ถ้ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในคอนโดมิเนียมเดียวกับเรา เราต้องไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือกักตัวเองหรือไม่ และจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เป็นคำถามที่หลายคนกำลังสงสัย นี่คือเกณฑ์ให้เราประเมินตัวเองเบื้องต้น
กรมควบคุมโรคได้ออกมาตรการปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไว้แล้ว โดยต้องประเมินว่าเราอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงระดับใด จากทั้งหมด 3 วง ได้แก่ วงที่ 1 ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง, วงที่ 2 ผู้สัมผัสกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง, วงที่ 3 ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ (ผู้ไม่มีความเสี่ยง)
วงที่ 1 ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (high risk contact) หมายถึง ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19 ที่เข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
- ผู้ที่เรียน ผู้อาศัยร่วมห้องพัก หรือทำงานในห้องเดียวกัน
- ผู้คลุกคลีกับผู้สัมผัสที่มีการพูดคุยกับผู้ติดเชื้อในระยะ 1 เมตร นานกว่า 5 นาที
- ถูกไอ จาม รดจากผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
- ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ปิด ไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศ ในห้องปรับอากาศ ร่วมกับผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 และอยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อไม่เกิน 1 เมตร นานกว่า 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
...
สิ่งที่ต้องทำ ต้องเข้ารับการกักกันโรค และตรวจหาเชื้อจากทางห้องปฏิบัติการ
วงที่ 2 ผู้สัมผัสกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หมายถึงผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (สัมผัสกับวงที่ 1) จัดเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้สัมผัสอีกครั้งหนึ่ง คนที่อยู่ใกล้ผู้สัมผัสจึงไม่มีความเสี่ยง
สิ่งที่ต้องทำ
- สังเกตอาการตัวเอง 14 วัน
- หลีกเลี่ยงที่ชุมชน
- แยกรับประทานอาหาร (แยกสำรับ)
- สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ
- หากมีไข้หรืออาการของระบบทางเดินหายใจให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที เพื่อเก็บสิ่งส่งตรวจ ติดตามอาการและวัดไข้ตามแนวทางผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูง
วงที่ 3 ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ (ส้มผัสกับวงที่ 2) จัดเป็นผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง เช่น อยู่ในโรงเรียนร่วมกับผู้ติดเชื้อ แต่ไม่มีกิจกรรมหรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
สิ่งที่ต้องทำ
- ไม่ต้องกักตัว
- สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ
- ไม่ต้องตรวจหาเชื้อ
ทั้งนี้ ผู้เข้าข่ายวงที่ 2 และวงที่ 3 จัดว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงต่ำ
เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายเมื่อ 13 ธันวาคม 2563 ว่า เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว เจ้าหน้าที่จะเริ่มกระบวนการสอบสวนโรค โดยจะแบ่งผู้สัมผัสติดต่อออกเป็น 3 วง วงแรกคือผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิดโดยตรง วงที่ 2 ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 และวงที่ 3 คือ ผู้สัมผัสผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีกขั้นหนึ่ง ถือว่าไม่มีความเสี่ยง ไม่ต้องเข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ปฏิบัติตัวเหมือนกับประชาชนทั่วไป
ทำไมฉีดวัคซีนแล้วจึงยังมีโอกาสป่วยเป็นโควิด-19 ได้
นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย มีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity)
ดังนั้น แม้ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อได้ เนื่องจากวัคซีนมีจุดประสงค์ลดความรุนแรงของโรค ป้องกันไม่ให้เสียชีวิตจากโรค ไม่ใช่ลดโอกาสการติดเชื้อ
นอกจากนี้ ระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคนต้องการเวลาเพื่อตอบสนองต่อวัคซีนแตกต่างกัน โดยอาจต้องใช้เวลานานถึง 14 วัน และวัคซีนของหลายบริษัทก็จำเป็นต้องฉีดโดสที่ 2 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันซ้ำ
รับวัคซีนแล้วจะยังแพร่เชื้อได้ต่อไปหรือไม่
ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ให้ข้อมูลว่า ถึงแม้รับวัคซีนโควิดแล้ว ร่างกายจะยังแพร่เชื้อไปสู่คนใกล้ตัวได้ เพราะวัคซีนจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพเมื่อได้รับวัคซีนครบตามกำหนด และร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังคงต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ต่อไป
...