ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 กลับมาอีกแล้ว!!
คราวนี้ปกคลุมหนาทึบ จากท้องฟ้าโปร่งๆ กลายเป็นสีส้มค่อนไปน้ำตาล ค่าเฉลี่ย PM 2.5 เกินมาตรฐานในระดับที่น่ากลัวหลายพื้นที่ หน้ากากที่ใส่อยู่ก็แทบกันอะไรไม่ได้ บางคนมีอาการระคายเคืองตาร่วมด้วย...
ดังนั้น The Answer จึงไม่พลาดที่จะมาหาคำตอบเกี่ยวกับ PM 2.5 ที่มีผลกระทบมากกว่าแค่การป่วยเป็นโรคร้ายอย่างที่ทราบกัน แต่ยังโยงไปถึง "เศรษฐกิจ" และ "ต้นทุนค่าเสียโอกาส" ที่สูงมากจนเราอาจคิดไม่ถึงเลยทีเดียว
ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 นี้ เป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกปีละกว่า 7 ล้านคน โดยย่อมาจาก Particulate Matter ที่หมายถึง "อนุภาคของแข็ง" หรือ "ฝุ่นละออง" ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน
ซึ่งจากข้อมูล Open-Source ขององค์การไม่แสวงหากำไร OpenAQ พบว่า อย่างน้อย 380 ล้านคนทั่วโลก ต้องทนทุกข์อาศัยอยู่ร่วมกับคุณภาพอากาศที่เลวร้ายเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด (World Organization: WHO)
แล้ว PM 2.5 มาจากไหนบ้าง?
หลักๆ คือ เขม่ายานพาหนะ, ควันและขี้เถ้าจากไฟป่าที่โหมรุนแรงเป็นวงกว้าง, มลพิษชีวมวลจากเตาไฟทำอาหาร หรือง่ายๆ ก็มาจากการทำกับข้าวในครัวนั่นเอง แต่หากมองภาพกว้างกว่านั้น ยังมีละอองเกลือซัลเฟตจากการผลิตไฟฟ้าและฝุ่นจากทะเลทราย
อยู่รอบๆ ตัวเราหมดเลยก็ว่าได้ ทั้งในบ้าน นอกบ้าน ล้วนเป็นบ่อเกิด PM 2.5 ทั้งสิ้น!!
ไม่มีที่ไหนปลอดภัย 100%
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง... คนที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และนั่นรวมถึง "คนไทย" ด้วย
...
แน่นอนว่า PM 2.5 เหล่านี้ กำลังสร้างความกังวลให้กับนักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานสาธารณสุขมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจากข้อมูลของ OpenAQ พบว่า ความไวต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular) และอาการป่วยระบบทางเดินหายใจ (Respiratory) เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ
ความเสี่ยงระยะยาวจาก "อากาศที่เลวร้าย" นี้ กำลังคุกคามโลก และแน่นอนว่า ไม่มีที่ไหนหนักหนาไปกว่า "อินเดีย"
โดยหนึ่งในความเสี่ยงระยะยาวของ PM 2.5 ที่จะเอ่ยถึงนี้ คือ การทำหน้าที่ของ "สมอง"
มลพิษเรื้อรัง ทำ "ฟังก์ชันสมอง" รวน
กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบหลักๆ หนีไม่พ้น "ผู้สูงอายุ" และ "เด็ก" ที่หากสูดมลพิษเข้าร่างกายมากๆ ในระยะยาวจะกลายเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรัง โดยพบว่า กระบวนการเรียนรู้ที่ลดลงในกลุ่มผู้สูงอายุมีอัตราการเกิดเร็วขึ้น อาทิ สมองเสื่อม (Dementia), อัลไซเมอร์ (Alzheimer), พาร์กินสัน (Parkinson) และหลอดเลือดสมอง (Stroke)
ส่วนกลุ่มเด็กมีความเสี่ยงว่าจะได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงมากที่สุด เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตอย่างถาวร
ขอยกตัวอย่าง...
ในจีน การศึกษาพบว่า มลพิษทางอากาศมีผลต่อการเกิด และมีความเชื่อมโยงกับทักษะทางปัญญา (Cognitive Skill) ที่ลดลง ขณะที่ ทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย เด็กๆ ที่สูดมลพิษเข้าสู่ร่างกายปริมาณมาก เห็นได้ชัดว่ามีปัญหาในด้านการคำนวณทางคณิตศาสตร์และการอ่าน ดังนั้น เราจึงมักเห็นนักเรียนหลายๆ คนย้ายโรงเรียนตามทิศทางลม โดยหนึ่งในการศึกษา มีการประมาณการว่า ความเข้มข้นของ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อาจส่งผลให้คะแนนไอคิว (IQ) ลดลง 2 คะแนน
ไม่เพียงเท่านั้น ในรายงานของธนาคารโลก (World Bank) มีการทดสอบคะแนนของนักเรียนในแต่ละประเทศ พบว่า ปัญหามลพิษทางอากาศที่มี PM 2.5 มาเอี่ยวด้วยนี้ มีผลเสียต่อสมองของเด็กอย่างมาก โดยเฉพาะ "จีน" และ "อินเดีย" ที่ต่างเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน และหลายเมืองถูกปกคลุมด้วย "หมอกพิษ" ซึ่งระดับ PM 2.5 ในปักกิ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 10 เท่าของนิวยอร์ก และเกินกว่าปกติถึง 2 เท่าของจำนวนรวม
นี่คือ "ราคา" ที่ "จีน" และ "อินเดีย" ต้องจ่าย!!
โดยคะแนนการทดสอบของเด็กจีน คือ 456 และเด็กอินเดีย คือ 355 แตกต่างกับเด็กญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่มีคะแนนสูงถึง 563 หรือแม้แต่เด็กเวียดนามก็มีคะแนนสูงถึง 519
ในส่วนภาพรวม... คุณภาพอากาศที่ย่ำแย่นี้ ถือเป็นหนึ่งในการคุกคามทางสาธารณสุขอันใหญ่หลวง มีคนเสียชีวิตต่อปีกว่า 8 ล้านคน ในจำนวนนี้ กว่า 90% อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และ 1 ใน 8 ของประชากรโลก...เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
...
แถมสักนิด... รู้ไหมว่า PM 2.5 ไม่ได้กระทบแค่สุขภาพของเราเท่านั้น
ด้วยความหลากหลายทางเคมีของ PM 2.5 ทำให้ยากจะอธิบายได้ว่ามีผลกระทบแค่ชั้นเดียวต่อสภาพอากาศ (Climate) โดยหนึ่งในผลกระทบภาวะโลกร้อน (Global Warming) มีนัยมาจาก "ผงฝุ่นเขม่าดำ" (Black Carbon) สสารเขม่าดำที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล
แน่นอนว่า เมื่อ PM 2.5 กลับมา ก็มักจะมีการพูดถึงการสนับสนุนให้ทุกคนหันมาใช้ "รถยนต์ไฟฟ้า"
"รถยนต์ไฟฟ้า" อาจไม่ใช่จุดสิ้นสุดของ "มลพิษทางอากาศ"
แต่การหันมาใช้ "รถยนต์ไฟฟ้า" ไม่ได้บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าจะทำให้ "มลพิษทางอากาศ" จางหายไปอย่างสิ้นเชิง...
โดยหนึ่งในรายงานที่น่าสนใจของรัฐบาลสหราชอาณาจักร พบว่า ผลกระทบทางสุขภาพที่เกี่ยวโยงกับ PM ไม่ได้มาจากท่อไอเสียรถยนต์ที่วิ่งตามถนนเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการเสียดสีบนท้องถนนที่เกิดจากการเบรกและยางรถยนต์อีกด้วย
แม้ "รถยนต์ไฟฟ้า" จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่รายงานของรัฐบาลสหราชอาณาจักรก็ยังพบ PM 2.5 และ PM 10 ลอยคละคลุ้งอยู่ โดยค่าเฉลี่ย 30 พื้นที่ แสดงให้เห็นว่า ท่อไอเสียก่อให้เกิด PM 10 สัดส่วน 1% และ PM 2.5 สัดส่วน 2% ขณะที่ การเบรกและการเสียดสียางรถยนต์ มีสัดส่วน PM 10 และ PM 2.5 อยู่ที่ 2% และ 1% ตามลำดับ และมาจากการเสียดสีถนน 1%
...
สำหรับ 15 พื้นที่ริมถนนชื่อดัง ก็พบว่า ท่อไอเสียมีสัดส่วนถึง 4% ของ PM 10 ทั้งหมด และ 5% ของ PM 2.5 ส่วน PM 10 ที่เกิดจากการเบรกและเสียดสียางรถยนต์ อยู่ที่ 11% และ PM 2.5 อยู่ที่ 8% ขณะที่ การเสียดสีถนนก่อให้เกิด PM 10 และ PM 2.5 อย่างละ 4%
ถึงแม้ว่า PM 2.5 และ PM 10 อันตรายต่อสุขภาพทั้งคู่ แต่ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) กลับพบว่า PM 2.5 มีโอกาสที่จะทำให้เสียชีวิตสูงกว่า PM 10
PM 2.5 กับ "ต้นทุนค่าเสียโอกาส" ที่ต้องจ่ายกว่าพันล้าน
และใช่... ไทยเองก็มี "ราคา" ที่ต้อง "จ่าย" ในเรื่อง PM 2.5 ไม่ต่างจากจีนและอินเดีย
กรณี "จีน" นั้น มีการศึกษาผลกระทบ PM 2.5 ต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและจังหวัด โดยพบว่า PM 2.5 ที่เกิดจากการคมนาคมทางถนน นำไปสู่การสูญเสียชีวิตกว่า 160,000 คนต่อปี อัตราการเกิดโรคต่อประชากรเพิ่มขึ้น 0.37% และค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพรวมกว่า 1,400 ล้านหยวน หรือประมาณ 6,500 ล้านบาท
หากรัฐบาลจีนไม่ได้มีมาตรการควบคุมที่ดีขึ้น คาดการณ์ว่า ในปี 2573 มลพิษทางอากาศจากการคมนาคมทางถนนจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 170,000 คน อัตราการเกิดโรคต่อประชากรเพิ่มขึ้น 0.40% และค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพรวมแล้วจะสูงถึง 4,100 ล้านหยวน หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้น จากการคำนวณทางสถิติของการเสียชีวิตพบว่า มูลค่าการสูญเสียอยู่ที่ 730,000 ล้านหยวน หรือกว่า 3 ล้านล้านบาท และยังสูญเสียเวลาการทำงานต่อประชากรอีก 2 ชั่วโมง 23 นาทีด้วย
...
นอกจากนี้ มลพิษ PM 2.5 จากการคมนาคมทางถนน อาจเป็นเหตุให้จีนสูญเสีย GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ในปี 2573 ถึง 0.68%
มาว่ากันต่อในส่วนของ "ไทย"
ย้อนกลับไปช่วงต้นปี มีการประเมินจากบรรดานักวิเคราะห์หลายสำนักถึง "ต้นทุน" ที่ไทยต้องจ่ายจากการปล่อยให้ PM 2.5 ปกคลุมทั่วทั้งน่านฟ้า โดย "ต้นทุน" ที่ว่านั้นก็คือ "ต้นทุนค่าเสียโอกาส" (Opportunity Cost)
ประเมินภาพง่ายๆ ภายในช่วงเวลา 1 เดือน มีการประมาณการว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะสูงถึง 3,200-6,000 ล้านบาท!!
หากแยกเป็นส่วนๆ คือ 1. ต้นทุนที่เกี่ยวกับสุขภาพ คือ ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย และเครื่องฟอกอากาศ ก็มีมูลค่าสูงถึง 2,000-3,000 ล้านบาท และ 2. ต้นทุนค่าเสียโอกาสเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อยู่ที่ 1,000-2,400 ล้านบาท และ 3. ต้นทุนค่าเสียโอกาสอื่นๆ เช่น สตรีตฟู้ด (Street Food), ร้านอาหารหรูแบบ Outdoor รวมถึงตลาดนัด ก็มีมูลค่ากว่า 200-600 ล้านบาท
แต่นั่นคือ การประเมินภาพเพียงแค่ 1 เดือนในห้วงเวลาที่ยังไม่มีวิกฤติ "โควิด-19" (COVID-19) มาเกี่ยวข้อง คิดดูว่าหากไวรัสร้ายยังเป็นอยู่แบบนี้ แถมยังมีปัญหา PM 2.5 เข้ามาแทรกด้วย แถมยังหนักกว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมาซะอีก "ต้นทุนค่าเสียโอกาส" ที่ไทยต้องจ่ายจะมากขนาดไหน ราคาประเมิน 6,000 ล้านบาทอาจไม่พอด้วยซ้ำไป.
ข่าวน่าสนใจ:
- ผู้ร้ายซ่อนเร้น PM 2.5 ในมหานครแห่งฝุ่น
- จับตา "รถยนต์ไฟฟ้า" แข่งเดือด "เทสล่า" มีดีอะไร ทำไมไทยจีบตั้งฐานผลิต
- "หยวนดิจิทัล" GAME CHANGER ท้าชนยักษ์ใหญ่ ลดอำนาจผูกขาด "ดอลลาร์"
- เลือกตั้ง อบจ. 2563 บ้านใหญ่ VS ก้าวไกล สมรภูมิชิงงบหมื่นล้าน
- สัญญาณอันตราย ธุรกิจไทยกลายเป็น "ซอมบี้" ย้อนบทเรียน "ทศวรรษที่หายไป"
ข้อมูลอ้างอิง:
- รายงานปัญหามลพิษ โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO)
- ข้อมูลความเข้มข้น PM 2.5 ต่อลูกบาศก์เมตร ปี 2533-2559; Our World in Data
- ผลการทดสอบ PM 2.5 และผลกระทบทางสมองของเด็ก โดยธนาคารโลก (World Bank)
- Why open-air quality? By OpenAQ
- Economic impacts from PM 2.5 pollution-related health effects in China’s road transport sector: A provincial-level analysis