หลังแอปพลิเคชัน Away Covid-19 มินิแอปบนแพลตฟอร์ม Line กำลังได้รับความนิยม มีคนเข้าใช้งานกว่า 4 ล้าน ซึ่งเป็นแอปทำขึ้นเพื่อผู้ใช้รู้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด อาทิ ยอดผู้ติดเชื้อ ค้นหาโรงพยาบาลใกล้บ้าน แจ้งสถานะผู้ติดเชื้อที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้เลี่ยงพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว รวมถึงยังมีข้อมูลไทม์ไลน์คนติดโควิดด้วย
กว่าจะมาเป็นแอป Away Covid-19 ที่ร่วมพัฒนาเป็นทีมร่วมกัน 5 คน เบื้องหลังการสร้างพวกเขาทำงานหนักอย่างไร มีหน่วยงานใดเป็นผู้สนับสนุน วันนี้เราพาไปพูดคุยกับ คุณธีรยุทธ อิงจันทร์ โปรแกรมเมอร์วัย 29 ปี หนึ่งในทีมผู้สร้างแอป เป็นตัวแทนบอกเล่าความจริงทั้งหมด
: พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ผุด Away Covid-19 สำเร็จใน 2 วัน :
ก่อนเล่าที่มาของแอปพลิเคชัน Away Covid-19 คุณธีรยุทธ กล่าวความรู้สึกหลัง แอป Away Covid-19 มีคนเข้ามาใช้โดยแอด LINE ID พิมพ์ @awaycovid19 ล่าสุดมีจำนวนทั้งหมดกว่า 4 ล้านคน เฉลี่ยเข้าใช้แอปวันละล้านกว่าคนว่า ไม่คิดว่ากระแสจะแรงขนาดนี้ มีคนใช้แอปเยอะ รู้สึกหายเหนื่อย ตนและทีมปลื้มมาก เพราะเป็นไปตามเป้าหมายสูงสุดของแอปที่ทีมตั้งใจแต่แรก คือ ทำเพื่อส่วนรวมได้ใช้ประโยชน์ฟรี โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ
...
สำหรับจุดเริ่มต้นในการทำแอป Away Covid-19 คุณธีรยุทธย้อนเล่าความหลังว่า เมื่อปลายเดือน มี.ค. 63 ขณะนั้นโควิดระบาดหนัก มีการล็อกดาวน์หลายจังหวัด รวมถึงพิษณุโลกที่ตนทำงานอยู่ ในช่วงนั้นมีงานอบรมกับไลน์เพื่อระดมความคิดสร้างแอปใหม่เพื่อชิงเงินรางวัล
ในทีมปรึกษากันและลงความเห็น ควรทำแอปเกี่ยวกับโควิด เพราะช่วงนั้นมีข่าวคนติดโควิดอยากรู้ว่าในพิษณุโลก มีจุดเสี่ยงหรือพื้นที่ระบาดตรงไหนบ้าง เลยร่วมกันทำแอป ตั้งชื่อว่า Away Covid-19 และทำเสร็จภายใน 2 วัน
“พวกเราทำงานในบริษัทแมพพิเดีย รับผลิตแอปและพัฒนาเว็บไซต์ต่างๆ อยู่แล้ว เลยใช้เวลาทำไม่นาน แค่ 2 วัน ทำแอป Away Covid-19 เสร็จ แต่ก็ทำโดยไม่ได้หลับไม่ได้นอน อยู่หน้าคอมฯ กันทั้งวันทั้งคืน วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระดมความคิดเห็นกัน ช่วยกันหาข้อมูล ซึ่งตอนนั้นมีปัญหาไทม์ไลน์ของจุดเสี่ยงไม่เยอะ ต้องค้นหากันเอง” คุณธีรยุทธเล่าเบื้องหลัง
: เปิดแนวคิด สร้าง Away Covid-19 เริ่มโดยไม่ใช้เงินทุน :
สำหรับเงินลงทุนในการทำ หลายคนอยากรู้ว่ามีใครสนับสนุนหรือไม่ คุณธีรยุทธ เผยข้อมูล ไม่มีหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนใดๆ สนับสนุนหรือเกี่ยวข้อง อีกทั้งแอป Away Covid-19 เริ่มทำโดยไม่ใช้เงินทุนสักบาท
งบประมาณที่ใช้คือ แรงกาย แรงคิดของทีมทั้งหมด 5 คน ที่แบ่งหน้าที่กัน โดยมีโปรแกรมเมอร์ ดูแลข้อมูล 2 คน ดูแลด้านแผนที่ 1 คน ดูแลระบบความปลอดภัย 2 คน ซึ่งบริษัทแมพพิเดียทำเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีแผนที่ ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล GIS ภูมิศาสตร์อยู่แล้ว จึงทำให้การสร้าง Away Covid-19 สำเร็จอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลต่างๆ ใน Away Covid-19 เป็นข้อมูลตามประกาศเผยแพร่ของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมดเท่านั้น เพื่อความถูกต้อง อาทิ เกี่ยวกับตำแหน่ง สถานที่ต่างๆ ที่เป็นจุดเสี่ยง โดยนำชื่อมาหาตำแหน่งแล้วนำไปกรอกข้อมูลลงในแผนที่เพื่อให้คนเข้าใจง่ายๆ แทนที่จะแสดงเป็นข้อมูลตาราง เป็นตัวอักษร หรือไฟล์ PDF
...
: จิตตก ถอดใจ เฟกนิวส์จู่โจม เกือบปิดฉาก Away Covid-19 :
หลังปล่อยแอป Away Covid-19 ในช่วงแรกๆ ปลายเดือน มี.ค. 63 ให้ประชาชนใช้ฟรีๆ ได้รับผลตอบรับดี มีคนใช้แอปมากขึ้นเรื่อยๆ และอยากให้ทำข้อมูลจังหวัดอื่นๆ บ้าง ตนและทีมงานจึงขยายทำครอบคลุมทั้งประเทศดังที่เห็นในปัจจุบัน
แต่กว่าจะทำสำเร็จเช่นวันนี้ คุณธีรยุทธเผย ทั้งทีมเคยเกือบถอดใจ จิตตก จนไม่อยากทำต่อ เนื่องจากตอนนั้นมีกระแสเฟกนิวส์ซึ่งคาดว่ามาดิสเครดิต ระบุเป็นแอปหลอกขอเงิน แต่ด้วยกำลังใจจากผู้สูงอายุบอกแอปดี มีประโยชน์ จึงมุ่งมั่นทำตามเจตนารมณ์ต่อไป
...
: จ่อพัฒนา Away Covid-19 ป้องกันแอปล่ม :
ปัจจุบันมีผู้ใช้แอป Away Covid-19 วันละกว่าล้านราย ทางทีมงานได้เตรียมความพร้อมป้องกันแอปช้าหรือแอปล่ม กรณีมีคนเข้าใช้งานจำนวนมากพร้อมกัน และในการกรอกข้อมูลทีมงานทำงานเยอะขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากผู้ป่วยโควิดมีจำนวนเยอะ ติดเชื้อวันละหลายร้อยคนและกระจายไปหลายจังหวัด
“ตอนนี้ทีมปรึกษากันว่า อาจจะพัฒนาแอป หรือฟังก์ชันเสริม เนื่องจากสถานการณ์โควิดระบาดรุนแรงมากขึ้น ข้อมูลก็มากขึ้นตาม งานค่อนข้างเยอะ ต้องไล่เก็บข้อมูลที่ต่างๆ เยอะขึ้น เราให้ความสำคัญกับข้อมูลมาก เพื่อให้ประชาชนได้รับขัอมูลที่ถูกต้อง เราจึงยึดข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ”
: อนาคต Away Covid-19 อาจมี ภาษาพม่า :
สำหรับหลายคนที่ยังไม่กล้าใช้ Away Covid-19 เนื่องจากกลัวการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว คุณธีรยุทธยืนยัน การใช้แอปใช้เพียงชื่อกับรูปในโปรไฟล์เท่านั้น ไม่มีการเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ ในไลน์ เช่น อีเมล เบอร์ติดต่อ พร้อมเชิญชวนมาใช้ และอย่ากังวลว่าแอปจะหลอกลวง การันตีไม่มี เพราะทีมตั้งใจพัฒนาเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างแท้จริง อนาคตอาจจะพัฒนาเป็นภาษาอื่นๆ เช่น พม่า หากมีหน่วยงานอื่นๆ ทั้งเอกชนและภาครัฐมาร่วมช่วยพัฒนา เนื่องจากทีมมีกันแค่ 5 คน
...
“แอปนี้ใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อดูพื้นที่เสี่ยง เวลาจะออกไปข้างนอก จะได้ระมัดระวังตัวเองมากขึ้น เพื่อไม่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง หรือที่ที่มีการระบาด ต่อไปแอปคงพัฒนาเรื่อยๆ เพื่อประโยชน์ของคนไทย ขณะนี้ภาครัฐติดต่อมาเพื่อลิงก์ข้อมูลกัน เอาข้อมูลมาแชร์ดาต้าร่วมกัน" คุณธีรยุทธกล่าว
: ข่าวน่าสนใจ :