สารเคมีในสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตที่ไม่ถูกสุขอนามัยกำลังทำลายสมดุลของฮอร์โมน และทำลายการสืบพันธุ์ในหลายระดับ จนอาจนำไปสู่วิกฤติของมนุษยชาติ

ชานนา สวอน (Shanna Swan) นักระบาดวิทยาและนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จากโรงเรียนแพทย์อิคาห์น เมาท์ ไซไน (Mount Sinai) นิวยอร์ก เคยเสนอผลการศึกษาอันโด่งดังเมื่อปี 2017 ว่า ตั้งแต่ปี 1973 จำนวนอสุจิลดลงเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ และจากตัวเลขนี้คาดการณ์ว่าภายในปี 2045 อาจจะเหลือ 0 ซึ่งหมายความว่าไม่มีเด็กเกิดใหม่อีกต่อไป ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนของเพศชายก็ลดลงทุกปี ขณะที่มีผู้เป็นโรคมะเร็งเกี่ยวกับอัณฑะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ปี 2021 นี้ ในหนังสือเผยแพร่งานวิจัยชื่อ Count Down สวอนชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้อัตราของโรคหย่อนประสิทธิภาพทางเพศเพิ่มขึ้น การสืบพันธุ์เสื่อมถอย และทารกที่เกิดใหม่มีอวัยวะเพศเล็กลงมาจากสารเคมีที่อยู่รอบตัวเรา โดยเฉพาะสารเคมีที่ชื่อว่า พทาเลต (phthalates) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกเพื่อทำให้มันยืดหยุ่นได้ และพบได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นของเล่น บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ผงซักฟอก เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทารกที่เกิดใหม่ตอนนี้ต่างก็ได้รับสารพิษปนเปื้อนมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่แล้ว

งานของสวอนเน้นไปที่ผลกระทบของพทาเลต เริ่มจากการทดลองกับหนูแล้วพบว่า ตัวอ่อนที่ได้รับสารเคมีชนิดนี้เกิดมามีอวัยวะเพศหดเล็กลง จากนั้นสวอนค้นพบว่า ทารกชายที่ได้รับสารพทาเลตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดามีระยะห่างระหว่างช่องทวารหนักกับถุงอัณฑะ (Anogenital Distance: AGD) สั้นกว่า ซึ่งสัมพันธ์กับขนาดของอวัยวะเพศ สารพทาเลตลอกเลียนฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงรบกวนธรรมชาติในการผลิตฮอร์โมนในร่างกายมนุษย์ นักวิจัยพบว่ามันแทรกแซงพัฒนาการทางเพศในทารกและพฤติกรรมในวัยผู้ใหญ่ เด็กที่เกิดใหม่มีอวัยวะเพศเล็กลง

เมื่อพิจารณาอัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกระหว่างปี 1964-2018 พบว่า อัตราการเจริญพันธุ์ของโลกลดลง อัตราการเกิดอยู่ที่ 5.06 ต่อผู้หญิง 1 คน เป็น 2.4 ต่อผู้หญิง 1 คน ค่าเฉลี่ยของประเทศกว่าครึ่งในโลก อัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่า 2.01

“ตอนนี้ในบางพื้นที่ของโลก คนอายุ 20 กว่าปีมีอัตราการเจริญพันธุ์น้อยกว่าตอนที่ปู่ย่าของตัวเองอายุ 35 ปี” สวอนกล่าว และยังเตือนว่า นี่เป็นวิกฤติการดำรงอยู่ระดับโลก มนุษย์อาจสูญพันธุ์ได้ เนื่องจากเมื่อพิจารณาเกณฑ์ 5 ข้อที่บ่งบอกว่าสิ่งมีชีวิตใดจะสูญพันธุ์ มนุษย์เข้าข่าย 3 ข้อ ทั้งที่แค่เพียงข้อเดียวก็ถือว่ามีโอกาสสูญพันธุ์แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษต่ออวัยวะเพศชายออกมาที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2021 โดยนักวิจัยจากหน่วยงานสาธารณสุขแห่งชาติฝรั่งเศส พวกเขาพบว่า เด็กชายฝรั่งเศสจำนวน 89,382 คนที่เกิดระหว่างปี 2002-2014 และมีภาวะอัณฑะค้าง (cryptorchidism) หมายถึงการที่อัณฑะไม่เคลื่อนลงมาในถุงอัณฑะตามปกติตั้งแต่แรกเกิด และมีสาเหตุจากการขาดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน แม้โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการนี้จะหายไปเองตอนอายุ 6 เดือน แต่ปรากฏว่า เด็กกลุ่มนี้ซึ่งอายุต่ำกว่า 7 ปี ต้องเข้ารับการผ่าตัด เมื่อพิจารณาควบคู่กับที่อยู่ นักวิจัยพบว่า เด็กชายที่อยู่ในภูมิภาคที่เคยมีเหมืองถ่านหิน มีภาวะลูกอัณฑะค้างข้างเดียวมากกว่าคนที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ 2 เท่า และผู้ที่มีภาวะลูกอัณฑะค้าง 2 ข้างมากกว่าคนที่อยู่ในพื้นที่อื่น 5 เท่า

...