- ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ... ฉบับใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อเทียบกับฉบับ พ.ศ. 2540 สะท้อนเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการออกกฎหมายเพื่อ ‘ปกปิด’ ข้อมูลมากกว่าเปิดเผย
- ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลยากขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ฝ่ายความมั่นคง ปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูล
- การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทางราชการด้านความมั่นคงหรือสร้างความเสียหายให้สถาบันฯ มีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนคือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท
แฮชแท็ก #ไม่เอาพรบข้อมูลข่าวสาร ขึ้นเทรนดิงในทวิตเตอร์ด้วยจำนวนข้อความที่อ้างอิงถึงกว่า 140,000 ข้อความ ในช่วงเวลาเพียง 2 วัน คือ วันที่ 31 มีนาคม ต่อเนื่องถึงวันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นการแสดงปฏิกิริยาของชาวเน็ตที่ช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องให้จับตา ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ... ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
ดูเหมือนว่ารัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คาดหวังจะกินรวบ ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ด้วยการแจ้งว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็น ‘กฎหมายปฏิรูป’ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 เพื่อให้วุฒิสภาแต่งตั้งมีอำนาจเข้าร่วมพิจารณาและลงมติกฎหมายฉบับนี้พร้อมกับสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ต้น
สาระสำคัญของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มีความน่ากังวลอยู่ 4 ประเด็น ประกอบด้วย
1. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบจะไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้ก็ได้ หากปรากฏพฤติการณ์ของผู้ยื่นคำขอว่า ขอข้อมูลเป็นจำนวนมาก หรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือมีลักษณะเป็นการก่อกวนการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ หรือมีผลเป็นการสร้างภาระจนเกินสมควรแก่หน่วยงานของรัฐ (มาตรา 11/1)
2. ห้ามเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจมีการนำไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และข้อมูลด้านการถวายความปลอดภัย (มาตรา 13/1)
3. ห้ามเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นข้อมูลความมั่นคงของรัฐ ด้านการทหารและการป้องกันประเทศ ด้านการข่าวกรอง ด้านการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย ด้านการต่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคล และข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านอื่นตามที่ ครม.ประกาศกำหนด (มาตรา 13/2)
4. กำหนดบทลงโทษหากผู้ใดฝ่าฝืน 2 ข้อข้างต้น คือ มาตรา 13/1 หรือมาตรา 13/2 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 41/2)
และหากเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่บังคับใช้อยู่ขณะนี้ สะท้อนเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการออกกฎหมายเพื่อ ‘ปกปิด’ ข้อมูลมากกว่าเปิดเผย เช่น
- การเพิ่มมาตรา 11/1 เข้ามาใหม่เพื่อเปิดทางให้หน่วยงานรัฐใช้ดุลยพินิจกำหนดเหตุที่จะปฏิเสธคำขอข้อมูลข่าวสารได้
- การขยายความเพิ่มเติมมาตรา 13/2 ที่ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความมั่นคงด้านการทหาร ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายปัจจุบันที่ให้หน่วยงานรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยได้ หากข้อมูลดังกล่าวเข้าข้อยกเว้น
- ที่น่ากังวลมากที่สุดคือการเพิ่มบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หากเจ้าหน้าที่รัฐที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงทหาร ซึ่งในกฎหมายปัจจุบันเจ้าหน้าที่รัฐจะถูกลงโทษหากไม่ให้ข้อมูลตามคำสั่งของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน และปรับไม่เกิน 5,000 บาท เท่านั้น
ชัดเจนว่าหากร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับนี้บังคับใช้ได้การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลจะเป็นไปด้วยความยากลำบากมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงที่ตามกฎหมายปัจจุบันมักไม่ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูล กล้าปฏิเสธอย่างเต็มปากมากยิ่งขึ้น ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมาก็อาจเกิดความกลัวที่จะเปิดเผยข้อมูล เพราะอาจได้รับบทลงโทษที่รุนแรงและไม่สมเหตุสมผล ซึ่งนั่นนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นมหาศาล
ดังนั้นการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ควรจะมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นกว่ากฎหมายปี 2540 หรืออย่างน้อยก็ควรยึดเจตนารมณ์ของการร่างครั้งนั้นที่ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ เพื่อประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้องกับความเป็นจริง เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงและให้ประชาชนมีโอกาสรู้ถึงสิทธิหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ และสามารถจะปกปักรักษาประโยชน์ของตัวเองได้ หากมีข้อยกเว้นไม่เปิดเผยต้องมีความชัดเจนและจำกัดเฉพาะข้อมูลที่หากเปิดเผยไปจะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ
จากประสบการณ์ของผมในฐานะที่เคยใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ. 2540 ทำให้ได้ข้อมูลที่สำคัญ 2 ชิ้น ชิ้นแรกคือเอกสารการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งทำให้ทราบว่า คสช. เริ่มจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ยังไม่ได้ประกาศใช้
และชิ้นที่สอง เอกสารรายชื่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ที่ทำให้สังคมได้ตั้งคำถามถึงที่มาของ ส.ว. และการขัดกันแห่งผลประโยชน์ระหว่างผู้แต่งตั้งและผู้ถูกแต่งตั้ง ซึ่งคณะกรรมการบางคนเลือกตัวเองเข้าไปเป็น ส.ว. ด้วย
ด้วยเหตุนี้ หากรัฐบาลต้องการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ จึงควรต้องแก้ปัญหาที่ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ประชาชนที่ร้องขอข้อมูลต่างประสบพบเจอตลอดเวลา เช่น หน่วยงานรัฐโยนความรับผิดชอบกันไปมา หน่วยงานรัฐอ้างว่าไม่มีข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่ไม่ตรงตามที่ขอไว้ หน่วยงานรัฐดำเนินการล่าช้าถ่วงเวลา หรือกระทั่งหน่วยงานรัฐไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลเลย
ต้องยอมรับว่าการที่รัฐไทยมีลักษณะอำนาจนิยมรวมศูนย์มาช้านาน ทำให้ที่ผ่านมารัฐไทยมีทัศนคติว่าข้อมูลที่อยู่ในการครอบครองเป็นของตัวเอง จนนำมาสู่ปัญหาความไร้ธรรมาภิบาล ขาดความโปร่งใส ขาดความรับผิดชอบ และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้นหากจะแก้ปัญหานี้ได้ต้องทำให้รัฐบาลกลายเป็น ‘รัฐบาลเปิดเผย’ หรือ open government ด้วยการผลักดันให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพราะข้อมูลของรัฐคือข้อมูลของประชาชน
แม้การยึดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ เมื่อ 7 ปีที่แล้วจะมีข้ออ้างสำคัญคือการป้องกันการทุจริต และมีแผนปฏิรูปประเทศเพื่อทำให้ประเทศไทยไร้การทุจริต แต่ดูเหมือนว่า ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ที่รัฐบาลประยุทธ์เพิ่งผ่านความเห็นชอบเสนอต่อรัฐสภา จะตรงข้ามกับสิ่งที่รัฐบาลประยุทธ์ประกาศมาตลอด และหากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านรัฐสภาจนประกาศใช้เป็นกฎหมายได้สำเร็จ ก็เท่ากับเป็นใบอนุญาตปกปิดทุจริตแบบถูกกฎหมาย
...