอสินเชื่อ แต่ปัจจุบันสาขาที่ขยายไว้มากมายกลับทำให้ธนาคารเสียเปรียบคู่แข่ง เพราะต้องแบกรับต้นทุนทั้งค่าสถานที่ ค่าพนักงาน และการรักษาความปลอดภัย ในขณะที่ลูกค้ารุ่นใหม่มองว่าการไปทำธุรกรรมที่ธนาคารเป็นเรื่องล้าสมัย เกิดเป็นเทรนด์ ‘ลดสาขา’ ของแทบทุกธนาคารในไทย แต่ก็คืบหน้าไปอย่างเชื่องช้าเต็มที
แต่ธนาคารยุคใหม่ยังจำเป็นต้องมีสาขาอีกหรือ?
คำตอบคือไม่จำเป็นครับ เทคโนโลยีดิจิทัลเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ทำให้เราสามารถใช้บริการทางการเงินผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนได้โดยแทบไม่ต้องก้าวขาออกจากบ้าน ประเทศไทยเองก็เริ่มได้เห็นก้าวแรกของธนาคารรูปแบบใหม่ที่ไร้สาขาอย่าง TMRW ที่ผู้บริโภคสามารถเปิดบัญชี สมัครบัตรเครดิต และบริหารทุกอย่างในโลกออนไลน์เพราะ TMRW ไม่มีสาขาให้บริการ
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนจากรูปแบบออฟไลน์สู่ออนไลน์เป็นเพียงก้าวแรก เพราะก้าวต่อไปของธนาคารคือการให้บริการอย่างไร้ตัวตนหรือเทรนด์ ‘การธนาคารล่องหน’ (invisible banking) ซึ่งหมายถึงเราจะใช้บริการธนาคารโดยที่เราไม่รู้ตัว
เทรนด์ที่น่าจับตาคือการทำให้ธนาคารเป็นบริการหนึ่ง (Banking as a Service) โดยผนวกรวมเอาธนาคารเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าหรือบริการอื่นๆ เช่น ธนาคารอาจจับมือกับสายการบินเพื่อให้ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อในระหว่างการจองตั๋วเครื่องบินบนเว็บไซต์โดยที่ไม่ต้องยุ่งยากสลับหน้าจอไปมาระหว่างผู้ให้บริการทั้งสองเจ้า หรือแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์อาจเสนอให้มีการผ่อนชำระสินค้าโดยที่ธนาคารเป็นผู้บริหารจัดการความเสี่ยง
นอกจากนี้ ธนาคารสามารถปรับตัวเข้ากับ Internet of Things (IoT) หรืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพื่อให้อุปกรณ์เหล่านั้นสามารถตัดสินใจทำธุรกรรมอัตโนมัติแทนผู้ใช้งาน เช่น การเติมเงินใส่รถยนต์เพื่อจ่ายค่าทางด่วนหรือค่าน้ำมันแบบอัตโนมัติ หรือการฝังธนาคารเข้าไปในระบบสั่งการด้วยเสียง เช่น ระบบผู้ช่วยอัจฉริยะอย่าง Alexa หรือ Siri เพื่อบริหารจัดการเงินในชีวิตประจำวัน หรือขอคำแนะนำด้านการลงทุน
แม้ว่าบางแนวคิดอาจจะฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ในปัจจุบัน แต่อย่าลืมว่าหากย้อนกลับไปเมื่อสองทศวรรษก่อนก็คงไม่มีใครเชื่อว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดถึงขั้นที่สามารถย่อส่วนคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ให้อยู่ในรูปโทรศัพท์สมาร์ตโฟน
บริษัทเทคโนโลยี คู่แข่งหน้าใหม่ในวงการธนาคาร
ธนาคารเคยเป็นผู้ให้บริการทางการเงินเพียงหนึ่งเดียวในตลาด ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก บัตรเครดิต สินเชื่อ ประกัน หรือคำแนะนำด้านการลงทุน แต่ธุรกิจที่เคยเป็นฐานที่มั่นของธนาคารกำลังเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ คือเหล่าบริษัทเทคโนโลยีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่พร้อมใช้อำนาจเหนือลูกค้าและแรงจูงใจด้านค่าธรรมเนียมมาช่วงชิงส่วนแบ่งจากธุรกิจหลักของธนาคาร
ตัวอย่างความสำเร็จ เช่น AliPay ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเนื่องจากเหล่าผู้ซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์ม Alibaba ไม่มีช่องทางการชำระเงินที่สะดวกและปลอดภัย แรกเริ่มเดิมที Alipay เป็นเพียงบัญชีพักเงินที่จะโอนให้กับผู้ขายสินค้าหลังจากที่ผู้ซื้อยืนยันการรับสินค้า ก่อนจะพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ตโฟนโดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญคือการใช้ QR Code เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินในปี 2011 ระบบดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างยิ่งจนขึ้นแท่นบริษัทผู้ให้บริการระบบชำระเงินอันดับหนึ่งของโลกโดยคิดค่าบริการเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ต่อธุรกรรม นับว่าน้อยมากๆ หากเทียบกับค่าธรรมเนียมมหาโหดของธนาคารในอัตราประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์
ฟินเทคจำนวนไม่น้อยก็พยายามเข้ามาทดแทนตัวกลางอย่างธนาคารโดยเสนอทางเลือกทั้งผลตอบแทนที่สูงกว่าหรือค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า เช่น แพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Lending (P2P Lending) หรือการทำธุรกรรมสินเชื่อแบบบุคคลต่อบุคคลซึ่งเปลี่ยนสินเชื่อเป็นสินค้าสำหรับวางจำหน่าย โดยผู้กู้สามารถระบุเป้าหมายของการกู้เงินดังกล่าว เช่น นำไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เรียนหนังสือ ซื้อรถยนต์ หรือเริ่มต้นธุรกิจ ส่วนผู้ให้กู้ก็สามารถเลือกได้ว่าจะลงทุนกับใครโดยพิจารณาถึงความเสี่ยงและผลตอบแทนที่จะได้รับ
อีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดคือ Wise บริษัทที่ตั้งใจลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านระบบธนาคารหรือผู้ให้บริการอื่นๆ ที่ทั้งเชื่องช้าแล้วยังราคาแพงระยับ ระบบของ Wise จะใช้วิธีจับคู่ความต้องการโอนเงินของคนสองกลุ่มในสองประเทศ โดยมีค่าธรรมเนียมถูกกว่าการโอนเงินแบบเดิมสูงสุดถึง 7 เท่าตัว
หน้าที่ของธนาคารในการจัดหาเงินให้กับโครงการใหม่ๆ หรือธุรกิจสตาร์ทอัพก็กำลังถูกแทนที่ด้วยการระดมทุนจากมวลชน (Crowdfunding) โดยการขายไอเดียที่น่าสนใจบนแพลตฟอร์มอย่าง Kickstarter ซึ่งได้รับความนิยมจากคนทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน แถมโครงการที่เข้ามาขอเงินทุนนั้นก็มีหลากหลาย ตั้งแต่ชุดชั้นใน เกม ไพ่ทาโรต์ ไปจนถึงสารคดีคนไร้บ้านสำหรับเด็ก
คู่แข่งที่น่ากังวลของวงการธนาคารจึงไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์รายอื่น แต่เป็นบริษัทเทคโนโลยีสตาร์ทอัพที่พร้อมจะใช้ทุกความได้เปรียบเพื่อเอาชนะเจ้าตลาดเดิม
...
การถือกำเนิดของสกุลเงินดิจิทัล
หลังวิกฤติซับไพรม์เมื่อราวหนึ่งทศวรรษก่อน เอกสารลึกลับชื่อว่า Bitcoin: A Peer-to-Peer Electronic Cash System ความยาวเพียง 9 หน้าโดยผู้แต่งนามสมมติถูกเผยแพร่ในวงแคบๆ และเป็นต้นกำเนิดของ ‘บิตคอยน์’ สกุลเงินเข้ารหัสสกุลแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนประมวลผล ความโดดเด่นของเทคโนโลยีดังกล่าวคือการทำธุรกรรมได้แบบไม่ต้องอาศัย ‘บุคคลที่สามซึ่งได้รับความไว้วางใจ’ โดยหนึ่งในนั้นคือธนาคาร
นั่นหมายความว่าหากในอนาคตบิตคอยน์กลายเป็นเงินสกุลหลัก ธนาคารแบบที่เรารู้จักก็แทบหมดความจำเป็น
ปัจจุบันมูลค่าของบิตคอยน์ที่หมุนเวียนอยู่ในระบบทั่วโลกนั้นมากกว่ามูลค่าของเงินบางสกุลเช่นดอลลาร์แคนาดา แต่โอกาสที่บิตคอยน์จะมาเป็นสกุลเงินหลักกลับมีน้อยมาก เนื่องจากราคาที่ผันผวนจนไม่มีใครกล้าหยิบมาจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน เวลาที่ใช้ในการประมวลผลธุรกรรมก็แสนจะช้า อีกทั้งสกุลเงินดังกล่าวยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย และไม่มีรัฐบาลใดรองรับ
แต่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับธนาคารไม่ใช่สกุลเงินเข้ารหัสที่ไร้ผู้ควบคุม แต่เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรง นำหน้าโดยประเทศจีนที่เริ่มให้ประชาชนราวหนึ่งแสนคนทดลองใช้แอปพลิเคชันกระเป๋าสตางค์ของรัฐที่มีเงิน “หยวนอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งมีค่าเทียบเท่ากับธนบัตรกระดาษ ขณะที่สหภาพยุโรปคาดว่าจะดันเงินสกุลยูโรฉบับดิจิทัลภายใน 5 ปีข้างหน้า ส่วนธนาคารกลางอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็แสดงท่าทีสนใจแนวคิดดังกล่าว
หากธนาคารกลางตัดสินใจเปลี่ยนเงินธนบัตรสู่เงินดิจิทัลแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าธนาคารกลางจะเป็นผู้ดูแลเงินในบัญชีของประชาชนทุกคนในประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพาธนาคารพาณิชย์อีกต่อไป นี่คือการพลิกโฉมหน้าระบบการเงินที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่มีข้อกังวลคือธนาคารจะมีขนาดที่ใหญ่โตมโหฬาร อีกทั้งอำนาจการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อให้กับใครในปริมาณเท่าใดจะย้ายจากมือธนาคารพาณิชย์สู่ธนาคารกลางโดยปริยาย นับเป็นฝันร้ายของนักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องการลดบทบาทภาครัฐไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรสำคัญอย่างสินเชื่อ
ยุคดิจิทัลทำให้ธนาคารต้องปรับตัวขนานใหญ่ ทั้งการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของลูกค้าผ่านความร่วมมือกับบริษัทนอกภาคการเงิน และต้องเผชิญกับคู่แข่งหน้าใหม่อย่างบริษัทเทคโนโลยีที่คล่องตัวและต้นทุนต่ำกว่า แต่ต่อให้ธนาคารจะอยู่รอดจากสองกระแสการเปลี่ยนแปลงได้ ก็อาจต้องเผชิญกับการพลิกโฉมหน้าระบบการเงินครั้งใหญ่เมื่อธนาคารกลางตัดสินใจออกสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองและดึงเงินฝากออกจากธนาคารพาณิชย์
คงไม่มีใครตอบได้ว่าการธนาคารในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า ‘ธนาคาร’ อาจกลายเป็นนวัตกรรมที่ล้าสมัยในอนาคต.
...