เรียกว่าสูญเสียผู้เป็นตำนานแห่งวงการลูกกรุง เมื่อ “สุเทพ วงศ์กำแหง” ได้เสียชีวิตอย่างสงบภายในบ้านพัก เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ถึงแม้ภรรยา “ผุสดี วงศ์กำแหง” ภรรยาอันเป็นที่รักพยายามช่วยเหลือและนำส่งโรงพยาบาล แต่ไม่สามารถยื้อชีวิต ตำนานเพลงลูกกรุงจึงได้หลับใหลไปชั่วนิรันดร์
3 นาทีคดีดัง โดยทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ย้อนเรื่องราวชีวิตของสุเทพ ซึ่งหยิบยกเรื่องที่สุดและครั้งแรกของ “สุเทพ วงศ์กำแหง” ที่มีเรื่องราวความรัก ความผูกพัน และก้าวแรกสู่วงการเพลงลูกกรุง
ร่วมรำลึกถึงชายผู้เป็นตำนานผ่านความรักและเสียงเพลงใน 3 นาทีคดีดัง ตอนที่สุดแห่งชีวิต ตำนานเพลงลูกกรุง
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ประวัติ สุเทพ วงศ์กำแหง โดยสังเขป
ร.ต.สุเทพ วงศ์กำแหง เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2477 ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรคนสุดท้อง ในจำนวนพี่น้อง 3 คนของ นายอินทร์ และนางสาหร่าย วงศ์กำแหง ภรรยาชื่อ นางผุสดี วงศ์กำแหง มีบุตร 1 คน
ในวัยเด็ก ศึกษาชั้นอนุบาลศึกษาที่ โรงเรียนมารีวิทยา ต่อมาได้เรียนประถมโรงเรียนเทศบาล 2 (วัดสมอราย) มัธยมศึกษา โรงเรียนสีคิ้วสวัสดิ์ผดุงวิทยา กระทั่งได้มาศึกษาต่อสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ อาร์ต (ประเทศญี่ปุ่น) และได้ศึกษาศาสตรบัณฑิตกิติมศักดิ์ (ศิลปกรรม) จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
...
เส้นทางดนตรี ได้มีโอกาสรู้จักและคุ้นเคยกับ ครูไสล ไกรเลิศ นักแต่งเพลงผู้มีชื่อเสียงเนื่องจากบ้านอยู่ใกล้กัน เมื่อครูไสลมองเห็นแววความสามารถก็คิดจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมจึงชักชวนให้มาช่วยงาน เช่น ช่วยเขียนโน้ตเพลง เขียนตัวหนังสือ ทั้งยังได้รับโอกาสให้ร้องเพลงสลับฉากละคร ร้องเพลงตามงานบันเทิงต่างๆ รวมไปถึงการทดลองเสียงแทนนักร้องตัวจริงก่อนที่จะทำการอัดเสียงโดยได้ติดตาม ครูไสล ไกรเลิศ ไปห้องบันทึกเสียงของห้างกมลสุโกศล ที่ศาลาเฉลิมไทย มักได้ช่วยร้องเพลงทดสอบกับวงดนตรีก่อนนักร้องจะมาซ้อมร้องเพลง จนได้รับการคัดเลือกให้ร้องเพลงอัดแผ่นเสียง เช่นเพลงรำพันรำพึง ของครูสง่า อารัมภีร จนเริ่มเป็นที่รู้จักมีโอกาสร้องเพลงไทยสากลสลับฉากละครเวทีเฉลิมไทย
ในเส้นทางอาชีพข้าราชการ เป็นพลทหารในกองทัพอากาศ ประจำวงดุริยางค์ทหารอากาศ โดยมี ครูปรีชา เมตไตรย์ เป็นผู้ควบคุมวง ความสามารถรวมทั้งวุฒิทางการศึกษา ได้รับการพิจารณาปรับวุฒิให้เป็น จ่าอากาศตรี หลังจากนั้นออกจากกองทัพ
บันทึกเสียงลงทั้งในฟิล์มภาพยนตร์และแผ่นเสียง ได้มีโอกาสประกบแผ่นคู่ร้องเพลงกับ สวลี ผกาพันธุ์ และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี เพลงที่ทำให้คนรู้จักคือเพลง รักคุณเข้าแล้ว ซึ่ง สมาน กาญจนะผลิน เป็นผู้แต่งทำนอง และสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ผู้แต่งบทร้อง ในปี 2496 จนได้เข้าร่วมกับคณะชื่นชุมนุมศิลปิน มีผลงานร้องเพลงทั้งในวิทยุ โทรทัศน์ เพลงประกอบละคร และภาพยนตร์ รวมถึงผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่อง สวรรค์มืด คู่กับ สืบเนื่อง กันภัย และขบวนการเสรีไทย คู่กับดาราต่างประเทศ มิสคูมี่
สร้างภาพยนตร์เรื่อง วิมานดารา ขึ้นเรื่องหนึ่งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากกลับมาจากการไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ได้มาร้องเพลงประจำที่นาทูริส ไนต์คลับ เป็นแห่งแรก ปี 2503 ต่อมาไปร้องที่ โลลิต้า ซูซี่วอง และ สีดาคลับ
เส้นทางการเมือง ในปี 2509 เริ่มกลับมาเขียนคอลัมน์ ในหนังสือฟ้าเมืองไทย และเข้าร่วมพลังการเมืองสมัยเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ปี 2516-2518 จึงร่วมตั้งพรรคพลังใหม่ โดยมี นพ.กระแสร์ ชนะวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค
...
ในช่วงชีวิตหนึ่ง ยังได้ลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในนามพรรคพลังใหม่ ปี 2518 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา ปี 2519 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งปี 2522 ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. เขต 1 จังหวัดนครราชสีมา เป็นคนเดียวของพรรคพลังใหม่ ที่ได้เป็น ส.ส.โคราช โดยหลังจากนั้นยังได้สมัคร ส.ส.อีกหลายครั้งในนามพรรคกิจประชาสังคม พลังธรรม เป็นต้น
ผลงานเพลง มีมากมาย อาทิ รักคุณเข้าแล้ว, คุณจะงอนมากไปแล้ว, ผมต้องวิวาห์เสียที, มนต์รักในฤดูร้อน, เพียงคำเดียว, ลูกกำพร้า, นางอาย, พรพี่, ลืมรัก, สวรรค์มืด, เย้ยฟ้าท้าดิน
ส่วนผลงานเพลงที่ร้องประกอบภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ อาทิ มนต์รักบ้านนา, สุรีรัตน์ล่องหน, สกาวเดือน, พะเนียงรัก, ใจเพชร, แววมยุรา, ผู้ชนะสิบทิศ, กัลปังหา เป็นต้น
...
ครั้งหนึ่ง ตำนานเพลงลูกกรุง สุเทพเคยให้สัมภาษณ์ว่า อยากจะบันทึกกินเนสส์บุ๊ก ว่าเป็นนักร้องที่ร้องเพลงมากที่สุด โดยเจ้าตัวเชื่อว่าได้ร้องเพลงไว้กว่า 5,000 เพลง
ความสำเร็จในด้านงานเพลง ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ ปี 2506 จากเพลง ในโลกแห่งความฝัน และเพลงใจพี่, รางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ ปี 2512 จากเพลงม่านประเพณี, รางวัลเสาอากาศทองคำ ปี 2518 จากเพลง ดาวลอย, รางวัลเสาอากาศทองคำ ปี 2521 จากเพลง เพียงคำเดียว, รางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ ปี 2522 จากเพลง ตัวไกลใจยัง, โล่เพชร ในฐานะเป็นนักร้องอมตะ ของสมาคมหนังสือพิมพ์ข่าว, โล่เกียรติยศ ในฐานะที่ได้ทำหน้าที่ให้แก่สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในการแก้ไขกฎหมายยกเลิกเรื่องการใช้เครื่องดนตรีเกินกว่าสองชิ้นในห้องอาหาร
...
ที่สุดแห่งชีวิต คือ การได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะแห่งชาติ (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี 2533